4 Min

ย้อนรอย 10 ปี เหตุการณ์โศกนาฏกรรม เรือ ‘เซวอล’ ล่มที่เกาหลีใต้ที่คร่าชีวิตนักเรียนนับร้อย สู่การดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกว่า 150 คน ถอดถอนประธานาธิบดี ผ่านกฎหมายใหม่ และการเกิดขึ้นของ ‘วันแห่งความปลอดภัยแห่งชาติ’

4 Min
86 Views
04 Oct 2024

ครั้งหนึ่งเกาหลีใต้เคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่สร้างความสะเทือนใจครั้งใหญ่ให้กับทั้งสังคมเกาหลีใต้ เพราะทั้งสังคมได้เห็นเหตุการณ์นี้ไปพร้อมๆ กันผ่านการเผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์

เหตุการณ์ที่ว่า คือเหตุการณ์เรือเฟอร์รี ‘เซวอล’ จมลงที่นอกชายฝั่งเกาะจินโด จังหวัดช็อลลาใต้ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2014 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 304 ราย จากผู้โดยสารจำนวน 476 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จำนวน 250 ราย เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมัธยมทันวอน ที่กำลังนั่งเรือข้ามฟากไปทัศนศึกษาที่เกาะเชจู

วันที่ 15 เมษายน 2014 เรือพาณิชย์ลำดังกล่าวได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือเมืองอินชอนเพื่อให้บริการข้ามฟากไปยังเกาะเชจูตามปกติ เรือลำดังกล่าวมีกำหนดการออกจากท่าเรือราวๆ 18.30-19.00 น. แต่ด้วยทัศนวิสัยต่ำ เนื่องจากหมอกที่ปกคลุมอย่างหนาแน่น ทำให้เรือลำดังกล่าวต้องออกเดินทางในเวลา 21.00 น. และเลือกที่จะใช้เส้นทางอื่นในการเดินเรือ เพื่อให้ถึงเกาะเชจูได้ทันตามกำหนดการเดิม

เมื่อเรือแล่นผ่านช่องแคบแมงโกล ท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ทำให้มีจังหวะการหักเลี้ยวเรืออย่างกะทันหัน และนั่นก็ส่งผลให้เรือเกิดเสียหลักค่อยๆ อับปางลงทีละน้อยๆ ในช่วงเช้าของวันที่ 16 เมษายน โดยที่กัปตันและลูกเรือไม่สามารถควบคุมเรือได้อีกต่อไป

ภายหลังมีรายงานว่าผู้บังคับเรือขณะเกิดเหตุการณ์เป็นผู้ช่วยกัปตันที่มีประสบการณ์น้อย โดยที่ไม่มีกัปตันมาคอยกำกับ

โดยหน่วยฉุกเฉินได้รับการแจ้งเหตุครั้งแรกเมื่อเวลา 08.52 น. จากเด็กชายบนเรือรายหนึ่ง และลูกเรือก็ได้แจ้งเหตุกับศูนย์ควบคุมจราจรทางน้ำในเวลา 09.17 น. ขณะที่เรือเอียงในมุมที่มากกว่า 50 องศาแล้ว

แต่การช่วยเหลือของหน่วยยามฝั่งก็กลับเกิดขึ้นอย่างล่าช้า แม้ว่าจะอยู่ใกล้กับบริเวณที่เรือกำลังจมแล้วก็ตาม เนื่องจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนและระบุว่าเป็นเพราะกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ซึ่งผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่รอดมาได้จากการช่วยเหลือของเรือประมงและเรือพาณิชย์ลำอื่นๆ แทบทั้งสิ้น

อีกทั้งมีรายงานว่ากัปตันและลูกเรือได้กำชับให้ผู้โดยสารอยู่นิ่งๆ พร้อมกับใส่เสื้อชูชีพรอความช่วยเหลืออยู่ในห้องโดยสาร ขณะที่กัปตัน หัวหน้าวิศวกรของเรือ และลูกเรือได้หนีออกจากเรือเพื่อเอาตัวรอด

ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกรายงานโดยสื่อมวลชนแทบทุกสำนัก พร้อมกับมีรายงานถึงข้อความที่เด็กๆ ส่งหาผู้ปกครองเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะค่อยๆ จมไปกับเรือว่าพวกเขารักแม่และพ่อของพวกเขามาก

ต่อมา มีรายงานจากเจ้าหน้าที่สอบสวนพบว่าในวันที่เรือเฟอร์รีล่มนั้น มีสาเหตุมาจากการบรรทุกสินค้าเกินพิกัด ทั้งนี้นอกจากเรือเฟอร์รีเซวอลจะบรรทุกผู้โดยสาร เรือลำนี้ยังบรรทุกสินค้าอย่างยานพาหนะจำนวน 185 คัน มีน้ำหนักถึง 1,157 ตัน ซึ่งเกินกว่าขีดจำกัดที่กฎหมายกำหนดถึง 2 เท่า และเมื่อรวมกับน้ำหนักผู้โดยสารบนเรือก็ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นไปอีก

ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไม่ได้ถูกจัดเก็บอย่างเหมาะสมจนเกิดความหละหลวม ทำให้เมื่อเรือเกิดหักเลี้ยวกะทันหัน ยานพาหนะที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ก็พากันเทตัวไปตามทิศทางที่หักเลี้ยวจนเรือเกิดเสียสมดุล

และส่วนหนึ่งที่ทำให้เรือเกิดเสียสมดุลได้ง่าย เกิดจากการที่เรือลำดังกล่าวเป็นเรือดัดแปลง เรือโดยสารลำนี้สร้างขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1994 ก่อนที่บริษัท Chonghaejin Marine ของเกาหลีจะซื้อไปในปี 2012 และได้ทำการดัดแปลงให้เรือสามารถบรรทุกสินค้าได้เพิ่มขึ้น ทำให้เรือมีน้ำหนักเพิ่มจากเดิม 6,586 ตัน เป็น 6,825 ตัน และสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 956 คน จากเดิม 840 คน ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของเรือเปลี่ยนแปลงไป

เหตุการณ์นี้ทำให้สังคมเกิดความไม่พอใจและวิพากษ์วิจารณ์กันต่ออีกหลายประเด็น เช่น เหตุใดเจ้าของเรือจึงดัดแปลงเรือโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะตามมา เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่กำกับดูแลเรื่องการบำรุงรักษาและตรวจสอบสภาพเรือให้เป็นไปตามกฎหมาย เรือลำดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ออกจากท่าได้อย่างไร เป็นต้น

ต่อมามีการตรวจสอบพบว่าในปี 2013 พนักงานของบริษัทเรือได้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์และบริการทริปท่องเที่ยวเพื่อติดสินบนเจ้าหน้าที่ของหน่วยยามฝั่งอินชอน เพื่อช่วยให้เรือเซวอลผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย

นอกจากประเด็นของกัปตันเรือ ลูกเรือ ความปลอดภัยของเรือ ปฏิบัติการช่วยเหลือ ไปจนถึงการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐแล้ว อีกหนึ่งบุคคลที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นั่นคือ ‘พัค กึนฮเย’ ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ในเวลานั้น ที่เพิ่งจะปรากฏตัวต่อสาธารณะ 7 ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุการณ์ 

ทั้งนี้ เธอได้ออกมายอมรับภายหลังว่า ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ช่างทำผมได้มาเยี่ยมที่บ้านพักของเธอ และสิ่งที่เธอทำมีเพียงตรวจสอบรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับอุบัติเหตุเรือข้ามฟากเท่านั้น 

หลังจากนั้น กัปตันเรือ ลูกเรือ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรือ และเจ้าหน้าที่จากบริษัทเดินเรือเฟอร์รีและบริษัทขนถ่ายสินค้า รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มากกว่า 150 คน ถูกจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาในความผิดที่แตกต่างกันไป เพื่อรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามรายงานของ The Korea Herald

และประธานาธิบดีพัค กึนฮเย ก็ถูกประชาชนชุมนุมประท้วงถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยมีมูลเหตุการจัดการสถานการณ์ที่ล้มเหลวในเหตุการณ์เรือล่มเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ กระทั่งในที่สุดเธอก็ถูกรัฐสภาถอดถอนตำแหน่งไปในปี 2017

นอกจากการนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมารับผลของการกระทำแล้ว สังคมเกาหลีใต้ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นบางประการ ทั้งการตั้งกระทรวงความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคง (ปัจจุบันควบรวมกับกระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัย) การผ่านกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบนหรือของขวัญราคาแพง การกำหนดให้วันที่ 16 เมษายน ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ เป็นต้น

แต่ที่ดูจะเป็นความเคลื่อนไหวที่กระตือรือร้นมากสุด ก็คือการรวมตัวกันของภาคประชาชนที่ยังคงรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และเรียกร้องให้มีการสืบสวนในเรื่องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนกว่าเดิม รวมถึงการออกมาแสดงความรับผิดชอบและคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่เสียชีวิตอย่างแท้จริง เพราะหลายๆ เรื่องยังอยู่ในความแคลงใจของญาติผู้เสียชีวิต เช่น กรณีที่มีเจ้าหน้าที่ระดับล่างเพียงคนเดียวจากหน่วยยามฝั่งที่ถูกตัดสินให้ต้องรับผิดชอบต่อปฏิบัติการกู้ภัยที่ผิดพลาด หรือกรณีการอภัยโทษเจ้าหน้าที่กองทัพที่คอยติดตามสอดส่องญาติผู้เสียที่ตั้งข้อสงสัยและเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลจากกรณีดังกล่าว เป็นต้น

รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในเรื่องของการรับมือกับภัยพิบัติและการบรรเทาสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพจากภาครัฐ เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เกาหลีใต้ยังคงเกิดเหตุการณ์อย่างโศกนาฏกรรมอิแทวอนในปี 2022 ราวกับว่าภาครัฐไม่ได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์เรือล่มในปี 2014 มากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้

อ้างอิง