7 Min

SET UP YOUR MOOD ด้วยชุดชั้นในลูกไม้ ‘SYP Intimates’ แบรนด์ไทยที่เลือกใช้ผ้าไหมแทนฟองน้ำ

7 Min
2168 Views
11 Feb 2021

Everyday is Special with Beautiful Lingerie.”

นี่คือแอดติจูดที่ เดีย – พัทธนันท์ วรกิตติกุล และ ฌอน – สิปปภาส ติระรัตนกุล เจ้าของแบรนด์ชุดชั้นในลูกไม้ทำมือสัญชาติไทย SYP Intimates(สิป อินทิเมท) ต้องการส่งต่อถึงผู้หญิง

แม้ชุดชั้นในจะเป็นสิ่งที่เราสวมใส่แทบทุกวัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชุดชั้นในสวยๆ  มักถูกหยิบมาใส่เฉพาะวันสำคัญเท่านั้น และสำหรับบางคนชุดชั้นในอาจเป็นสิ่งที่สวมใส่แค่พอเป็นพิธี ไม่ได้พิถีพิถันกับการเลือกทรง เนื้อผ้า หรือการแมตช์สีบรากับกางเกงในให้เข้ากัน ซึ่งขอย้ำว่านั่นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะท้ายที่สุดชุดชั้นในคือสิ่งที่อยู่ด้านใน คนอื่นมองไม่เห็นเป็นอันดับแรก ทว่าเดียคิดต่างออกไป  

คนมักคิดว่าเราไม่ได้โชว์ชุดชั้นในเลยใส่อะไรก็ได้ บางคนสนใจแต่การแต่งตัวข้างนอกเพราะใส่แล้วมีคนเห็น แต่จริงๆ  แล้วการใส่ชุดชั้นในเราเห็นเป็นคนแรก มันเป็นอินเนอร์แรก มู้ดแรกของวัน ที่เราใส่หมุนตัวหน้ากระจกสักทีสองทีแล้วรู้สึกว่าวันนี้ฉันสวย พลังใจมาจากตรงนั้น เหมือนกับการทาลิปสติก บางวันที่โทรมเราอาจจะอยากทาลิปสีแดง อะไรก็ได้แต่ปากแดงไว้ก่อน ชุดชั้นในก็เหมือนกัน มันถูกใส่ก่อนทาลิปเสียอีก”

ความใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ ไม่เพียงออกมาจากคำพูดและแววตาของเดีย แต่ยังถูกนำไปใช้กับงานดีไซน์ของ SYP Intimates ที่เลือกใช้ผ้าไหมไทย แทนฟองน้ำหนานุ่ม เพราะรู้ใจว่า ‘ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะชอบฟองน้ำหรืออยากดันทรง’  

เข้าอก เข้าใจ

แรกเริ่ม เดียไม่ต่างจากสาวไทยอีกหลายๆ  คนที่เติบโตมากับแบรนด์ชุดชั้นในท้องตลาดซึ่งมีให้เลือกไม่กี่เจ้า แต่จากการสังเกตเวลาเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ  ทำให้เธอได้พบจุดเปลี่ยน 

เชื่อว่าทุกคนเริ่มจากการใส่บราตัวแรกที่แม่ซื้อให้ตอนเด็ก แล้วค่อยเปลี่ยนลักษณะชุดชั้นในตามวัยของเรา พอโตมาเราถึงจะรู้ว่าเราชอบแบบไหน” เดียเล่า

ตอนแรกเราใส่แบรนด์ไทยทั่วไป แต่รู้สึกว่ามันไม่พอดีและไม่ชอบแบบมีฟองน้ำ เวลาเดินทางไปต่างประเทศ เราเลยซื้อชุดชั้นในมาเยอะมากเพื่อมาลองใส่ พอใส่แล้วก็เกิดคำถามว่าทำไมของเมืองนอกมันใส่สบายกว่าของในไทย ใส่แล้วความรู้สึกมันต่างกัน ก็เลยลองเอาโครงมาเทียบกัน เลยเห็นว่าโครงมันต่างกันอย่างชัดเจน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจชุดชั้นใน”

เดียเสริมว่า ก่อนทำแบรนด์เธอเฝ้าเก็บสถิติและปรับเปลี่ยนขนาดชุดชั้นในใหม่ให้เข้ากับหน้าอกของผู้หญิงสมัยนี้ ซึ่งการทำชุดชั้นในตัวหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แค่จักรเย็บผ้าก็มีถึง 3 แบบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีสอนในไทย

ชุดชั้นในเป็นศิลปะ

ชุดชั้นในลูกไม้ 1 ตัว ประกอบด้วยชิ้นส่วนอย่างน้อย 12 ชิ้นด้วยกัน” 

เดียและฌอนบอกกับเรา ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศศาสตร์การตัดเย็บชุดชั้นใน ถือเป็นศิลปะขั้นสูงที่มีสาขาเรียนกันในมหาวิทยาลัยแบบจริงจัง เพราะมันละเอียดมากๆ 

ตอนแรกก็ไปเรียนที่โรงเรียนสอนแพตเทิร์นเสื้อผ้าในไทย แต่มันไม่มีสอนตัดเย็บชุดชั้นในแบบเฉพาะทาง เลยตัดสินใจไปเรียนต่อ Lingierie Design ที่ University of the Art London ประเทศอังกฤษ ระหว่างเรียนจะมีการบ้านที่ต้องทำทุกวันคือไปลองชุดชั้นในอย่างน้อย 6 ตัวแบบไม่ซ้ำกัน เพื่อบอกเล่ารายละเอียดชุดชั้นในที่ไปลอง แล้วนำเสนอหน้าห้องในเช้าวันถัดมา”

เดียเล่าติดตลกว่า วันแรกๆ  ที่ไปเรียนยังวาดรูปไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่อาจารย์บอกว่า ‘ยูทำได้แน่นอน เพราะถ้าวาดไม่ได้ก็ไม่ผ่านน่ะสิ นอกจากนี้ การได้เรียนรู้กระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มแรก ไม่ว่าจะเป็น เลือกเนื้อผ้า วัสดุ การตัดเย็บที่ยุ่งยากและซับซ้อนเหล่านี้ ทำให้เธอไม่แปลกใจเลยว่าทำไมตลาดชุดชั้นในถึงมีผู้เล่นน้อย

ห้องเรียนออกแบบให้ความรู้ไม่ได้ที่อยู่ตำราเท่านั้น แต่ยังเปิดมุมมองใหม่ที่ทำให้เธอเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการทำแบรนด์ ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้พบเจอระหว่างทาง อย่างการไปร่วมงาน Interfiliere มหกรรมชุดชั้นในที่ปารีส ซึ่งเป็นพื้นที่รวมตัวของเหล่ามาสเตอร์ที่จะมาอัปเดตเทรนด์ในวงการชุดชั้นใน และโชว์ผลงาน ทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ก่อนจะกลับมาเปิดแบรนด์ด้วยตัวเอง 

เราเริ่มจากการหาแมททีเรียล ใช้เวลาหานานมาก 1 ปีเต็ม ถึงจะได้ผ้าลูกไม้ยืดตามที่ต้องการ จากนั้นเราก็ค่อยหาโรงงานเย็บ ย้อมสี ชิ้นส่วนที่ต้องใช้ ตอนแรกที่เราทำปวดหัวมาก เพราะต้องคุยถึง 12 โรงงาน อย่างน้อยชุดชั้นในต้องมีป้าย ลูกไม้ ตะขอ ซิลค์ และอีกมากมาย แต่ละอันก็ผลิตคนละโรงงาน ยางยืดโรงงานหนึ่ง ลูกไม้โรงงานหนึ่ง ตะขอโรงงานหนึ่ง ตอนแรกเราก็งงทำไมเขาไม่ขายด้วยกัน แต่มันเป็นเพราะเครื่องจักรเขาเป็นแบบนั้นในขั้นตอนการผลิต”

ผ้าไหม แทน ฟองน้ำ

“เราอยากให้ เจ้าหญิงเคท มิดเดิลตัน ได้ใส่ชุดชั้นในลูกไม้ที่มีผ้าไหมไทยของเรา”

ความฝันเล็กๆ  ของเดีย คือการนำเอาความเป็นไทยออกไปสู่สายตาชาวโลก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ชุดชั้นในลูกไม้ของ SYP Intimates เลือกใช้ผ้าไหม แทนที่จะใส่ฟองน้ำ

เราต้องมีคีย์อะไรสักอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่ฝรั่งก็ทำไม่ได้ ไทยก็ไม่เคยมี เราก็เลยมองว่าผ้าไหมเนี่ยแหละ เป็นอะไรที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยสุด” ฌอน กล่าวเสริม

เดียเล่าต่อว่า ตอนแรกเราทำเวอร์ชันผ้ามีไมโครซ้อนข้างใน แล้วมีลูกค้าบางส่วนที่รู้สึกเขินกลัวเห็นจุก แต่เราก็ยังไม่อยากได้ฟองน้ำอยู่ดี เลยหาแมททีเรียลที่มันบาง เข้ากับลูกไม้ได้ และมันยังเป็นของไทยที่ไปที่ไหนมันไม่มีใครแทนได้ ซึ่งก็ตรงกับความตั้งใจในตอนแรกที่อยากทำชุดชั้นในให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

การนำผ้าไหมมาใช้ ถือเป็นการตอบโจทย์สาวๆ ที่ไม่ชอบฟองน้ำอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากแบรนด์มีลูกค้าที่ไม่ชอบใส่ฟองน้ำมากถึง 90% 

ฌอนกล่าวว่า นี่เป็นมุมมองใหม่ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนจนกระทั่งมาทำแบรนด์กับเดีย ถึงรู้ว่าผู้หญิงบางส่วนไม่ชอบการใส่ฟองน้ำ เนื่องจากทำให้รู้สึกอึดอัดและเหนอะหนะ”

จริงๆ  แล้วตัวหน้าอกของเราเป็นไขมัน เมื่อใส่ฟองน้ำดูมมันจะไปเบียดกับไขมัน ซึ่งจะเหมือนมีอะไรมากดทับตลอดเวลา เราเคยถามหมอว่าแล้วจริงๆ มันใส่ได้ไหม หมอบอกว่าใส่ได้ แต่ไม่ควรใส่เกิน 4-6 ชั่วโมง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เวลาออกจากบ้านมันเกินอยู่แล้ว และเราควรมีบราหลายๆ แบบ เพื่อให้หน้าอกผ่อนคลาย ไม่ถูกล็อกแบบเดิมไปตลอด อย่างผู้หญิงบางคนใส่บรานอน ซึ่งจริงๆ ไม่ควรเลย” เดียปิดท้าย

ผู้หญิง 90% ใส่บราผิดไซซ์

ผู้หญิงส่วนใหญ่จะจำไซซ์ที่ตัวเองใส่ แล้วเข้าใจว่ามันไม่มีการขยับเขยื้อน ถึงแม้จะเปลี่ยนแบรนด์ชุดชั้นใน หรือร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง พอซื้อครั้งต่อๆ ไปก็เลยไม่ได้ตรวจเช็กหรือว่าวัดขนาดซ้ำ”

บางคนยังไม่เข้าใจว่าตัวเลขมันหมายถึงอะไร คิดว่าตัวเองตัวเล็กเลยต้องใส่ 32A หรือบางคนตัวเล็กแต่หน้าอกใหญ่เลยใส่ 36 ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะใส่ 32D ก็ได้” เดียกล่าว

ผลของการใส่ชุดชั้นในผิดไซซ์ สังเกตได้จากเนื้อที่ปลิ้นออกมาข้างรักแร้ หรือที่เรียกว่า นมน้อยเกิดจากการใส่ชุดชั้นในไซซ์เล็กที่รัดตัวเราจนเนื้อปลิ้นออกมา ในระยะยาวเนื้อจะกองรวมกันอยู่ตรงนั้นตามความเคยชินของร่างกาย

อาการแรกที่ใส่บราผิดไซซ์มันจะคัน บีบรัด เหมือนใส่กางเกงยีนที่รัดมากๆ แล้วไม่ปลดกระดุม มันก็จะแน่น อึดอัด ซึ่งตรงหน้าอกผู้หญิงมันจะมีท่อน้ำเหลืองและเส้นเลือดต่างๆ มากมาย และถ้าใส่บราแบบมีโครงมันก็ไปกดทับ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เป็นบ่อเกิดที่ไม่ดีหลายอย่างต่อร่างกายในอนาคตได้” เดียกล่าว

เลือกชุดชั้นในที่ถูกต้อง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าตัวเลขและคัพต่างๆ นั้นหมายถึงอะไร การเลือกชุดชั้นในที่เหมาะสมกับตัวเราจะต้องวัดใต้อกและรอบอก ซึ่งตัวเลข 32, 34, 36 คือฐานใต้อก ส่วนคัพ A, B, C และ D คือการเอาค่าที่วัดใต้อกและรอบอกมาคำนวณ

เวลาซื้อชุดชั้นในคนมักจะติดตะขอตัวในสุด ซึ่งจริงๆ แล้วเวลาซื้อเสื้อในครั้งแรกให้ติดตัวสุดท้าย เพราะว่าเวลาซักไปเรื่อยๆ  ผ้ามันจะยืด พอเริ่มยืดเราเขยิบตะขอเข้าไปเรื่อยๆ  แล้วแนะนำว่าให้ซักมือ มันจะอยู่ได้ประมาณ 2 ปี”

การใส่ชุดชั้นในเดียจะเลือกคู่ไปกับเสื้อผ้าข้างนอก เช่น ใส่เสื้อเชิ้ต ก็อาจจะเลือกทรงชุดชั้นในที่เคิร์บต่ำๆ  หรือถ้าใส่เสื้อคอลึกแล้วอยากให้เห็นลูกไม้ ก็เลือกทรงที่เคิร์บสูง สมมติวันนี้เราอารมณ์แบบนี้ก็เลือกสีไปตามอารมณ์ ส่วนการเลือกลูกไม้ เลือกจากลายที่ชอบ แต่แนะนำให้เลือกลูกไม้ยืด มันจะสบายตัวกว่า เพราะถ้าลูกไม้ไม่ยืดมันจะล็อก คือยางมันยืดแต่ลูกไม้ไม่ยืดตาม มันก็ทำให้กลายเป็นยางไม่ยืด สุดท้ายก็ปวดไหล่”

วัฒนธรรมกับการใส่บรา

ด้วยความสนใจชุดชั้นใน ทั้งคู่เลยเริ่มเก็บสะสมชุดชั้นในจากเดินทางไปยังประเทศต่างๆ  ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราววัฒนธรรมของแต่ละชนชาติที่ซ่อนอยู่ภายใต้บรา 

ทางฝั่งยุโรปมีความหลากหลายมากที่สุด มีชุดชั้นในทั้งลายกราฟิก ลูกไม้ดอกเล็ก ดอกใหญ่ สีทูโทน หรือแม้กระทั่งบราที่ไม่มีฟองน้ำ และพวกเขาใส่เป็นเทศกาล อย่างช่วงคริสต์มาสในอิตาลี ทุกร้านจะเป็นชุดชั้นในสีแดง เนื่องจากเขาเชื่อว่าถ้าใส่สีแดงจะโชคดี”

ส่วนประเทศญี่ปุ่น มีเอกลักษณ์ที่การเสริมฟองน้ำ แมททีเรียล สีชุดชั้นใน หรือเครื่องประดับต่างๆ  อย่างเช่น โบว์ มุก ดอกไม้ เนื่องจากวัฒนธรรมของเขาถูกปลูกฝังว่าต้องเก็บความรู้สึก ไม่แสดงออก ดังนั้นผู้หญิงเลยเลือกที่จะไปแสดงออกที่อยู่ข้างในแทน”

แล้ววัฒนธรรมการใส่บราของผู้หญิงไทยเป็นแบบไหน? เราถามกลับ

คนไทยมักจะเลือกใส่บราแบบเรียบๆ หรือใส่อะไรก็ได้ที่ไม่รบกวนเสื้อผ้าข้างนอก อย่างสีเบสิก ดำ ขาว นู้ด เป็นต้น ขณะที่สีแดงหรือสีแรงๆ จะไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะรู้สึกว่าใส่สีนี้แล้วอาจจะดูไม่ดีในสายตาคนอื่น”

บรา (ไม่) ลับ กับมุมมองผู้ชาย

ตลอดการสนทนาอย่างเพลิดเพลิน เจ้าของแบรนด์ทั้งสองได้เปิดมุมมองและมอบความรู้เรื่องชุดชั้นในแบบ

10/10 สมกับชื่อแบรนด์ แต่มาถึงตรงนี้เราก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าชุดชั้นในของผู้หญิงส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ชายยังไง? เราจึงโพล่งถามไปตรงๆ 

การที่ผู้หญิงเลือกชุดชั้นในเป็นการแสดงถึงคาแรกเตอร์ ความมั่นใจของเขาว่าเป็นยังไง บราลูกไม้ สปอร์ตบรา ทีเชิ้ตบรา หรือสีต่างๆ  มันจะบอกถึงคาแรกเตอร์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งบ่งบอกว่าเขาค่อนข้างใส่ใจในการดูแลตัวเอง เพราะถ้าไม่ดูแลตัวเอง คงไม่มาเลือกสิ่งเหล่านี้มาใส่ 

ในมุมผู้ชาย ลูกไม้ให้ความรู้สึกที่เซ็กซี่อยู่แล้ว มันเป็นอะไรที่เกิดมาเพื่อผู้หญิง แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงต้องใส่ชุดชั้นในลูกไม้ทุกวัน ทุกๆ  อย่างมันคือการเลือกใช้ในสิ่งที่ตัวเองสะดวก และมั่นใจที่สุด”

เดียเล่าเสริมว่า ถึงจะเป็นแบรนด์ชุดชั้นใน แต่ลูกค้าผู้ชายเราก็มีเยอะไม่แพ้กัน เคยมีลูกค้าผู้ชายแอบมาซื้อชุดชั้นในเป็นของขวัญให้แฟน เพราะไม่ชอบชุดชั้นในแบบที่แฟนตัวเองใส่อยู่ ส่วนลูกค้าผู้หญิงอีกคนซื้อชุดชั้นสีนู้ดไป แต่สามีบอกว่ามันเบสิกไป สุดท้ายสามีเลยให้เงินมาซื้อใหม่ เอาพวกสีดำ สีแดงไป ทุกวันนี้ทั้งคู่กลายเป็นลูกค้าประจำเราไปเลย

SET UP YOUR MOOD

ในบรรดาเสื้อผ้าที่สวมใส่ ชุดชั้นใน แนบชิดกับร่างกายของเรามากที่สุด 

แน่นอนว่าบราและกางเกงในอาจไม่ใช่ชุดที่เราแต่งไปให้ใครดูในชีวิตประจำวัน จึงไม่แปลกที่หลายคนเลือกโฟกัสกับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มภายนอกมากกว่า แต่เอาเข้าจริงเราอาจไม่ต้องมองข้ามช็อตไปไกลขนาดนั้น เพราะนอกเหนือจากฟังก์ชันการใช้งานที่ออกแบบมาเพื่อซ่อนเร้นส่วนลับของร่างกายจากโลกภายนอก ชุดชั้นในอาจมีความหมายกับโลกภายในของเราได้เช่นกัน 

อยากสายหวานก็ใส่สีชมพู สายดุไปปาร์ตี้ก็สีดำ ปาร์ตี้ธีมล่าสัตว์ก็ใส่ลายเสือ หรือการแมตช์สีชุดชั้นใน ที่บนล่างสีไม่เหมือนกัน เราสามารถดีไซน์ความสวยของเราเองได้ เซตมู้ดตัวเองได้เอง ไม่จำเป็นต้องหุ่นดีมีเสน่ห์ มีซิกแพค ขาเรียว เอวคอด”

คนมักจะคิดว่าเราไม่ได้โชว์ชุดชั้นในเลยใส่อะไรก็ได้ บางคนอาจจะสนใจแต่การแต่งตัวข้างนอก เพราะใส่แล้วมีคนเห็น แต่จริงๆ การใส่ชุดชั้นในเราเห็นเป็นคนแรก มันเป็นอินเนอร์แรก มู้ดแรกของวัน ที่เราใส่แล้วหมุนตัวหน้ากระจกสักทีสองที แล้วรู้สึกวันนี้ฉันสวย พลังใจมันมาจากตรงนั้น เราได้ดูแลตัวเอง ได้สร้างความสุขให้ตัวเอง เหมือนการทาลิปสติก วันนี้โทรมเลยอยากทาสีแดง อะไรก็ได้แต่ปากแดงไว้ก่อน ชุดชั้นในก็เหมือนกัน แล้วมันถูกใส่ก่อนทาลิปเสียอีก” เดียกล่าว

การเลือกใส่ชุดชั้นในที่สวยและตอบโจทย์กับเรา เป็นวิธีง่ายๆ ในการเริ่มหันมาใส่ใจ ดูแลตัวเอง และสร้างความสุขให้ตัวเองจากสิ่งเล็กๆ ที่แม้จะไม่ได้โชว์ให้ใครเห็น แต่เรารับรู้ได้จากภายในจิตใจ นี่คือมุมมองที่เราได้เรียนรู้ตลอดการสนทนาในครั้งนี้