เคยรู้สึกไหม ทำไมย่ายายถึงรักและเอ็นดูเราอย่างเหลือล้น แต่บางทีกลับไม่แสดงความรู้สึกเอ็นดูกับพ่อแม่เราเท่าไหร่?
นั่นเป็นเพราะผลจากบทบาทที่เปลี่ยนไป เมื่อผู้หญิงเปลี่ยนจากหน้าที่ของแม่ซึ่งแบกรับทั้งความเครียด เหนื่อยล้า และกดดันหลายอย่าง มาเป็นคุณย่าคุณยายที่ไม่ต้องแบกรับหน้าที่นั้นแล้ว การทำงานของสมองและจิตใจถึงผ่อนคลายกว่า
หลายคนจึงรักคุณย่าคุณยายของตนเองมาก เพราะขออะไรก็มักจะได้ง่ายกว่าขอพ่อแม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ย่ายายมักสปอยล์หลาน นั่นเอง
จากการศึกษาเกี่ยวกับระบบประสาท มหาวิทยาลัยเอมอรี (Emory University) ได้ทำการทดลองนำคุณย่าคุณยาย 50 คน ที่มีหลานอายุระหว่าง 3-12 ปี มาทำการทดสอบ MRI เพื่อวัดปฏิกิริยาของคลื่นสมอง
โดยการทดลองจะนำภาพถ่ายของหลาน เด็กที่ไม่รู้จัก ลูกๆ ที่โตแล้วของพวกเขา และผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จัก มาให้เหล่าย่ายายดู แล้วให้ทำแบบสอบถามเพื่อวัดระดับการมีส่วนร่วมและความผูกพั
ผลปรากฏว่าสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกจากประสาทสัมผัส (Somatosensory Cortex) มีปฏิกิริยาต่อภาพถ่ายของหลาน รวมถึงมีการเชื่อมโยงทางความรู้สึกมากกว่าภาพของคนอื่นๆ รวมถึงลูกๆ ของตัวเองตอนโต
กล่าวคือ เมื่อคุณยายดูรูปถ่ายของหลาน ถ้าหลานยิ้ม พวกเขาจะสัมผัสได้ถึงความสุขของหลาน หรือหากดูรูปที่หลานกำลังร้องไห้ ก็จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของหลานได้มากกว่า แต่เมื่อดูรูปถ่ายลูกของตนเอง ผลของคลื่นสมองกลับไม่ได้แสดงในระดับเดียวกัน
จากการทดลองอาจชี้ให้เห็นว่า ในวันที่เป็นย่ายายนั้นพวกเขาได้มีประสบการณ์ชีวิต มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่มากขึ้น ผ่านร้อยพันเรื่องราว ทำให้จัดการกับความเครียดหรือปัญหาที่ต้องเจอได้ดีขึ้น จึงทำให้สมองไม่เครียด ส่งผลให้สามารถรับรู้และเชื่อมโยงความรู้สึกของหลานได้ดีกว่าตอนเลี้ยงลูกของตัวเอง
อ้างอิง
- Brain scans show grandmas really do feel more affection toward their grandkids than their adult children, scientists say
https://bit.ly/44Oz4rC