คุยกับ ‘เต้-บรม พิจารณ์จิตร’ และ ‘Daniel Mitchelle’ ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘SIWILAI RADICAL CLUB’ discotheque & All day dining แห่งใหม่ ในย่านทองหล่อที่สร้างจากพลาสติกเหลือใช้กว่า 5 ตัน

6 Min
1173 Views
03 Feb 2024

ขยะพลาสติกรีไซเคิล, แนวคิดแบบใหม่, สีส้มแบบไทย และระบบเสียงระดับโลกอาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของ ‘SIWILAI RADICAL CLUB’ สถานที่แฮงเอาต์ใหม่ล่าสุดจากแบรนด์ ‘SIWILAI’ ที่ตั้งอยู่ในย่านทองหล่อได้ดีที่สุด คลับแห่งนี้มาพร้อมกับความพิเศษด้วยการเป็นสถานที่ที่มอบประสบการณ์การ       รับประทานอาหารสุดพิเศษตลอดทั้งวัน เข้ากับความเป็นไนต์คลับยามดึกที่ผู้คนสามารถสัมผัสกับวัฒนธรรม ดนตรี และจังหวะที่ไม่เคยหยุดเต้นของทองหล่อได้ในเวลาเดียวกัน

โดย ‘SIWILAI RADICAL CLUB’ แห่งนี้ถือเป็นโซเชียลคลับแห่งที่ 3 ของ ‘SIWILAI’ แบรนด์สัญชาติไทยที่ได้รับการยอบรับในระดับโลกภายใต้การบริหารของ ‘เต้-บรม พิจารณ์จิตร’ ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ได้หยิบยกสไตล์ของไนต์คลับในยุค 70s มาผสานเข้ากับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นแกนหลักของการออกแบบ ผ่านการร่วมงานกับ Space Available Studio สตูดิโอออกแบบจากอินโดนีเซีย ที่ได้นำขยะพลาสติกกว่า 5 ตัน ทั่วประเทศมาเป็นวัสดุทำชิ้นส่วนตกแต่งภายใน

ทั้งยังได้นำ ‘ทองหล่อ’ ในฐานะที่เป็นย่านแห่งชีวิตและศูนย์กลางทางวัฒนธรรมนานาชาติมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง ‘สถานที่’ ที่จะปฏิวัติไลฟ์สไตล์ไดนิงและไนต์ไลฟ์ของกรุงเทพฯ ด้วยการเปิดประสบการณ์สุดพิเศษ ตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึงยามค่ำคืน เรียกได้ว่าครบจบในที่เดียว ผู้คนสามารถดื่มด่ำกับเครื่องดื่มซิกเนเจอร์อย่าง Radical power, Wasted และ Recycled ที่ได้ให้ความสำคัญกับการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการบรรจุ รวมถึงเมนูอาหารหลากหลายเมนูที่หยิบเอาวัตถุดิบและเสน่ห์การปรุงอาหารท้องถิ่น มาตีความและนำเสนอใหม่ ให้กลายเป็นเมนูที่ทั้งสนุกและอร่อยในเวลาเดียวกัน ไปจนถึงดนตรีระดับโลกในช่วงเวลาหลังมื้อเย็นของวันพุธถึงวันเสาร์บนแดนซ์ฟลอร์ สุดตื่นตา ที่มาพร้อมกับระบบเสียงคุณภาพ รังสรรค์โดย NNNN ซาวด์สตูดิโอสัญชาตินอร์เวย์ และ Ojas จากบรูคลินที่จะทำให้คุณดื่มด่ำกับคุณภาพเสียงแบบ Full Range ครบทุกบีตพร้อม Line Up DJ ชื่อดังและหาดูยากในแนวเพลง Disco, Hip Hop และ House ได้ตลอดคืน

และด้วยความพิถีพิถันและแนวคิดที่ซับซ้อนในการออกแบบนี้ BrandThink จึงมาคุยกับ ‘เต้-บรม พิจารณ์จิตร’ เจ้าของแบรนด์ SIWILAI และ Dan Mitchelle หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘Space Available Studio’ ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบทั้งหมด 

‘เต้-บรม พิจารณ์จิตร’ ผู้ก่อตั้ง ‘SIWILAI RADICAL CLUB’ เริ่มบทสนทนากับเราด้วยการแนะนำตัวเองสั้นๆ ว่า ได้เริ่มทำแบรนด์ ‘SIWILAI’ ตั้งแต่ปี 2014 ในฐานะมัลติสโตร์แบรนด์ ก่อนจะเปิดตัวคาเฟ่ในปี 2016 กับโซเชียลคลับที่ชื่อว่า ‘SIWILAI CITY CLUB’ ในปี 2017 ที่ให้บรรยากาศ Rooftop ใจกลางเมือง และ ‘SIWILAI SOUND CLUB’ เป็นแจ๊สแอนด์เรคคอร์ดบาร์ในปี 2020 ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และในปีนี้จึงได้เปิด ‘SIWILAI RADICAL CLUB’ ที่เป็นดิสโกเธคแอนด์ All day dinning เป็นคลับแห่งที่ 3 ภายใต้แบรนด์ SIWILAI โดยมีจุดมุ่งหมายเดิมที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของ Urban culture ในเมืองไทย โดยในครั้งนี้ทางแบรนด์ได้ร่วมมือกับสตูดิโอออกแบบชั้นนำของโลกจากอินโดนีเซียอย่าง ‘Space Available Studio’ และ ‘Sidarta and Sandjaja’ เพื่อสร้างโซเชียลคลับสำหรับชาวกรุง 

คุณเต้กล่าวเสริมว่า ความพิเศษของคลับแห่งนี้คือการได้นำคำว่า ‘Radical Plastics’ มาเป็นธีมหลักในการออกแบบ อีกทั้งยังได้นำตัวตนของพื้นที่ ‘ทองหล่อ’ ที่เปรียบเสมือนเพลย์กราวด์ของวัยรุ่นมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลเชิงบวกต่อพื้นที่ด้วยเช่นกัน “ผมหวังว่าคลับแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่ช่วยกระตุ้นการรับรู้ให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมใน การดูแลสังคม รวมถึงอยากสร้างคอมมูนิตีของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนรักดนตรี กาแฟ แฟชั่น และคนรักสิ่งแวดล้อมไว้ในที่นี้” คุณเต้กล่าว

.

ทำไมถึงเลือกทองหล่อ?

ถ้าสังเกตแล้ว คลับหรือคาเฟ่ภายใต้แบรนด์ SIWILAI มักจะตั้งอยู่ในย่านเพลินจิตและย่านเมืองเก่า แต่สำหรับคลับใหม่แห่งนี้ ผมอยาก  เชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ ด้วยการใช้พื้นที่ในย่าน ‘ทองหล่อ’ เนื่องจากมันสามารถเชื่อมโยงผู้คนหลากหลายกลุ่มเข้าด้วยกันได้ในกลุ่มผู้รักในไลฟ์ สไตล์

 

ทำไมแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมถึงกลายมาเป็นธีมหลักในการออกแบบครั้งนี้ 

ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเติบโต เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอในทุกวัน จึงอยากเป็นสื่อกลางการเริ่มต้น ทั้งในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถสร้าง ‘อิมแพค’ ที่ดีต่อสังคมได้ อย่างการสร้างความตระหนักรู้ผ่านการท่องเที่ยว แล้วอีกอย่างคือเราเห็นว่าในเมืองไทยค่อนข้างจะมีขยะเยอะโดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ในปัจจุบัน อาจจะด้วยวิถีชีวิตหรืออะไรก็แล้วแต่ เราใช้พลาสติกมากเกินไป SIWILAI เลยอยากใช้คลับนี้เป็นเครื่องมือในการสะท้อนแนวทางการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ว่าสามารถกำจัดและนำมันไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้ นี่คือความตั้งใจของเรา

นอกจากแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว มิติด้านวัฒนธรรมยังถูกนำมาเป็นโจทย์หลักของการออกแบบด้วย ช่วยอธิบายได้ไหมว่าเพราะเหตุใด

เราไม่ได้อยากให้ความเป็นไทยเป็นเพียงสิ่งที่ถูกบอกเล่าแค่เฉพาะกับคนในพื้นที่ เราจึงใช้แพลตฟอร์มของเราเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนสิ่งนี้สู่ระดับสากล ซึ่งเป็นตัวตนของแบรนด์ตั้งแต่แรกเริ่มอยู่แล้ว ในครั้งนี้เราเลือก ‘สีส้มดั้งเดิม’ เป็นเอกลักษณ์ของคลับแห่งนี้ 

ที่เราร่วมมือด้วยนอกเหนือจาก Space Available Studio ก็มี Sidarta and Sandjaja และ MORE ผู้ผลิตวัสดุที่ยั่งยืนชั้นนำของประเทศไทย ที่ร่วมมือกันนำคอนเซ็ปต์ที่แบรนด์คาดหวังไว้ทำให้ออกมาเป็นจริงได้

อะไรคือเสน่ห์และความพิเศษที่ทำให้ ‘SIWILAI RADICAL CLUB’ แตกต่างจากคลับอื่นๆ ในย่านทองหล่อ

ผมคิดว่าหนึ่งเลยคือ จุดยืนของเรา ที่ต้องการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและเข้าถึงได้ง่าย สองคือไอเดียของการสร้างสรรค์พื้นที่ต่างๆ ที่เราพิถีพิถันตั้งแต่ระบบเสียง เครื่องดื่ม เมนูอาหาร รวมถึงคุณค่าที่เรายึดถือ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้คนที่มาที่นี่ได้รับประสบการณ์ที่ดี และสามารถได้รับแรงบันดาลใจกลับไปสร้างอิมแพคให้เกิดขึ้นในชีวิตของตนเอง เช่น การปรัปไลฟ์สไตล์เพื่อโลกที่ยั่งยืนขึ้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถส่งคุณค่าเหล่านี้ผ่าน SIWILAI RADICAL CLUB 

หลังจากคุยกันคุณเต้จบแล้ว เราก็เริ่มบทสนทนากับ ‘แดน มิตเชลล์’ (Dan Mitchelle) ผู้ก่อตั้ง ‘Space Available Studio’ ทันที โดยแดนเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวสั้นๆ ว่าตนเคยทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของโรงแรม ‘Potato Head Bali’ มาหลายปี ก่อนที่จะหันมาทำสตูดิโอของตนเองอย่าง Space Available ด้วยแนวคิดที่ต้องการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องขยะ และต้องการเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับธรรมชาติผ่านงานออกแบบต่างๆ

อะไรคือแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบ ‘SIWILAI RADICAL CLUB’

ในแรกเริ่มเราได้รับโจทย์จากทาง SIWILAI ว่าต้องการดีไซน์บางอย่างที่สร้างความแตกต่างให้กับพื้นที่อย่างสิ้นเชิง ด้วยการสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ในทองหล่อ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างผลในเชิงบวกต่อพื้นที่ ผมจึงออกแบบด้วยการหยิบเอาดิสโกเธคในยุค 70s มาผสานกับวิสัยทัศน์แห่งอนาคต ด้วยการใช้วัสดุจากแนวทางการรีไซเคิลที่เรียกว่า ‘Radical Plastics’ ของ ‘Space Available’ โดยใช้ขยะจากอุตสาหกรรมพลาสติกในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ มากกว่า 5 ตัน มาบีบอัดจนกลายมาเป็นแผ่นตกแต่งผนังสีส้มที่ให้กลิ่นอายแบบไทยๆ มาประดับโครงสร้างทั้งภายนอกและภายในอาคาร 

นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว งานสถาปัตยกรรมทั้งหมดยังถูกออกแบบด้วยแนวคิด ‘เรียบง่ายแต่ทรงพลัง’ สำหรับคนที่เดินผ่านไปมา เราจึงนำสีส้มแบบไทยดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมในอดีตกลับมาใช้อีกครั้งในพื้นที่ส่วน ต่างๆ โดยปรับให้เข้ากับโครงสร้างที่ทันสมัยเพื่อให้เป็นคอมมูนิตีสำหรับคนรุ่นใหม่ อีกอย่างก็เพราะ ‘ทองหล่อ’ เป็นย่านที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เราตกแต่งทั้งโซนเอาต์ดอร์และอินดอร์ ให้ออกมาดูคอนทราสต์กัน เพื่อที่จะกำหนดคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดอารมณ์และประสบการณ์ที่แตกต่าง กันออกไป 

อย่างการใช้พลาสติกสีส้มที่เป็นวัสดุสังเคราะห์เป็นจุดเด่นในโซนคลับ มีแดนซ์ฟลอร์ที่เปิดโล่ง ในขณะที่โซน ‘Dining room’ กลับใช้ผนังบุที่ทำจากวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ เพื่อทำให้ห้องอาหารดูโล่งสบาย นอกจากนี้การใช้ ‘สีส้มแบบไทยดั้งเดิม’ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนถึงความมีชีวิตชีวาของคนรุ่นใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับวัฒนธรรม และโลกโมเดิร์นได้ ด้วยการใช้ไม้มาออกแบบให้ดูทันสมัยมากขึ้น ส่วนสาเหตุที่ใช้สีนี้ เพราะผมมองว่าเป็นสีที่มีชีวิตชีวา ทรงพลัง และตรงกับตัวตนของ ‘SIWILAI’ ที่ต้องการนำวัฒนธรรมไทยมาใช้ในบริบทที่ทันสมัย ทั้งยังเป็นการยากที่จะมองไม่เห็นสีนี้จากท้องถนนอีกด้วยครับ 

การใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นจุดเด่นของโครงการ คุณคิดว่าอะไรคือความท้าทายของการใช้แนวคิดนี้ในการออกแบบ

โดยปกติ ‘Space Available Studio’ ของเรามีโปรเจกต์ทำการรีไซเคิลส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียและสหราชอาณาจักรอยู่แล้ว โดยมุ่งเน้นไปที่การรีไซเคิลจากขยะในท้องถิ่นจริงๆ ซึ่งความท้าทายก็คือการนำของเหลือใช้มาทำเป็นวัสดุนั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและมีความท้าทาย เพราะมันง่ายต่อการไม่เข้ากับสี พื้นผิว และโทนหลักของสิ่งปลูกสร้าง แต่ทีมงานของเราก็ทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยมในแง่ของการดำเนินการ และยังมีความท้าทายมากมายในการติดตั้ง เนื่องจากเป็นวัสดุใหม่ที่ไม่ค่อยมีใครมีประสบการณ์กับมัน ดังนั้นจึงมีการลองผิดลองถูกกับการบิดเบี้ยวและการแตกร้าวของพลาสติกเมื่อทำการติดตั้ง แต่สุดท้ายเราก็มีความสุขกันมาก

เราเชื่อว่าการออกแบบนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาและการแลกเปลี่ยนองค์ ความรู้ เป็นผู้นำโครงการเพื่อเป็นตัวเร่งให้เกิดการขยายความหมุนเวียนในกรุงเทพฯ เราเชื่อว่าอนาคตเป็นแบบวงกลม และ SIWILAI เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าขยะเป็นวัสดุการออกแบบที่ยกระดับและไม่ใช่สิ่งที่ เราควรทิ้งไป