2 Min

งานวิจัยชี้ ‘คนฉลาด’ อาจสู้ ‘คนพูดมาก’ ไม่ได้ ถ้าต้องแข่งกันให้ได้เป็นผู้นำ

2 Min
544 Views
04 Apr 2022

ในยุคปัจจุบัน โลกนี้เต็มไปด้วย ‘ความเห็น’ ผู้คนนั้นดูจะหมกมุ่นกับการพยายามจะแสดงความเห็นและมีความเห็นโดยไม่ได้สนใจ ‘คุณภาพความเห็นของตัวเอง’ เท่าไรด้วยซ้ำ

แน่นอน ด้านหนึ่งเราก็อาจมองว่าเพราะเทคโนโลยีมันเปลี่ยนก็ได้ แต่อีกด้านถ้าลักษณะอะไรมันปรากฏมากในสังคม สิ่งที่เราต้องสงสัยก่อนก็คือ สังคมนั้นน่าจะ ‘ให้รางวัล’ หรือให้คุณค่ากับคนที่มีลักษณะแบบที่ว่า

ในที่นี้ เราจะเล่าถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Leadership Quarterly ให้ฟัง

งานวิจัยเขาเอานักศึกษามาประมาณ 200 กว่าคนมาเล่นเกม ซึ่งในเกมมันต้องมีผู้นำ ทีนี้เขาก็ให้นักศึกษามาลอง ‘เลือกผู้นำ’ กันผ่านการคุยกันว่าใครจะเป็นผู้นำดี โดยเขาก็จะมีการเก็บโปรไฟล์นักศึกษาต่างๆ ที่เข้าร่วมในกระบวนการ (ทั้งนี้ตัวรายละเอียดเกมไม่ต้องไปสนมันก็ได้ เพราะไม่ใช่ประเด็น)

สิ่งที่เขาพบก็คือนักศึกษาที่ได้รับเลือกเป็นผู้นำนั้น หลักๆ ไม่ใช่คนที่ ‘ฉลาดที่สุด’ (ถ้าวัดไอคิว) และไม่ใช่คนที่มีความเห็นที่เฉียบแหลมมีเอกลักษณ์ที่สุดด้วย แต่เป็นคนที่ ‘พูดมากที่สุด’ หรือให้ตรงคือ เป็นคนที่แย่งคนอื่นพูดได้มากที่สุด

เริ่มเห็นความคล้ายกับสังคมปัจจุบันที่คนแข่งกันแสดงความเห็นโดยไม่ได้ใส่ใจคุณภาพหรือยังครับ?

แล้วทำไมถึงเป็นแบบนี้? งานวิจัยไม่ได้บอกชัด นี่เป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์ต่อ แต่ประเด็นก็คือ งานวิจัยมันก็ดูจะตอกย้ำว่า พวกคนฉลาดๆ ที่ไม่ค่อยยอมแสดงความเห็นน่ะ ไม่ค่อยได้เป็นผู้นำหรอก แต่ที่มันชี้มากกว่านั้นก็คือ แม้แต่คนฉลาดที่นานๆ จะแสดงความเห็นคมๆ แบบคมจัดๆ ที ทำนอง ‘พูดน้อย ต่อยหนัก’ ก็ไม่ใช่คนที่จะได้รับเลือกเป็นผู้นำเหมือนกัน

เพราะการ ‘พูดมาก’ นี่แหละที่ชนะทุกสิ่งในการที่คนจะขึ้นเป็นผู้นำได้

แต่นึกๆ ดู อะไรแบบนี้ก็มีเหตุผลอยู่

เพราะคน ‘พูดมาก’ ถ้าไม่มองในแง่ลบ ก็คือคนที่สื่อสารมาก และองค์กรในยุคปัจจุบัน อะไรพวกนี้จำเป็นมาก เพราะผู้นำนั้นกำข้อมูลและการตัดสินใจเยอะ การสื่อสารลงไปในทุกระดับชั้นองค์กรจึงจำเป็น แต่คนที่พูดมากพูดซ้ำๆ นั้นก็ดูจะนำมาสู่ปัญหาการสื่อสารมากกว่าพวกคนเงียบๆ ชอบละอะไรไว้ในฐานที่เข้าใจ

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ การทดลองนี้เป็นการทดลองเกี่ยวกับการ ‘เลือกผู้นำ’ เท่านั้น มันไม่ได้ประเมินว่าผู้นำที่เลือกมาคนจะชอบไหม เพราะในทางปฏิบัติ ในโลกที่คนพูดกันมากๆ แบบทุกวันนี้ ผู้นำแบบที่คนชอบ ก็น่าจะเป็นคนที่มีลักษณะเป็น ‘นักฟังที่ดี’ มากกว่าที่จะ ‘พูดมาก’ ซึ่งความย้อนแย้งก็คือ คนที่เงียบๆ เป็นนักฟังที่ดี เขาก็ไม่ค่อยได้รับคัดเลือกเป็นผู้นำนักหรอกดังที่งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็น

อ้างอิง