ย้อนสำรวจประวัติศาสตร์หญิงขายบริการในหนังไทย ในรอบ 4 ทศวรรษ จาก ‘แรมจันทร์ แรมใจ’ ใน ‘ทองพูน โคกโพ’ สู่ ‘มายด์’ ใน ‘RedLife’
แม้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราหลายคนจะบอกว่า ‘เมืองไทยเป็นเมืองศีลธรรมดีงาม’ บ้านเมืองสะอาดไม่มีการค้าประเวณี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในโลกของหนังไทย อาชีพโสเภณีถูกนำมาเล่าขานในสังคม ‘สยามเมืองยิ้ม’ ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อสะท้อนถึงหนึ่งในอาชีพที่ถูกละเลยในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหนังอย่าง ‘ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น’, ‘เทพธิดา บาร์ 21’ ไปจนถึง ‘เฉิ่ม’ และ ‘นาคปรก’
และ ‘RedLife’ คือหนึ่งในหนังไทยเรื่องล่าสุดที่กล้าหยิบเอาชีวิตที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรมมานำเสนอ ผ่านตัวละคร ‘นักขาย’ ทั้งรุ่นใหญ่อย่าง ‘แม่อ้อย’ (รับบทโดย กรองทอง รัชตะวรรณ) และรุ่นใหม่อย่าง มายด์ (รับบทโดย จ๋อมแจ๋ม-กานต์พิชชา พงษ์พานิชย์) ก่อนที่เราจะได้ดูกันในโรงภาพยนตร์วันที่ 2 พฤศจิกายน นี้ เรามาย้อนสำรวจโลกของโสเภณีในหนังไทยกันดีกว่าว่าที่ผ่านมา หนังไทยรู้จักกับ ‘โสเภณี’ คนไหนกันบ้าง
แรมจันทร์ แรมใจ – ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (2520)
แม้ไม่มีการบันทึกว่าใครคือโสเภณีคนแรกบนแผ่นฟิล์มหนังไทย แต่คาแรกเตอร์ ‘แรมจันทร์ แรมใจ’ ต้องเป็นคาแรกเตอร์แรกๆ หากใครเอ่ยถึงอาชีพขายตัวในหนังไทยอย่างแน่นอน
ทองพูน โคกโพ (จตุพล ภูอภิรมย์) แท็กซี่หนุ่มคนซื่อที่ได้รับ-ส่ง หมอนวดชื่อ แต๋น หรือชื่อที่ใช้ในอ่างว่า แรมจันทร์ แรมใจ หมอนวดที่เผลอตั้งท้องอ่อนๆ และโดนแมงดาบังคับให้ทำแท้ง แต่สำนึกความเป็นแม่ แรมจันทร์จึงตัดสินใจไม่ทำแท้ง ถูกนำเสนอในภาพลักษณ์ที่ดูโฉบเฉี่ยวก๋ากั่น ซึ่ง ‘วิยะดา อุมารินทร์’ ก็ตีบทแรมจันทร์นี้แตกกระจุย ก่อนหน้านี้ วิยะดาก็เคยรับบทในแนวเดียวกันนี้จากหนังแจ้งเกิดในการแสดงของเธอเรื่อง ‘เทพธิดาโรงแรม’ (2517) จนเป็นภาพลักษณ์ที่ติดตา โดยในยุคสมัยนั้น หายากยิ่งที่นักแสดงคนไหนจะกล้ามารับบทผู้หญิงขายตัว แต่วิยะดาก็กล้าที่จะรับบทนี้อย่างสง่าผ่าเผย ผลลัพธ์ที่ได้คือการคว้ารางวัลจากมหกรรมหนังเอเชียแปซิฟิกไปครอง
ลินดา วงศ์ซื่อ – เทพธิดาบาร์ 21 (2521)
“เป็นโสเภณี ก็มีเกียรติกว่านักการเมืองบางคน”
นี่คือวลีอมตะของหนังไทย Musical ที่มาก่อนกาล เรื่องราวถูกดำเนินภายใน ‘บาร์ 21’ สถานบันเทิงที่เต็มไปด้วยเรื่องราวหลากหลายโดยศูนย์กลางของเรื่องคือโสเภณีที่ชื่อ ลินดา วงศ์ซื่อ
หนังเพลงยอดเยี่ยมที่พิสูจน์ใจทั้งผู้สร้างที่พยายามต่อสู้แม้นายทุนจะปฏิเสธ รวมไปถึงนักแสดง ‘จันทรา ชัยนาม’ บรรณาธิการนิตยสารดิฉัน ที่ครอบครัวพากันคัดค้าน และคนใกล้ชิดไม่เห็นด้วย แต่ก็สู้สุดตัวเพื่อให้ได้แสดงในหนังเรื่องนี้ จนสามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาทอง สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ไปครองในปีนั้น สะท้อนให้เห็นทัศนคติของผู้คนที่มองอาชีพนี้ในแง่ลบ ทั้งๆ ที่หนังเรื่องนี้สร้างจาก บทประพันธ์อมตะ ‘The Respectful Prostitute’ ของ ฌอง-ปอล ซาตร์ (Jean-Paul Sartre) ก็ตาม
แววลี – กลกามแห่งความรัก (2532)
สินค้าส่งออกสำคัญอีกหนึ่งสิ่งของคนไทย คือการพาเรือนร่างไปจำหน่ายให้ชาวต่างชาติได้ลิ้มลอง แววลี ก็คือหนึ่งในหญิงสาวที่ใช้ร่างกายของตนเปิดประตูสู่โลกกว้างด้วยการไปขายตัวที่โตเกียวเพื่อหวังให้ชีวิตของครอบครัวของเธอดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่การเปลืองเนื้อเปลืองตัวและเงินทองที่เธอหาได้ กลับทำลายครอบครัวและตัวเธออย่างย่อยยับ
ในห้วงเวลาที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย ชื่อ ‘ดาริน กรสกุล’ กลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงความกล้าในการเล่นหนัง ขณะเดียวกัน ‘ทรนง ศรีเชื้อ’ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่หยิบจับเรื่องฮาร์ดคอร์มาทำเป็นหนังก็สามารถพาหนังแนวนุ่งน้อยห่มน้อย ที่ยุคนั้นมักถูกสร้างเพื่อเสิร์ฟตลาดโรงหนังชั้นสอง ให้กลายเป็นหนังเกรดเอได้อย่างมหัศจรรย์ ขณะเดียวกันก็สะท้อนสังคมคนขายตัวในเมืองนอกในแบบที่ไม่เคยมีใครหยิบยกมาเล่า จนถูกบันทึกเป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ที่จัดโดยหอภาพยนตร์ฯ อีกด้วย
นวล – เฉิ่ม (2548)
แท็กซี่ กับ หมอนวด ดูจะเป็นของคู่กันทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกในหนัง เมื่อสองสายอาชีพจำต้องเกื้อกูลกันและกันด้วยการพาไปรับ-ส่งในช่วงเวลาเลิกงานยามวิกาล หรือการช่วยบดบังอำพรางตัวตนไม่ให้สังคมได้รับรู้ จึงเป็นที่มาของหนังรักอารมณ์ดี ที่ให้ภาพสองอาชีพที่ดูต่ำต้อยในสายตาบางคน ให้ดูโรแมนติกและมีคุณค่า
ขณะที่ สมบัติ ดีพร้อม (รับบทโดย เพ็ชรทาย วงศ์คำเหลา) ต้องเผชิญหน้ากับการใช้ชีวิตที่ทั้งโหดหินและสุดรันทด แต่ นวล (รับบทโดย วรนุช วงษ์สวรรค์) ก็มอบความสวยงามสบายตาเป็นศาลาพักใจให้สมบัติและคอยดูแลอยู่เสมอ
ภาพของนวลในหนัง ‘เฉิ่ม’ ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครเลือกเกิดได้ฉันใด ก็ไม่มีใครที่เลือกได้ว่าจะต้องมาทำงานขายตัวฉันนั้น และวรนุชก็ทำให้อาชีพโสเภณีเป็นสิ่งที่สวยงามได้อย่างมหัศจรรย์
น้ำผึ้ง – นาคปรก (2551)
ท่ามกลางความฉาวโฉ่ของหนังที่ถูกกองเซ็นเซอร์และองค์กรศาสนาแช่แข็งหนัง กว่าจะได้ฉายก็ในอีก 3 ปีต่อมา เรื่องราวของโจรในคราบพระที่ซ่องสุมในวัดคือแกนหลักของหนัง แต่ก็มีตัวละครจอมขโมยซีนที่มาร่วมสังฆกรรมความอื้อฉาว ด้วยการใส่มาเพื่อร้องถามถึงศีลธรรม ก็คือโสเภณีปากจัดอย่าง น้ำผึ้ง ที่รับบทโดย ‘ทราย เจริญปุระ’ ความแซ่บที่ช่วยลดทอนความอึมครึมของบรรยากาศหนังที่อยู่ในจังหวะที่พอดี ขณะเดียวกันก็สะท้อนความฉาวโฉ่ในโลกที่อุดมไปด้วยสังคมชายเป็นใหญ่ ได้อย่างยอดเยี่ยม
ในหนังไทย บทโสเภณีมักถูกนำมาเป็นสีสันในหนัง จะด้วยภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูมีสีสันจัดจ้าน หรือต้องการลบภาพผู้หญิงที่ดูเรียบร้อยให้ดูแรงเวอร์ก็ตาม แต่บทน้ำผึ้ง ก็ถือเป็นหนึ่งในสีสันที่คนดูหนังลืมไม่ลงจริงๆ โดยเฉพาะวลีเด็ดที่ว่า
“ถ้าอย่างมึงบวชนี่นะ กะหรี่อย่างกูก็บริหารประเทศได้เหมือนกัน”
อมรา – มายาพิศวง (2565)
ในยุคปัจจุบันที่เปิดกว้าง แม้ในโลกแห่งความจริง อาชีพโสเภณีมักถูกดูแคลน ซ้ำถูกละเลยจากภาครัฐและกลุ่มอนุรักษนิยม แต่ในโลกแห่งภาพยนตร์ อาชีพโสเภณีคือการลับคมทางการแสดงที่เหล่าดารามากมายตั้งแต่นักแสดงสมทบยันนางเอก ล้วนแล้วแต่อยากจะเติมเต็มมิติทางการแสดงด้วยบทบาทนี้ทั้งนั้น
เช่นเดียวกันกับนักแสดง ‘แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์’ ที่ได้รับโอกาสจากหม่อมน้อย ให้มาแสดงเป็น ‘โสเภณีชั้นสูง’ ในเรื่อง ‘มายาพิศวง’ ที่มอบการแสดงแบบเร่าร้อนและคาแรกเตอร์ที่ลืมไม่ลง เพื่อยั่วล้อต่อความต่างทางชนชั้น และเปิดเปลือยให้เห็นทุกด้านไม่ว่าจะด้านมืดหรือด้านสว่างอย่างกระจ่างแจ้ง และเป็นที่จดจำเสมอเมื่อเอ่ยถึงหนังเรื่องนี้
มายด์ – RedLife (2566)
กะหรี่รุ่นเด็กที่มีปมชีวิตสุดดาร์ก มีพ่อที่ติดคุก มีความรักที่ลุ่มๆดอนๆ เหลือเพียงความรักที่ช่วยประคับประคองชีวิตไว้ได้ และเงินที่ได้จากการขายตัวที่ช่วยต่อลมหายใจไปวันๆ
มายด์ อาจจะไม่ใช่โสเภณีคนแรกบนจอภาพยนตร์ แต่ในโลกที่ศีลธรรมหลบๆ ซ่อนๆ ภาพโสเภณีในหนังไทยมักถูกวางไว้ในมิติที่ไม่โลกสวยจนเกินจริง ก็มักจะให้ภาพลบจนเกินไป ใน ‘RedLife’ บทบาทของมายด์ ที่รับบทโดยนักแสดงหน้าใหม่ ‘จ๋อมแจ๋ม-กานต์พิชชา พงษ์พานิช’ อาจกล่าวได้ว่า เป็นโสเภณีที่ real ที่สุดในหนังไทย และเป็นบทบาทที่คุณจะลืมไม่ลง
แม้ ‘โสเภณี’ จะยังเป็นที่ถกเถียงในเรื่องศีลธรรม ความถูกต้อง และกฎหมาย แต่การมีอยู่ของอาชีพนี้ในโลกของภาพยนตร์ ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า เราควรใส่ใจและรับรู้ว่าพวกเขามีตัวตนบนโลกนี้เสียที