รู้หรือไม่ หญ้าทะเล = บลูคาร์บอน กุญแจหลักกักเก็บคาร์บอนฯ ต่อสู้กับภาวะโลกรวน
รู้หรือไม่ ‘หญ้าทะเล’ สามารถช่วยลดภาวะโลกรวนได้
เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยได้ยินคนพูดถึง หรือเห็นการรณรงค์ให้ปลูกหญ้าทะเล แต่ไม่รู้ถึงความสำคัญของมันมากนัก ว่าเป็นอย่างไร ทำไมถึงควรอนุรักษ์ ฟื้นฟู เพื่อเพิ่มพื้นที่ของหญ้าทะเลให้มีมากขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก ‘หญ้าทะเล’ ให้มากขึ้นกันดีกว่า
หญ้าทะเล (seagrass) เป็นกลุ่มพืชมีดอก หรือพืชทะเล ที่มีโครงสร้างคล้ายพืชบก มีลักษณะโดดเด่นแตกต่างไปจากพืชดอกทั่วไป หญ้าทะเลเกือบทุกชนิด มีวงจรชีวิตสมบูรณ์ใต้น้ำ ทั้งการสืบพันธุ์ ออกดอก ผล เมล็ด หรือเจริญเติบโตใต้ท้องทะเล ซึ่งหญ้าทะเลสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ในทะเล
ทั้งนี้ในประเทศไทยพบหญ้าทะเลอยู่ถึง 12 ชนิด จาก 58 ชนิดที่พบทั่วโลก ซึ่งแหล่งหญ้าทะเลในประเทศไทยเรานั้น จะสามารถแพร่กระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง ในเขตน้ำตื้นชายฝั่งทะเลรวมถึงเกาะแก่งต่างๆ ทั้งในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน กระทั่งครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัดชายฝั่ง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
แหล่งหญ้าทะเล กับการดูดซับบลูคาร์บอน ลดคาร์บอนไดออกไซด์
ถัดมาหากพูดถึงประโยชน์ของหญ้าทะเล อันเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญคือ นอกจากจะเป็น ‘แหล่งอาหาร’ ของสัตว์ทะเลหายาก หรือสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่าง พะยูน และเต่าทะเลบางชนิด ยังเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเลวัยอ่อน
อีกทั้งเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมถึงยังมีส่วนช่วยในการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น และป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี แถมช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
นอกจากนี้ยังมีประโยชน์สำคัญคือ เป็นพื้นที่ดูดซับบลูคาร์บอน (Blue Carbon) เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพ แม้มีพื้นที่น้อยกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่กลับกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ถึงปีละ 10 เปอร์เซ็นต์
หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ หญ้าทะเลเปรียบเหมือนด่านสุดท้ายที่จะช่วยดักตะกอนเมื่อตะกอนตกลงดิน ส่วนระบบรากที่ซับซ้อนของหญ้าทะเล จะคอยผนึกคาร์บอนไว้ใต้พื้น ทำให้คาร์บอนหลุดจากวัฏจักรไม่ย่อยสลาย ไม่เพิ่มก๊าซเรือนกระจก อันก่อให้เกิดภาวะโลกรวน สุดท้ายหญ้าทะเลยังดักตะกอนจนเป็นพื้นที่กว้าง ทำให้ป่าชายเลนขยายตัวออกมาได้ และยังช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของ ‘ภาวะโลกรวน’ จึงจะเห็นว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน หันมาให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ ในการร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
สิงห์อาสาลงพื้นที่อนุรักษ์ เพิ่มแหล่งหญ้าทะเล สร้างแหล่งดูดซับบลูคาร์บอน
หนึ่งในนั้นก็คือ ‘สิงห์อาสา’ โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล จึงร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 18 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กลุ่มประมงพื้นบ้าน จัดทำโครงการดีๆ ที่ชื่อว่า ‘สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล’
โครงการสิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลนั้น จะลงพื้นที่ดูแลแปลงหญ้าทะเล ป้องกันการเสียพื้นที่หญ้าทะเล หวังเป็นพื้นที่ดูดซับ และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยลดปัญหาโลกรวน พร้อมขยายต่อในหลายพื้นที่จังหวัดชายทะเล ทั้งภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยเลือกพื้นที่ที่มีความพร้อมของธรรมชาติที่จะทำให้หญ้าทะเลมีโอกาสอยู่รอดได้
เพราะจากข้อมูลสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ประเทศไทยยังมีพื้นที่อีกมากมาย ที่สามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลให้กลับมาเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โดยประเทศไทยมีพื้นที่ที่ที่สามารถเป็นแหล่งหญ้าทะเลได้ประมาณ 160,628 ไร่ ขณะที่ผลสำรวจเมื่อปี 2564 พบว่า มีพื้นที่หญ้าทะเลเพียง 99,325 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 65,209 ไร่ และฝั่งอ่าวไทย จำนวน 34,116 ไร่
ทำให้ความน่าสนใจของโครงการดังกล่าว ไม่ใช่เพียงความตั้งใจที่องค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม จะอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน แต่ยังนับเป็นอีกโอกาสที่จะทำให้ผู้คนในพื้นที่ ได้หันมาตระหนักถึงความสำคัญของหญ้าทะเล ที่เป็นเสมือนกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกรวนเช่นกัน
อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึก เพื่องดทำลายหญ้าทะเล และยังส่งผลในเรื่องกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดชายฝั่งทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ที่เอื้อประโยชน์ ให้ทั้งธรรมชาติ ตลอดจนผู้คนอย่างเป็นระบบเลยทีเดียว
#หญ้าทะเล #สิงห์อาสา
#โครงการสิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล