วิจัยเผย นอนหนุนหมอนสูงเกินไป เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง ถ้าจะให้ดี ควรสูงไม่เกิน 12 เซนติเมตร
การเลือกหมอนดีๆ เหมาะกับสรีระร่างกายสักใบ ส่งผลต่อการนอนหลับและสุขภาพ ขณะเดียวกันทีมวิจัยจากศูนย์สมองและหัวใจและหลอดเลือดแห่งชาติในโอซาก้า ชี้ว่า “การนอนหนุนหมอนที่สูงจนเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง เนื่องจากหมอนที่สูงอาจทำให้คองอระหว่างที่นอน จนไปกดทับหลอดเลือดแดงที่กระดูกสันหลัง”
โดยทีมวิจัยเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Shogun Pillow Syndrome’ ที่พบว่าการนอนหนุนหมอนสูง อาจทำให้เกิดภาวะ Spontaneous Vertebral Artery Dissection (SVAD) เป็นการ ‘ฉีกขาดของผนังหลอดเลือดแดงกระดูกสันหลัง’ โดยที่ไม่ได้เกิดจากการมีบาดแผล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง
ซึ่งการฉีกขาดดังกล่าว ทำให้เกิดภาวะเลือดสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้เส้นเลือดโป่งพอง และอาจแตก จึงส่งผลให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือเสียชีวิตได้
ทว่าแม้สาเหตุนี้จะพบได้แค่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด แต่ก็สามารถคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอายุตั้งแต่ 15-45 ปี รวมไปถึงกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน
อีกทั้งทางทีมวิจัยยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยบางคนกำลังใช้หมอนที่สูงมาก ซึ่งสูงถึงราว 17-19 เซนติเมตร ด้านผู้ผลิตเครื่องนอน และเหล่าผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมให้คำแนะนำว่า หมอนที่สูงกว่า 12 เซนติเมตร จะถือเป็นหมอนที่อยู่ใน ‘หมวดสูง’ ส่วนหมอนที่มีความสูง 15 เซนติเมตรหรือมากกว่านั้น จะอยู่ใน ‘หมวดสูงเป็นพิเศษ’ ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้อย่างยิ่ง
เนื่องจากผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยภาวะ SVAD จำนวน 53 คน (มีอายุตั้งแต่ 45-56 ปี) พบว่า มี 18 คนที่ใช้หมอนสูงกว่า 12 เซนติเมตร ยิ่งหมอนสูงเท่าไร ผู้ป่วยก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะดังกล่าวมากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปพูดถึงเรื่อง Shogun Pillow Syndrome อาจเป็นชื่อที่มาจากความเป็นมาของการใช้หมอนทรงสูงในประเทศญี่ปุ่น อันมีจุดเริ่มต้นในระหว่างศตวรรษที่ 17-19 โดยเป็นหมอนทรงสูงประมาณ 12-16 เซนติเมตร ที่หลายคนเรียกว่า ‘หมอนโชกุน’ ซึ่งตอนนั้นถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อ ‘รักษาทรงผม’ อันวิจิตรบรรจงของพวกเขาในกลุ่มโชกุน ซามูไร (นักรบ) และเกอิชา
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวข้างต้นช่วยให้ผู้คนเกิดความตระหนักว่าพฤติกรรมการนอนที่ไม่ดีพอ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้ พร้อมกับแสดงให้เห็นว่า หมอนที่สูงไม่เพียงแต่จะทำให้ช่วงระดับคางชิดไปทางหน้าอกเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างความเสียหายให้หลอดเลือดได้ หากหมุนคอขณะนอนพลิกตัวบนเตียง
ดังนั้น ทีมวิจัยจึงแนะนำการเลือกใช้หมอนที่ไม่สูงเกิน 12 เซนติเมตร และความนุ่มของหมอนควรอยู่ในระดับปานกลางด้วย เพราะหมอนที่นุ่มหรือแข็งจนเกินไปก็อาจทำให้บริเวณลำคอเสียหายได้เช่นกัน
อ้างอิง
- asahi. Study: ‘Shogun pillow syndrome’ heightens the risk of stroke. http://tinyurl.com/52fkm28c
- eso-stroke. RISKING YOUR NECK WITH HIGH PILLOWS? AN OVERVIEW OF THE “SHOGUN PILLOW SYNDROME”. http://tinyurl.com/yc7y3sf6