รู้จัก SirPlus ซูเปอร์มาเก็ต “อาหารใกล้หมดอายุ” ไอเดียลดของเสียจากสตาร์ตอัปเยอรมัน
Select Paragraph To Read
- SirPlus สตาร์ตอัปผู้ขายอาหารใกล้หมดอายุ
- ของเก่ามีเยอะจนถึงขั้นแจก
ตามปกติ เวลาเราจะเลือกซื้อหาอาหาร ถ้าไม่หยิบของใหม่ ไร้ตำหนิ ก็ต้องเลือกแบบที่เก็บไว้ได้นานๆ แล้วก็มองข้ามพวก “ของใกล้หมดอายุ” ไปเลย
เช่นเดียวกับซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนมากที่มักเอาเรื่อง “ความสด” มาเป็นจุดขาย

| livekindly.co
แต่ในมุมกลับกัน ถ้ามีใครสักคนหันมาเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายแต่ของใกล้หมดอายุ หรือหมดอายุไปแล้วล่ะ จะมีใครกล้าซื้อไหม?
แต่พูดก็พูดเถอะ เรื่องทำนองสุดโต่งแบบนี้ มีอยู่จริง และกำลังเป็นที่นิยมอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งยังก่อประโยชน์ให้กับสังคม และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปในคราวเดียวกัน

ห้าง SirPlus | SirPlus
SirPlus สตาร์ตอัปผู้ขายอาหารใกล้หมดอายุ
ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน มีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่เหมือนใครชื่อ SirPlus – ที่นี่จะเน้นจำหน่ายสินค้าที่ใกล้หมดอายุ มีตำหนิ ติดฉลากเบี้ยว หรือไม่ก็ของที่หมดอายุไปแล้ว โดยมีส่วนลดสูงสุดถึง 80%
แนวคิดแรกเริ่มของ SirPlus ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ เกิดจากการเห็นปัญหาอาหารเหลือทิ้งโดยไม่ได้ใช้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลทางการตลาดที่ไม่เกี่ยวกับคุณภาพอาหาร เช่น ติดฉลากผิดด้าน กล่องมีสภาพบุบเบี้ยวเพราะการขนส่ง สภาพสินค้าที่ดูไม่สวยสด
ซึ่งเป็นเหตุให้มีอาหารจำนวนมากถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย และก็ยิ่งทวีปริมาณมากขึ้นอีก เมื่อบวกรวมเข้ากับอาหารที่ถูกทิ้งเพราะใกล้วันหมดอายุ
ทั้งนี้ ทั่วโลกมีอาหารเกือบหนึ่งในสามที่ถูกทิ้งเพราะไม่ได้คุณภาพประมาณ 1.3 พันล้านตันต่อปี เฉพาะในประเทศเยอรมันมีอาหารเสียราว 18 ล้านตันต่อปี
SirPlus จึงตัดสินใจนำอาหาร “ส่วนเกิน” กลับเข้ามาขายใหม่ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ตั้งขึ้นเอง โดยประสานขอความร่วมมือจากอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหาร 700 แห่งทั่วประเทศ ขอรับซื้อสินค้าส่วนเกินหรือที่ไม่ต้องการแล้วจากเกษตรกร ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก เอามาวางจำหน่ายใหม่ในราคาที่ถูกลง ผ่านการยินยอมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ หรือทำลายกลไกทางการตลาด

Martin Scott และ Raphael Fellmer ผู้ก่อตั้ง Sirplus | goodnewsnetwork.org
ในฐานะผู้บริโภคเราอาจตั้งข้อสังเกตกับสินค้าใกล้หมดอายุ หรือสินค้าที่ไม่ผ่าน QC ว่าเอาไปกินแล้วจะเป็นอะไรหรือไม่ แต่เรื่องนี้ SirPlus บอกเราว่าไม่ต้องกังวล เพราะก่อนที่จะเอามาวางขาย อาหารเหล่านั้นผ่านการตรวจคุณภาพก่อนเรียบร้อยจากห้องแล็บที่ได้มาตรฐาน ผู้ซื้อสามารถเอามาบริโภคได้จริงโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีอาการท้องเสียตามมาให้วุ่นวาย
ที่สำคัญ ในเยอรมันมีกฎว่าหากสินค้าที่หมดอายุแล้วแต่ยังสามารถบริโภคได้ ก็ยังสามารถนำขายได้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องแจ้งรายละเอียดให้ทราบก่อนขายเท่านั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่การกระทำที่ดูผิดฝาผิดฝั่งแต่อย่างใด
ด้วยแนวคิดและการลงมือทำนี้ ช่วยให้ SirPlus สามารถป้องกันขยะอาหารได้ประมาณ 2,500 ตันต่อปี
และในปี 2020 พวกเขาสามารถลดอาหารก่อนกลายเป็นขยะได้ราว 3.5 ล้านชิ้น
ของเก่ามีเยอะจนถึงขั้นแจก
SirPlus ยังมีเทคนิคการบริหารอีกอย่างที่น่าสนใจ
ในมุมคนทำซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะได้ข้าวของมาด้วยเหตุผลใด ก็อาจมีบ้างที่ต้องเผชิญกับภาวะของล้นสต๊อก สำหรับ SirPlus การขายอาหารลดราคาไม่ใช่คำตอบเดียวของการ “เลือก” ทำการค้าขายแบบนี้
เมื่อของมีเยอะก็เอาไปแจกจ่ายให้กับองค์กรการกุศลในท้องถิ่น และงานช่วยเหลือสาธารณะอื่นๆ ที่ต้องการอาหารเฉพาะหน้า ซึ่งก็มีทั้งหน่วยงานและผู้ที่ต้องการอยู่เป็นจำนวนมาก

กิจกรรมการกุศลของบริษัทเพื่อต่อต้านการทิ้งอาหารอย่างเปล่าประโยชน์ | SirPlus
ในเยอรมันมีโครงการธนาคารอาหารที่ช่วยเหลือเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่มีบ่อยครั้งที่การทำงานไม่ตอบสนองต่อเวลาที่มี และหาอาหารมาไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่ง SirPlus ได้เข้ามาช่วยเสริมตรงจุดนี้
หรือกล่าวอีกอย่าง ก็เหมือนเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการอาหารเหลือทิ้งเพื่อการกุศลนั่นเอง
ตอนนี้ SirPlus มีแผนขยายสาขาไปยังเมืองอื่นๆ นอกเหนือจากเบอร์ลิน เพื่อย่นระยะเวลาการเข้าถึงสินค้าได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยลดเปอร์เซ็นต์ของเสียหรือหมดอายุระหว่างการขนส่งได้อีกทาง
ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ พวกเขามีแผนทำ ฉลาก SirPlus เพื่อการันตีว่าอาหารที่ดูไม่สวยเหล่านี้ยังกินได้อย่างแน่นอน
รวมถึงการเปิดร้านค้าออนไลน์ ซึ่งส่วนนี้ทำเสร็จไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถเข้าชมที่ https://sirplus.de/
สิ่งที่ SirPlus ดำเนินการอยู่นี้ นอกจากช่วยจัดการกับอาหารให้เกิดประโยชน์ตามที่ควรจะเป็นแล้ว ยังช่วยประหยัดงบประมาณด้านการจัดการอาหารเหลือทิ้ง ประมาณ 143 พันล้านยูโรต่อปีอีกด้วย
อ้างอิง
- European Sting. This German supermarket’s shelves are filled with food other stores won’t sell. https://bit.ly/3vlmrSQ
- Euro News. Saving food to save the planet: European initiatives take on food waste. https://bit.ly/3cBN67m