พลังงานแสงอาทิตย์ = พลังงานแห่งอนาคต เมื่อต้นทุนลดลง 10 เท่า และเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าราคาถูกที่สุดในโลก
Select Paragraph To Read
- ทำไม 'ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์' ราคาถูก ?
- แนวโน้มการพัฒนาพลังแสงอาทิตย์
- เหตุที่พลังงานแสงอาทิตย์ (และพลังงานลม) ถูกกว่าพลังงานจากถ่านหิน
- การปฎิวัติเงียบในด้านการใช้พลังงาน
- ปัญหาสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์คือพลังงาน "ไม่ต่อเนื่อง"
ทศวรรษ 2020 อาจจะเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก เพราะปีแรกก็เริ่มมาด้วยโรคระบาดระดับโลกที่ทำให้ทั้งการท่องเที่ยว การค้า จนถึงเศรษฐกิจปั่นป่วนไปทั่วโลก
อย่างไรก็ดี “แนวโน้ม” ที่ค่อนข้างชัดมากๆ ของทศวรรษนี้ก็คงยังไม่เปลี่ยน และแนวโน้มที่ว่าก็คือ ‘พลังงานสะอาด’ หรือให้ตรงกว่านั้นก็คือการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
บางคนก็อาจยักไหล่ และคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไร ก็เป็นแค่ “กระแส” แต่สิ่งที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ตอนนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยจากพลังแสงอาทิตย์ลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 10 จากปี 2010 ซึ่งหมายความว่า ตอนนี้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานที่ราคาถูกที่สุดของมนุษยชาติเรียบร้อยแล้ว
ใช่ครับ ตอนนี้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าแชมป์เก่าของ “พลังงานราคาถูก” อย่าง ‘ไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน’ ที่มนุษย์ใช้มาตั้งแต่ยุคแรกของการผลิตไฟฟ้าแล้ว
และนี่เป็นเหตุผลที่หลายๆ ประเทศสร้างโรงงานไฟฟ้าใหม่ๆ เป็นพลังแสงอาทิตย์กันหมด
พวกเขาไม่ได้รักษ์โลกหรือต้านโลกร้อนอะไรหรอก แต่ทำด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจล้วนๆ ก็คือ “ราคาถูก” นั่นเอง
ทำไม 'ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์' ราคาถูก ?
ต้องเข้าใจก่อนว่า มนุษย์สามารถเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ตั้งแต่ช่วง 1950’s แล้ว แต่ช่วงแรกๆ ต้นทุนการผลิตพลังงานต่อหน่วยสูงมาก จึงไม่มีใครใช้
ครั้งแรกๆ ที่มนุษย์ใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คือการใช้กับดาวเทียม เพราะบนอวกาศส่งไฟฟ้าไปไม่ได้ และดาวเทียมดวงแรกที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์คือ Vanguard I ในปี 1958
การลงทุนพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์กับเทคโนโลยีอวกาศนั้นค่อยๆ ทำให้มนุษย์เห็นประโยชน์ของพลังงานแสงอาทิตย์ และเมื่อมนุษย์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นๆ ก็มีการลงทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ราคาพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลง จนในที่สุดพลังงานนี้ก็ลงจากอวกาศสู่พื้นโลก โดยเริ่มลงหลักในพื้นที่กันดารไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วในที่สุด
ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ต้นทุนการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันมีแค่ 1 ใน 200 จากช่วงยุค 1970’s
ดังนั้น มนุษย์ยิ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากเท่าไร ก็ยิ่งกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยี และต้นทุนลดลงเท่านั้น
แต่ทำไม “จุดเปลี่ยน” คือช่วง 10 ปีที่ผ่านมา?
แนวโน้มการพัฒนาพลังแสงอาทิตย์
ถ้าดูพัฒนาการพลังแสงอาทิตย์ ก็จะไม่เห็นว่าไม่ประหลาดอะไรเลย ต้นทุนมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ แบบต่อเนื่อง และคาดเดาได้มาหลายสิบปีแล้ว
แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง ที่เราจะพบว่ากระแสพลังงานแสงอาทิตย์นั้นฮ็อตฮิตสุดๆ แบบเอะอะอะไรก็พลังงานแสงอาทิตย์ และหลายๆ ประเทศก็มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เต็มไปหมด
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในปี 2019 โรงไฟฟ้าที่สร้างใหม่ 72% เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด และส่วนใหญ่ก็คือ “พลังแสงอาทิตย์”
ถามว่าเป็นเพราะกระแส “โลกร้อน” ใช่ไหม?
คำตอบคือส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นเพราะราคาที่ถูกจริงๆ และไม่ใช่แค่พลังงานแสงอาทิตย์ แต่พลังงานลมด้วย เพราะพลังงานลม เริ่มถูกกว่าพลังงานถ่านหินมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2010s แล้ว
และถ้าพอจำได้ เราก็จะเห็นว่าช่วงหนึ่งหลายชาติก็จะนิยมมากในการสร้างกังหันลมปั่นไฟฟ้า ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่งจะมาถูกกว่าพลังงานถ่านหินช่วงปลายทศวรรษ 2010s และเนื่องจากอัตราเร่งในการลดของต้นทุนสูงมาก เราน่าจะพอกล่าวได้ว่าตอนนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ น่าจะพอๆ กับพลังงานลมหรือกระทั่งถูกกว่าพลังงานลมเรียบร้อยแล้ว
เหตุที่พลังงานแสงอาทิตย์ (และพลังงานลม) ถูกกว่าพลังงานจากถ่านหิน
เหตุที่พลังแสงอาทิตย์ (และพลังงานลม) ถูกกว่าพลังงานจากถ่านหินก็เพราะ พลังงานพวกนี้ไม่ต้องใช้ “เชื้อเพลิง”
พลังงานถ่านหินนี่ มนุษย์ใช้ได้เต็มประสิทธิภาพการเผาไหม้มานานแบบไม่รู้นานเท่าไรแล้ว เทคโนโลยีการผลิตไปสุดแล้ว มนุษย์ใช้เพิ่มเท่าไร ต้นทุนมันก็ไม่ลด และต้นทุนหลักๆ ของมันก็คือถ่านหินที่เอามาเผานี่แหละ
ดังนั้น 10 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินไม่ลด และก็ไม่ได้ลดมานานแล้ว เพราะไปติดที่ต้นทุนถ่านหิน ซึ่งหากเทียบกับไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ที่แหล่งพลังงาน “ฟรี” ไม่มีใครคิดตังค์ค่าแดด และพลังแสงอาทิตย์นั้นมหาศาลมาก แต่มนุษย์ในอดีตไม่มีเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจริงๆ ประวัติศาสตร์ของพัฒนาการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ก็คือประวัติศาสตร์ของประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของการแปลงแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้านั่นเอง และพัฒนาการนี้ก็มีอย่างต่อเนื่องไม่หยุดจนทุกวันนี้
และนี่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ใครดูกราฟเมื่อ 10-20 ปีที่แล้วก็น่าจะเดาได้ว่า “สักวัน” มันจะเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ถูกกว่าถ่านหินแน่ๆ
และ “สักวัน” ที่ว่า ก็คือทุกวันนี้นี่แหละ
การปฎิวัติเงียบในด้านการใช้พลังงาน
หลายคนอาจจะไม่ระแคะระคายกับปรากฎการณ์นี้ แต่ถ้าเราเคยค้นข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้โซล่าร์เซลล์ทุกวันนี้ เราจะเห็นหลอดไฟที่ติดโซล่าร์เซลล์ราคาไม่กี่ร้อยบาทขายเต็มไปหมด (หาดีๆ อาจเจอไม่ถึงร้อยบาทด้วย) ถ้าเราพอจำได้ เราไม่มีทางจะเจออะไรแบบนี้แน่ๆ เมื่อ 10 ปีก่อน
นี่แหละครับ การ “ปฏิวัติเงียบ” ด้านพลังงานที่เกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัว และตอนนี้เอาจริงๆ ถ้าบ้านใครอยู่กลางทุ่งไม่อยากลากสายไฟ ก็สามารถซื้อระบบโซล่าร์เซลล์มาติด และผลิตไฟฟ้าใช้เองได้สบาย
ทีนี้ หลายคนคงสงสัยว่า ถ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดีขนาดนี้ ทำไมคนไม่เปลี่ยนใช้ให้หมด?
คำตอบคือ ส่วนหนึ่งเพราะว่า ‘เขา’ ลงทุนกับพลังงานอื่นๆ ไปแล้วไงล่ะ ทุนจมไปแล้ว ถ้ามีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินอยู่แล้ว การผลิตไฟฟ้าเพิ่ม ก็ยังถูกกว่าการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นมาใหม่แล้วผลิต แต่ถ้าจะผลิตเพิ่มแบบตั้งโรงงานเพิ่ม ณ ตอนนี้เลย แบบนี้ตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ก็จะมีต้นทุนการผลิตถูกกว่า
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีแค่การตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่ม แต่ไม่มีการ “ปิด” โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ก็เพราะสร้างมาแล้ว ถ้าปิดไป มูลค่าทางเศรษฐกิจจะสูญเปล่าอย่างมหาศาล
อธิบายให้เห็นภาพ
ไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินจะผลิตกระแสไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ต้นทุนประมาณ 3,000 บาท แต่ 3,000 บาทเนี่ย เป็น ‘ต้นทุนส่วนโรงงาน’ ไปประมาณ 60% คือประมาณ 1,800 บาท ส่วนอีก 40% หรืออีก 1,200 บาทคือ ‘ต้นทุนส่วนถ่านหิน’
ดังนั้นในทางปฏิบัติ การผลิตไฟฟ้าพลังถ่านหินในโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว แค่ซื้อถ่านหินมาเผา ต้นทุนมันจะแค่ประมาณ 1,200 บาท ต่อกระแสไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง
ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์และลม เราจะเห็นว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมงเพิ่งลดมาเหลือประมาณ 1,200 บาท สดๆ ร้อนๆ เมื่อปี 2019 หรือพูดอีกแบบ การผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้งระบบ ณ ตอนนี้ ราคาแค่ค่าถ่านหินที่เอามาเผาทำไฟฟ้าแล้ว ไม่รวมโรงงานและเครื่องจักรต่างๆ
พูดง่ายๆ แค่เอาเงินที่ซื้อถ่านหินมาเผาทำไฟฟ้า ก็สามารถเอาไปซื้อระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตพลังงานได้พอๆ กันแล้ว
แต่ทำไมคนยังไม่ทำแบบนั้น? ทำไมคนยังไม่หันหลังให้ถ่านหิน?
ปัญหาสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์คือพลังงาน "ไม่ต่อเนื่อง"
ต้องไม่ลืมว่า “ปัญหา” สำคัญของไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คือพลังงาน “ไม่ต่อเนื่อง” พูดง่ายๆ คือแดดไม่ได้มีทั้งวัน (เว้นแต่จะอยู่แถวขั้วโลก)
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องมีเพิ่มมาในระบบพลังงานแสงอาทิตย์ก็คือแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่จะเก็บพลังงานไฟฟ้าจากตอนกลางวันหรือตอนมีแดดเอาไว้ใช้ในตอนกลางคืนหรือตอนไม่มีแดด พูดอีกแบบก็คือ ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เรียกร้องให้เราต้องมีการเก็บพลังงานไฟฟ้าเอาไว้มากกว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้าในแบบอื่น
และแบตเตอรี่ที่ว่า ถ้าใหญ่มากๆ ราคาไม่ถูก ดังนั้นผลก็คือพลังงานแสงอาทิตย์ ถ้านับแค่การ “ผลิต” ตอนนี้อาจถูกกว่าพลังงานถ่านหินแบบสมบูรณ์แล้วก็จริง แต่ถ้ารวม “ต้นทุนการจัดเก็บ” ด้วย ก็ไม่ได้ถูกกว่าซะทีเดียว
อย่างไรก็ดี แนวโน้มปัจจุบัน ถ้าใครติดตามข่าว ก็คงจะเห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ตอนนี้ต้นทุนผลิตถูกมากแล้ว ก็จะยังถูกลงอีก และบรรดาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ก็กำลังทำให้ราคาแบตเตอรี่ถูกลงเช่นกัน ดังนั้นคนเลยคาดการณ์กันว่าในทศวรรษ 2020 นี้ ไม่มีอะไรจะหยุดพลังงานแสงอาทิตย์ได้แน่ๆ และพลังงานแสงอาทิตย์น่าจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ผลของการที่โลกมุ่งหน้าไปแบบนี้ คนก็แห่กันไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานแสงอาทิตย์ และธุรกิจที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นไฟฟ้า
และคนที่ “รวย” ที่สุดจากกระแสนี้ในปี 2020 ก็หนีไม่พ้น อีลอน มักส์ (Elon Musk) ที่มีทั้งธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในมือ
ดังนั้นก็ไม่แปลกเลยที่ในปีนี้ เขาจะเด้งจากคนรวยอันดับ 30 กว่าๆ ของโลกมาอยู่ใน Top 5 เรียบร้อยแล้วภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี
อ้างอิง:
- World Economic Forum. Explained: why renewables became so cheap so fast. http://bit.ly/3mDzBGI