3 Min

‘เปรียบกายร้อนดั่งเพลิง’ รู้จัก ‘ราชินีพันท์วาร์’ วีรสตรีในตำนานพม่า แรงบันดาลใจของชุดประจำชาติ Miss Grand Myanmar 2024

3 Min
258 Views
21 Oct 2024

เป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่เวทีประกวดนางงามระดับโลกสัญชาติไทยอย่าง Miss Grand International กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด อย่างเมื่อวานที่ผ่านมา ทางกองมิสแกรนด์ก็เพิ่งจัดประกวดรอบชุดประจำชาติไป โดยในรอบนี้ก็มีสาว ๆ จากหลายประเทศที่แจ้งเกิดและเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง

หนึ่งในนั้นคือ ‘แต ซู เยี่ยน’ (Thae Su Nyein) สาวงามจากประเทศเมียนมาร์ที่มาในชุด ‘Sitman Winchi Vinoe Akari’ ซึ่งประกอบด้วยพร็อพแบบจัดหนักจัดเต็ม อย่างรถม้าออกศึกสไตล์พม่าหนักกว่า 200 กิโลกรัม จนทำให้ไม่สามารถนำขึ้นโชว์บนเวทีได้ กระนั้นการปรากฏตัวของมิสแกรนด์เมียนมาร์ในครั้งนี้ก็ได้สร้างกระแสมากมาย ซึ่งหนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นคือ ชุดนี้คืออะไร? เนื่องจากที่ผ่านมา สาวงามจากประเทศนี้มักจะปรากฏตัวในชุดลองจี ซึ่งเป็นชุดประจำชาติเมียนมาร์ หรือไม่ก็ชุดระบำหน้ากากที่เป็นศิลปะการแสดงของประเทศ

วันนี้ BrandThink จึงอยากพาทุกคนไปหาคำตอบว่าชุดสุดแปลกของเมียนมาร์ในปีนี้มีที่มาจากอะไร

ตามข้อมูลที่ให้ไว้ในเพจ Miss Grand International ชุดประจำชาติเมียนมาร์ดังกล่าวมีแรงบันดาลใจมาจากวีรสตรีคนสำคัญในตำนานเมียนมาร์ อย่าง ‘ราชินีพันท์วาร์’ (ပန်ထွာ) ซึ่งมีเรื่องราวต้นกำเนิดจากสมัยที่กลุ่มนครรัฐปยูของพม่ากำลังรุ่งเรือง โดยนครรัฐที่ว่านี้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในพม่าตอนบนราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลถึงช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 11 โดยเป็นกลุ่มนครรัฐที่รับวัฒนธรรมอินเดียมาผสานกับวัฒนธรรมตนเอง ก่อนจะส่งต่อให้อาณาจักรพุกาม ซึ่งถือเป็นอาณาจักรแรกของพม่าอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว มีเมืองสองเมืองที่ค่อนข้างจะไม่กินเส้นกัน นั่นก็คือเมือง ‘ศรีเกษตร’ (သရေခေတ္တရာ ပြည်) ที่เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมปยู กับเมือง ‘เบกธานี’ (ဗိဿနိုး) ที่เริ่มแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้อีกฝ่ายจ้องจะทำลายให้ได้ ทว่าไม่สำเร็จ เพราะมีราชินีที่เก่งกาจด้านการรบ โดยเฉพาะการใช้ธนู แถมเชี่ยวชาญด้านการใช้เวทมนตร์นามว่า ‘พันท์วาร์’ คอยปกครองอยู่

ตามตำนานระบุว่าพระนางมีพ่อเป็นกษัตริย์ และมีแม่เป็นนางไม้ที่สืบเชื้อสายมาจากกรุงลงกาของทศกัณฐ์ แต่บางตำนานก็เล่าว่าในอดีตชาติพระนางเคยเกิดเป็นน้องสาวของพระนารายณ์ ทำให้มีบาเรียศักดิ์สิทธิ์ปกป้องอยู่เต็มไปหมด แต่มากไปกว่านั้น พระนางยังมีของวิเศษชิ้นหนึ่ง อย่างกลองที่ได้รับจากพระอินทร์ชื่อว่า ‘อตูลา ซิดอว์’ ซึ่งไม่ว่าจะตีเมื่อใด กระแสน้ำแถวนั้นก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถเข้าท่วมกองทัพของฝ่ายข้าศึกได้ นี่ทำให้ไม่มีใครสามารถตีเมืองเบกธานีได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ‘กษัตริย์ทุตตะปอง’ แห่งเมืองศรีเกษตร ปิ๊งไอเดียทำลายกลองวิเศษนี้ ด้วยการสั่งให้ทหารปลอมตัวเป็นพระ เข้าไปที่เมืองเบกธานี พระนางพันท์วาร์ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็นิมนต์พระภิกษุกลุ่มนี้ให้จำวัดในวัง เมื่อสบโอกาส พระปลอมก็เข้าทำลายกลองจนพัง ทำให้ราชินีไม่มีของวิเศษปกป้องเมือง จนเมืองถูกตีแตกในที่สุด

หลังจากนี้ ตามตำนานเล่าว่า พระนางถูกคุมตัวไปที่เมืองศรีเกษตร และถูกบังคับให้เป็นมเหสีของพระเจ้าทุตตะปองโดยไม่เต็มใจ แต่พระนางยอมเพื่อหาจังหวะสังหารศัตรู และเมื่อวันนั้นมาถึง พระนางทำให้พระสวามีตายใจ ก่อนจะมอบผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งให้พระเจ้าทุตตะปอง โดยผ้าผืนนี้จริง ๆ คือชายผ้าซิ่น ทำให้เมื่อพระเจ้าทุตตะปองนำไปเช็ดหน้า คาถาอาคมที่คุ้มครองพระองค์ก็เสื่อมสลาย

ในที่สุด ขณะที่พระเจ้าทุตตะปองเสด็จทางน้ำ พระองค์เจอพญานาคเกรี้ยวกราด แต่ไม่มีคาถาอาคมปกป้อง พระองค์จึงถูกพญานาคเขมือบจนสิ้นพระชนม์ ปิดฉากกษัตริย์ศรีเกษตรที่ตีเมืองเบกธานีแตก

หลังจากพระนางพันท์วาร์แก้แค้นสำเร็จ ชีวิตของพระนางไม่ได้สงบสุข บรรดามเหสีของพระเจ้าทุตตะปองรู้แผนของพระนาง และแก้แค้นด้วยการทรมานพระนาง พระนางจึงเลือกจบชีวิตตนเองเพื่อปกป้องศักดิ์ศรี และสาปแช่งให้แผ่นดินและผู้กระทำกับพระนางไม่เจริญรุ่งเรือง จนกว่าดวงวิญญาณของพระนางจะไปเกิดใหม่

หลังจากที่พระนางเสียชีวิต เรื่องราวของเธอถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ในฐานะราชินี วีรสตรี และเทพเจ้าองค์สำคัญในวัฒนธรรมเมียนมาร์ จนกลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับชุดประจำชาติของ Miss Grand Myanmar ปีนี้

แม้เรื่องราวของพระนางจะสำคัญ แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากนักประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีตำนานและอภินิหารเกินกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะทำได้ แต่เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าครั้งหนึ่งในดินแดนอุษาคเนย์ ผู้หญิงสามารถดำรงตำแหน่งสูงสุด และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

อ้างอิง