เราควรปล่อยให้เด็กได้ ‘ร้องไห้’ ไหม? คำถามหลังดราม่า ‘หักคะแนนทดสอบ’ เด็กอนุบาล
ในเชิงจิตวิทยาแล้วเราควรปล่อยให้เด็กได้มีโอกาสร้องไห้รึเปล่า? เป็นคำถามสืบเนื่องหลังสื่อโซเชียลไทยเผยแพร่ประกาศเกณฑ์ทดสอบนักเรียนชั้นอนุบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งกฎว่าหากนักเรียนร้องไห้จะถูก ‘หักคะแนน’ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่งานวิจัยในปี 2020 พบว่าการร้องไห้ในเด็กเล็กคือการสื่อสารอย่างหนึ่ง และการ ‘ปล่อยให้ร้อง’ ไม่ส่งผลเสียต่อพฤติกรรม และอาจช่วยให้พวกเขาเรียนรู้การควบคุมตัวเองได้ดีขึ้นด้วย
เป็นประเด็นที่สังคมกำลังถกเถียง หลังมีการเปิดเผยเอกสารเงื่อนไขการทดสอบเข้าชั้นอนุบาลของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องมีการประเมินพัฒนาการ โดยหนึ่งในเกณฑ์การทดสอบคือถ้าหากเด็กนักเรียนที่เข้าทดสอบ ‘ร้องไห้’ จะถูกหักคะแนน 3 คะแนน
เรื่องนี้ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยที่หลายคนมองว่าการร้องไห้เป็นเรื่องธรรมชาติของเด็กในวัยนี้ และไม่สมควรเป็นเรื่องที่นำมาใช้ทดสอบเพื่อสอบเข้า และเรียกร้องให้ผู้บริหารทบทวนข้อประกาศนี้อีกครั้งด้วย
‘การร้องไห้’ เป็นธรรมชาติของเด็กเล็กๆ ในการแสดงอารมณ์ตั้งแต่เกิด นี่คือวิธีการสื่อสารกับพ่อแม่ที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาอย่างที่สุดรูปแบบหนึ่งของเด็ก อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาก็มีการถกเถียงในการเลี้ยงเด็กมาตลอดว่าความจริงแล้วเมื่อเด็กร้องไห้เราควรทำทุกทางเพื่อให้หยุดร้อง และให้เด็กควบคุมตัวเอง หรือเราควรปล่อยให้พวกเขาร้องไห้ตามธรรมชาติกันแน่?
ในจิตวิทยาครอบครัวนั้นมีหลากหลายทฤษฎี บ้างก็ระบุว่าผู้ปกครองควรรีบเร่งปลอบลูกให้หยุดร้องไห้ให้เร็วที่สุด เพราะการปล่อยให้เด็กร้องไห้ไปนานๆ อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ และอาจทำให้เด็กเกิดความเครียด ในขณะที่บางทฤษฎีก็ระบุว่าควรปล่อยให้เด็กๆ ได้ร้องไห้เพื่อเป็นการแสดงออกทางอารมณ์ตามธรรมชาติมากกว่า
อย่างไรก็ดี ในปี 2020 งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยาเด็กและจิตเวชศาสตร์ (Journal of Child Psychology and Psychiatry) จากมหาวิทยาลัยวอริก (University of Warwick) ในสหราชอาณาจักร พบว่าการปล่อยให้เด็กๆ ร้องไห้ตามธรรมชาติไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อพฤติกรรมและความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งยังเป็นการช่วยให้พวกเขาเรียนรู้การ ‘ควบคุมตัวเอง’ ได้มากขึ้นด้วย
ศาสตราจารย์ ดิเอเตอร์ โวล์ค (Prof. Dieter Wolke) ผู้ร่วมวิจัยระบุว่า เราไม่จำเป็นต้องกังวลจนเกินไปกับกรณีที่เด็กๆ ร้องไห้ออกมา โดยในการทำวิจัย สมาชิกในทีมได้ติดตามเด็กอายุน้อยกว่า 18 เดือนจำนวน 178 คนในสหราชอาณาจักร โดยให้ผู้ปกครองระบุว่าพวกเขาปล่อยให้ลูกร้องไห้บ่อยแค่ไหน เพื่อติดตามพัฒนาการ และเปรียบเทียบความถี่ในการร้องไห้ของเด็กที่อยู่ช่วงอายุแรกเกิด 3 เดือน และ 18 เดือน
งานวิจัยพบว่าหากปล่อยให้ทารกร้องไห้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด และปล่อยให้ร้องเป็นเรื่องปกติ เด็กจะมีแนวโน้มในการร้องไห้สั้นลงในช่วงอายุ 18 เดือน ทั้งยังไม่มีสัญญาณว่าการปล่อยให้ร้องไห้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของแม่ลูกและพัฒนาการของเด็ก
อย่างไรก็ดี นักวิจัยไม่ได้แนะนำให้ผู้ปกครองปล่อยเด็กร้องไห้ไปแบบที่ไม่สนใจไยดี แต่ให้แสดงท่าทีตอบสนอง โดยไม่จำเป็นต้องบังคับหรือโน้มน้าวให้หยุดร้องไห้ทันทีทันใด เพราะการร้องไห้เป็นหนึ่งในการสื่อสารและแสดงอารมณ์ตามธรรมชาติ
ขณะที่ข้อมูลของเครือข่ายการเลี้ยงดูเด็ก Raising Children ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงบริการสังคมของออสเตรเลีย พูดถึงพัฒนาการของเด็กช่วงวัย 1-8 ปี โดยระบุว่าเด็กวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้การควบคุมตัวเองได้แล้ว เด็กส่วนใหญ่จึงร้องไห้น้อยลงไปเองตามธรรมชาติ แต่ถ้าเด็กวัยนี้ยังร้องไห้ไม่หยุดเป็นเวลานานๆ และบ่อยๆ ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญสิ่งสำคัญสำหรับเด็กช่วงวัยเริ่มเรียนนี้คือถ้าเด็กร้องไห้ ผู้ใหญ่จะต้องสื่อสาร ทั้งด้วยท่าทีและคำพูด เพื่อแสดงให้เด็กรับรู้ว่ามีคนที่ ‘ใส่ใจรับฟัง’ พวกเขาอยู่ และเพื่อไถ่ถามให้รู้ว่าสาเหตุที่เด็กร้องไห้เกิดจากอะไร จากนั้นจึงค่อยๆ ลองให้เด็กหาทางออกจากสิ่งที่ทำให้เขาร้องไห้
อ้างอิง
- ไทยรัฐ. ดราม่าทดสอบเด็กอนุบาลเข้าเรียน ประกาศสุดโหด “ร้องไห้” โดนหักคะแนน. https://bit.ly/3opZT2J
- The Guardian. Should you let babies ‘cry it out’? Debate reignited by new study. https://bit.ly/3sdRrVv
- Acamh. Occasional cry-it-out has no adverse effects on infant–mother attachment or behavioural development. https://bit.ly/3J2lq9z
- Raising Children. Suitable for 1-8 years Crying: children 1-8 years. https://bit.ly/3J2acSB