2 Min

ใช้ชีวิตให้ช้าลงแล้วจะมีความสุขขึ้น

2 Min
1386 Views
14 Jan 2022

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในทุกวันนี้ สังคมมนุษย์ยกย่องเชิดชูความรวดเร็วมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเดินทาง การกิน การทำกิจกรรมและอื่น ๆ ในชีวิตของเรา จะทำอะไรก็ต้องเร็ว ต้องทันทีทันใด เอาไว้ก่อน ถ้าจะให้พูดอย่างง่ายก็คือ ในสังคมมนุษย์ที่เราคุ้นชินยิ่งเร็วยิ่งดีกันมาโดยตลอด

แต่การใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบมันดีจริงไหม? การที่เราวิ่งตามเข็มของนาฬิกาอยู่ในทุกขณะมันดีจริงหรือเปล่า? เราต้องสูญเสียหรือได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากการเร่งรีบอยู่เสมอในทุกวันนี้?

ในงานทดลองหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการช่วยเหลือ พบว่ากลุ่มคนที่อยู่ในสภาวะเร่งรีบมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือน้อยกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะเร่งรีบ

โดยทีมนักวิจัยสรุปผลการทดลองเอาไว้ว่า ความลังเลที่จะช่วยเหลือหรือไม่ช่วยเหลือคนแปลกหน้า เชื่อมโยงกับความรู้สึกกังวลว่าจะไปทันเวลาที่นัดเอาไว้หรือไม่ อาจกล่าวได้ว่าความเร่งรีบมีส่วนทำให้เรามีความเข้าอกเข้าใจหรือการเอาใจใส่เพื่อนมนุษย์น้อยลง

นอกจากนี้แล้วความเร่งรีบยังสามารถส่งผลเสียต่ออารมณ์และสุขภาพจิต เช่น ทำให้เราโมโหง่ายขึ้น เครียดและกังวลบ่อยขึ้น ต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ทำให้เรานอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย ปวดหัว และภูมิคุ้มกันลดต่ำลง

ยิ่งเราเร่งรีบในทุกจังหวะของชีวิต เราก็จะยิ่งสับสนและมีแนวโน้มที่จะมองข้ามรายละเอียดสำคัญอะไรบางอย่างไป พอเราให้ความสำคัญกับความรีบร้อน เราก็จะคุ้นชินกับการมีความรีบร้อนเป็นแรงผลักในการทำงานหรือทำสิ่งต่าง ๆ เป็นเหมือนไฟที่ไม่มีวันถูกดับและจะคุกรุ่นอยู่ภายในใจเสมอ

แล้วถ้าความเร่งรีบส่งผลเสียต่อเราขนาดนี้ จะต้องทำอย่างไรเราถึงจะช้าลงได้?

เราอาจจะลองใช้เวลาและให้ความสำคัญกับการทำอะไรบางอย่างในชีวิตเราให้มากขึ้น เช่น ลองมองดูสภาพความเป็นไปของคนอื่น ๆ ในสังคม ผ่านการมองตึกรามบ้านช่อง ผู้คน หรือสภาพแวดล้อม และพยายามทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้นระหว่างการเดินทางไปทำงาน มากกว่าการมากังวลว่าอีกเมื่อไหร่จะถึงที่ทำงาน

เราไม่ได้กำลังบอกว่าคุณไม่ต้องจริงจังหรือให้ทำอะไรอย่างเอื่อยเฉื่อยการใช้ชีวิตคงไม่ได้มีสูตรหรือแบบฉบับที่ตายตัว

การใช้ชีวิตช้าลงไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำทุกอย่างช้าลง แต่หมายความว่าเราควรจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้เป็นระบบมากขึ้น รู้จักใส่ใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น และรู้ตัวว่าสุขภาพกายและใจของเราควรจะเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด

อ้างอิง