การได้ใช้อุ้งมือ ‘ตบ’ อะไรสักอย่างถือเป็นพฤติกรรมทางความสุขอย่างหนึ่งแบบแมวๆที่ทาสทั้งหลายคงพบเห็นบ่อยในชีวิตประจำวันแม้บางทีจะไม่เข้าใจว่าจะเดินไปตบของที่บรรจงวางไว้ดีๆให้หล่นทำไม
เรื่องนี้มีคำอธิบายอยู่ว่า การตบคือการศึกษาสไตล์แมวๆ โดยเฉพาะเมื่อเจออะไรแปลกใหม่ ข้าวของเครื่องใช้ใหม่ๆ แมวจะใช้อุ้งมือสัมผัสเพื่อรับรู้ว่าเจ้าสิ่งของหน้าตาแปลกนี้คืออะไร เป็นสัมพันธ์ทางนิสัยอยากรู้อยากเห็นของแมวและสัญชาตญาณดั้งเดิมที่ไม่อาจสลัดหลุดมาช้านาน
บริเวณอุ้งเท้าของแมวนั้นเปรียบได้กับเรดาร์ตรวจจับวัตถุ การใช้อุ้งเท้าแตะหรือตบจะช่วยให้แมวสามารถแยกแยะได้ว่าวัตถุชิ้นนั้นคืออะไร ซึ่งหลักๆ แล้ว แมวก็แค่อยากรู้ว่าไอ้นี่มันมีชีวิตหรือมันเป็นภัยคุกคามไหมเพียงเท่านั้น
แต่หากว่ากันต่อในทางพฤติกรรมที่ว่าอยู่ดีๆ ก็เดินมาตบของที่วางไว้ให้ตกทำไม เรื่องนี้มีคำอธิบายว่ามันหมายถึงการสื่อสารระหว่างเจ้านายกับทาส ซึ่งน้องกำลังบอกว่า ทาสสนใจเราหน่อย หันมาทางนี้หน่อยนุด เล่นกับเค้าหน่อย หรือไม่ก็อาจจะ… เทอาหารได้แล้วโว้ย!
ที่อธิบายได้เช่นนี้เป็นเพราะแมวส่วนใหญ่เรียนรู้ว่า ถ้าเขาทำอะไรสักอย่างตก ทาสก็จะหันมาหา หรือเพ่งความสนใจมาที่ตัวเขานั่นเอง
แต่ก็มีเรื่องที่น่าสนใจอีกว่า ไอ้นิสัยช่างตบกลับทำให้เจ้านายเรามีโอกาสรอดจากการถูกงูกัดในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงแสนรักอีกชนิดของคนอย่างสุนัข
ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่อง โอกาสมีชีวิตรอดจากการถูกงูกัดของหมาและแมว พบว่า แมวมีโอกาสรอดชีวิตสูงถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสุนัขมีโอกาสรอดแค่ 31 เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่าเท่าตัวทีเดียว
ในประเด็นนี้ขยายความได้ว่าระหว่างแมวกับหมาจะมีวิธีเข้าหาสัตว์ชนิดอื่นๆหรือสิ่งของด้วยวิธีที่แตกต่างกัน
ถ้าแมวเห็นอะไรแปลกก็จะเข้าไปตบไว้ก่อนแต่เพื่อนหมาของเรากลับเข้าไปดมหรือเวลาโจมตีศัตรูก็จะกระโจนเข้าไปกัดซึ่งนั่นก็ทำให้จมูกซึ่งเป็นจุดรวมเส้นเลือดและเส้นประสาทจำนวนมากและเป็นจุดอ่อนสำคัญของหมาถูกโจมตีกลับได้ง่าย
สำหรับแมว ถ้าเขาเจองูครั้งแรกแล้วเข้าไปตบ ไม่ใช่ว่าเขาห้าว หรือไร้เดียงสา (เห็นอะไรแล้วอยากเข้าไปเล่นด้วย) อย่างที่กล่าวไปว่านั่นคือวิธีเรียนรู้ แต่ก็ยังอธิบายได้อีกว่า เป็นการทำเพื่อเอาชนะความกลัวในสิ่งที่ต้องเผชิญหน้าเป็นครั้งแรก
งานศึกษานี้อ้างอิงข้อมูลหมาแมวที่ได้รับพิษ ‘งูสีน้ำตาลตะวันออก’ สายพันธุ์ที่พิษรุนแรงลำดับต้นๆ ของบรรดางูพิษทั้งหลาย ร่วมกับพิษอีกราวๆ 10 ชนิดที่พบได้ทั่วโลก (เป็นการเอาข้อมูลจากโรงพยาบาลสัตว์มาวิเคราะห์ ไม่ได้เอาน้องไปทดลองให้งูกัดจริงๆ)
แต่ก็ต้องบอกก่อนว่าข้อมูลนี้เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของรายละเอียดทั้งหมด ในเนื้อหาโดยสรุปยังมีคำอธิบายอื่นๆ ถึงปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องประกอบ เช่น เลือดของสุนัขจะเกิดการแข็งตัวไวกว่าเลือดแมว ภาวะเลือดคั่งจึงเกิดไวกว่า รวมถึงอาการขี้ตื่นตกใจของเพื่อนหมาสี่ขาจะ alert กว่าแมวก็ยิ่งทำให้พิษแพร่กระจายเร็วกว่า
นอกจากนี้ ยังมีปริศนาที่ยังหาคำตอบไม่ได้ถึงความเทพแบบแมว ว่าทำไมเซรุ่มแก้พิษถึงเข้ากันได้ดีกับแมว ช่วยให้น้องรอดพ้นการล่าจากงูได้สูงกว่าหมา (แม้หมาได้รับเซรุ่มอย่างทันท่วงทีโอกาสรอดก็ยังต่ำ)
กลับมาว่ากันที่เรื่องการตบ – แม้ว่านิสัยช่างตบของน้องจะเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งหมายถึงอาการผิดปกติได้เหมือนกัน เช่น น้องอาจเครียด ป่วย หรือเป็นกังวลต่ออะไรสักอย่าง อาจมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังจนแมวรำคาญ ดังนั้น หากแมวตบของหรือตบเราแบบที่ไม่เคยทำ ก็ให้วินิจฉัยเผื่อไว้ว่าน้องอาจป่วย
แต่ก็อีกนั่นล่ะ บางครั้งเราก็คงดูไม่ออกหรอกว่าวันนี้แมวตบเพราะเล่นหรือน้องแค่กวน teen
อ้างอิง
- Animal Path. Why Do Cats Slap Things? https://shorturl.asia/C8Wgf
- Science Daily. Why cats have more lives than dogs when it comes to snakebite https://shorturl.asia/K1c42