2 Min

สัตว์มีกระดูกสันหลังที่อายุยืนที่สุดคือ ‘ฉลามกรีนแลนด์’ ไม่ใช่เต่า และตัวที่แก่ที่สุด อาจอยู่มาก่อนเราเสียกรุงครั้งแรก

2 Min
1491 Views
01 Dec 2022

ถ้าถามว่าสัตว์อะไรอายุยืนที่สุด? คำตอบของคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเต่า เพราะเราก็ได้ยินได้ฟังกันมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเต่าเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของอายุที่ยืนยาว

นั่นเป็นสิ่งที่ถูกในบางมิติ แต่ก็ผิดในหลายมิติ

อันที่จริง สัตว์บกที่อายุยืนที่สุดที่มีการบันทึกกันมา ก็หนีไม่พ้นเต่า ซึ่งเต่าที่อายุยืนที่สุดก็ได้แก่เต่ายักษ์สายพันธุ์ซีย์เชลส์ (Seychelles giant tortoise) ชื่อ โจนาธาน ซึ่งเกิดมาตั้งแต่ปี 1832 (ราวๆ สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี) ซึ่งทุกวันนี้มันก็ยังไม่ตาย และมีอายุได้ 190 ปีแล้วในปี 2022 นี้

ซึ่งโดยทั่วไปเชื่อกันว่า เต่ายักษ์นี่แหละคือสัตว์บกที่อายุยืนที่สุด และอายุมันก็น่าจะราวๆ 200 ปีขึ้นไป (ซึ่งที่คาดคะเนกันก็เพราะ อายุเจ้าเต่าพวกนี้มันยืนยาวมาก อยู่มาก่อนการบันทึกอย่างเป็นระบบและเทคนิคในการวัดอายุต่างๆ)

อย่างไรก็ดี ถ้าลงมาในทะเลแล้ว ภาพของสัตว์อายุยืนมันกลับต่างออกไป เพราะอย่างน้อยๆ สัตว์ที่มีอายุถึง 200 ปีได้แน่ๆ ก็ได้แก่วาฬหัวคันศร (Bowhead whale) แต่นั่นก็ยังห่างไกลจากแชมป์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อายุยืนที่สุดในท้องทะเล เพราะนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าแชมป์ตัวจริง คือฉลามกรีนแลนด์

ฉลามกรีนแลนด์เป็นฉลามขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าตัวพอฟัดพอเหวี่ยงกับฉลามขาว และก็กินเนื้อสัตว์สารพัดเป็นอาหาร ตั้งแต่ปลาเล็กๆ ยันแมวน้ำ อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อกันว่ามันมีธรรมชาติที่จะไม่เป็นผู้ล่าเอง แต่จะไปเก็บซากสัตว์กินเป็นหลัก

ซึ่งถ้าใครสนใจอาหารแปลกๆ เราก็คงจะคุ้นชื่อของฉลามกรีนแลนด์บ้าง เพราะเนื้อของมันถือเป็นส่วนหนึ่งของ อาหารประจำชาติไอซ์แลนด์ที่ชื่อว่า Hakarl ที่มีทั้งวิธีการทำ และรสชาติที่ประหลาดมาก แบบท้าให้คนที่ชอบ ลองของ ลองกิน (ว่ากันว่ามันเต็มไปด้วยกลิ่นแอมโมเนียแบบฉุน)

แต่เอาล่ะ ก่อนที่จะนอกเรื่องกันไปมากกว่านี้ ประเด็นคือ เจ้าฉลามกรีนแลนด์นี่แหละที่น่าจะเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อายุยืนที่สุดแล้วตั้งแต่มีบันทึกกันมา

เพราะนักวิทยาศาสตร์คาดคะเนว่า เจ้าสัตว์ชนิดนี้น่าจะอายุราวๆ 300-500 ปีเลยทีเดียว หรือตัวที่แก่สุดที่อยู่ถึงตอนนี้ ก็น่าจะอยู่มาตั้งแต่ก่อนเราเสียกรุงครั้งแรก หรืออยู่มาตั้งแต่สมัยพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 ยังปกครองอังกฤษอยู่ (เราเสียกรุงครั้งแรกปี ค.. 1569 ส่วนรัชสมัยของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 คือ 1533-1603)

ทีนี้คนช่างสงสัยหน่อยก็คงจะสงสัยว่า แล้วนักวิทยาศาสตร์รู้ได้ยังไง?

เป็นข้อสงสัยที่ดี คืออย่างนี้ ช่วงราวๆ 1960’s มีการทดลองนิวเคลียร์ ฉลามพวกนี้บางตัวก็ได้รับกัมมันตภาพรังสีไปตั้งแต่ยังแบเบาะ และมันก็ยังตกค้างอยู่ในตัว

นี่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถประเมินปีเกิดของฉลามกรีนแลนด์บางตัวได้ และก็นำมาสู่การประเมินต่อว่า เจ้าฉลามชนิดนี้มันน่าจะโตขึ้นปีละ 1 ซม. เท่านั้น ซึ่งพอได้การคำนวณแบบนี้ ก็นำมาสู่การประเมินอายุของฉลามกรีนแลนด์ตัวที่ใหญ่กว่า และนำมาสู่ข้อค้นพบว่า ฉลามชนิดนี้กว่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์มันต้องมีอายุ 150 ปี และก็นำมาสู่ข้อค้นพบว่า ฉลามตัวใหญ่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่มันน่าจะมีอายุราวๆ 300-500 ปีเลยทีเดียว

ทีนี้พอนักวิทยาศาสตร์เจอว่าเจ้าฉลามชนิดนี้อายุยืนที่สุด คำถามก็ตามมามากมาย ซึ่งหลักๆ คือ ทำไมมันถึงอายุยืนแบบนั้นได้?

ซึ่งพอไปประสานกับนักพันธุศาสตร์ ก็เลยค้นพบเพิ่มว่า ฉลามชนิดนี้มีอัตราเผาผลาญต่ำมากเพราะอยู่ในน้ำเย็นจัด แต่ที่โหดกว่านั้นคือ การที่มันอยู่ในน้ำเย็นจัด มันยังปลุกให้ร่างกายสามารถจัดการโมเลกุลที่สร้างความเสียหายให้กับ DNA ได้ดี พร้อมทั้งทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรงมากอีกด้วย ซึ่งผลทั้งหมดคือ กลไกพวกนี้มันทำให้ฉลามกรีนแลนด์ไม่เป็นโรคติดเชื้อไม่พอ แต่ยังทำให้มันมีอายุยืนมากๆ โดยที่เซลล์ในร่างกายมันไม่กลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งอีกด้วย

พูดภาษาชาวบ้านกว่านั้นคือ ร่างกายมันมีกลไกที่จะทำให้มันแก่ช้าหรือตายช้าอย่างสมบูรณ์มากๆ

นี่ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามจะศึกษามันเพิ่มขึ้น เพราะกลไกของร่างกายมันอาจเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับโรคร้ายระดับปราบเซียนของมนุษย์ยุคปัจจุบัน อย่างมะเร็ง หรือกระทั่งอาจพบวิธีการยืดอายุขัยของมนุษย์ก็เป็นได้