7 หนังชีวิตอบอุ่นชวนน้ำตาซึมบน Netflix ฝีมือ Hirokazu Koreeda ผู้กำกับชื่อดังชาวญี่ปุ่น

7 Min
1493 Views
04 Apr 2023

เวลาล่วงเลยไป จนปีนี้ ฮิโรกาสึ โคเรเอดะ (Hirokazu Koreeda) มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว

นอกจากจะเป็นผู้กำกับดังชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานโด่งดังระดับโลก ฮิโรกาสึ โคเรเอดะ ยังเขียนบท ตัดต่อ และเป็นโปรดิวเซอร์ด้วย เขาเป็นคนขยันทำหนังมาก จึงมีผลงานออกมาให้ได้ติดตามกันแทบทุกปี ทำให้ในปัจจุบัน จำนวนหนังของโคเรเอดะมีมากกว่า 20 เรื่องไปแล้ว ทั้งหนังที่เป็นฟิกชั่นและสารคดี ซึ่งยังไม่นับรวมผลงานทางโทรทัศน์ของเขา และผลงานการโปรดิวซ์อีกมากมาย แถมโคเรเอดะยังได้รับรางวัลด้านภาพยนตร์จำนวนมากอีกด้วย

ผู้กำกับชื่อดังเกิดในปี 1962 ที่โตเกียว เรียนจบจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda University) งานของโคเรเอดะเริ่มจากการทำสารคดีทีวีอย่างต่อเนื่อง ในปี 2014 เขาเปิดโปรดักชันเฮาส์ของตัวเองชื่อ BUN-BUKU หนังของโคเรเอดะโดดเด่นเรื่องการเล่าชีวิตของผู้คนอย่างเนิบนิ่ง เรียบง่าย แต่แยบคาย เต็มไปด้วยการสะท้อนบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ ที่ผลักดันให้ตัวละครต้องตัดสินใจเลือกจัดการกับปัญหาในใจของตัวเอง ขณะที่ก็ต้องใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาต่อไปเรื่อยๆ ผลงานของโคเรเอดะเต็มไปด้วยเสน่ห์ของชิ้นส่วนชีวิตที่ประกอบกันเป็นเรื่องราวที่มีเสน่ห์ชวนค้นหา งานแต่ละชิ้นของเขาอาจทำให้คนดูได้คลี่ยิ้มบางๆ จากความอบอุ่น หรือรู้สึกเซื่องซึม หนักหน่วงในใจ ไปจนถึงได้การร้องไห้เงียบๆ เพราะความเศร้าระคนซาบซึ้งใจ

ตลอด 30 กว่าปีของชีวิตผู้กำกับ ผลงานของโคเรเอดะเป็นงานอันเป็นที่รักของคนดู เป็นขวัญใจนักวิจารณ์หนัง และผลงานหลายๆ ชิ้นงานได้รับรางวัลจากเวทีสำคัญของโลกมาครองมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Venice International Film Festival, San Sebastian International Film Festival, Cannes Film Festival, Japan Academy Prize และรางวัลจากอีกหลายๆ เวทีทั่วโลกที่การันตีฝีมือคุณภาพของโคเรเอดะและในเดือนเมษายนนี้ เรามีข่าวดีมาฝากแฟนๆ หนังของ ฮิโรกาสึ โคเรเอดะ เพราะหนังของเขาจะลงสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มทีเดียว 5 เรื่องรวด รวมกับที่มีอยู่แล้วอีก 2 รวมเป็น 7 เรื่อง แต่จะมีเรื่องไหนกันบ้าง เรารวบรวมทั้งหมดมาให้คุณอ่านที่นี่แล้ว

Like Father, Like Son (2013)
ลูกแท้ๆ คือลูกโดยสายเลือด หรือลูกของคนอื่นที่เราตั้งใจเลี้ยงมากับมือ

หนังแนว Psychological Drama เรื่องนี้ เป็นหนึ่งในหนังที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างระหว่างชนชั้นที่ดีที่สุดของโคเรเอดะ เพราะหนังทำให้เราเห็นถึงระยะห่างทางชนชั้นในสังคมญี่ปุ่น ผ่านการดำเนินเรื่องที่สะท้อนชีวิตของ 2 ครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยและฐานะยากจน ซึ่งทั้งสองครอบครัวต่างก็เลี้ยงลูกชายในแบบฉบับของตัวเอง ทว่าวันหนึ่งกลับได้พบกับความจริงว่า เกิดข้อผิดพลาดช่วงที่คลอดลูกในโรงพยาบาล เพราะพวกเขาถูกสลับตัวเด็ก จนกลายเป็นปมสำคัญของหนัง

ใน ‘Like Father, Like Son’ คนดูจะได้เห็นว่า ฐานะทางสังคมมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดและหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาแตกต่างกันได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ความคิด บุคลิก และลักษณะนิสัย

ขณะเดียวกัน หนังก็เล่นกับประเด็นอ่อนไหวว่า เราจะตัดสินใจรักใครสักคนเพราะอะไร ระหว่างเลือดเนื้อเชื้อไขที่แท้จริง กับความผูกพันที่แนบแน่นแม้ไม่ได้เป็นทายาทของตัวเองเลย ซึ่งโคเรเอดะบอกเล่าได้อย่างชาญฉลาด ท้าทาย เฉียบคม สั่นสะเทือนจิตใจ และน่าประทับใจจนคว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาได้ในที่สุด

Our Little Sister (2015)
พี่น้องคนละแม่ ที่พยายามเชื่อมโยงกันด้วยความทรงจำเกี่ยวกับพ่อผู้ล่วงลับ

แฟนมังงะถูกใจสิ่งนี้ เมื่อโคเรเอดะนำซีรีส์มังงะเรื่อง ‘Umimachi Diary’ ของนักเขียนหญิง อะกิมิ โยชิดะ (Akimi Yoshida) มาสร้างเป็นหนังเรื่อง ‘Our Little Sister’ หนังที่รวมนักแสดงหญิงชั้นแนวหน้าของเกาะญี่ปุ่นไว้มากที่สุดเรื่องหนึ่งของโคเรเอดะ ทั้ง ฮารุกะ อายะเสะ (Haruka Ayase), มาซามิ นากาซาวะ (Masami Nagasawa), คาโฮ (Kaho) และ ซูซุ ฮิโรเสะ (Suzu Hirose) แถมบทบาทน้องสาวคนเล็กของฮิโรเสะ ยังเป็นบทที่ส่งให้เธอเดบิวต์ในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ได้อย่างสวยงาม

Our Little Sister เป็นหนังเกี่ยวกับสามพี่น้องหญิง ที่ต้องต้อนรับน้องสาวคนละแม่มาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน เพราะพ่อของพวกเธอเสียชีวิต หนังดราม่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงรอยร้าวของสถาบันครอบครัวได้อย่างน่าติดตาม ในขณะที่บทบาททางสายเลือดทำให้พวกเธอต้องทำหน้าที่พี่สาว ด้วยการโอบรับและเยียวยาน้องสาวคนสุดท้องที่ไม่เคยสนิทสนมกันให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว หนังเรื่องนี้เล่าประเด็นความผุพังของครอบครัว และการฟื้นฟูความรู้สึกร่วมกันใหม่ได้อย่างละเมียดละไม จนกลายเป็นหนังที่คว้ารางวัลใหญ่บนเวที Japan Academy Prize ได้ทั้งรางวัลภาพยนตร์แห่งปี และรางวัลผู้กำกับแห่งปีในที่สุด

After the Storm (2016)
เมื่อพ่อเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่ไม่เพอร์เฟ็กต์

‘After the Storm’ หนึ่งในผลงานที่ ฮิโรกาสึ โคเรเอดะ กำกับ ตัดต่อ เขียนบท และโปรดิวซ์ด้วยตัวเอง ผู้กำกับรุ่นใหญ่ได้พล็อตหนังเรื่องนี้ในปี 2001 เมื่อเขากลับไปเยี่ยมคุณแม่ที่อาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพังหลังจากพ่อเสียชีวิต โคเรเอดะจึงเริ่มต้นเขียนบทหนังเรื่องนี้ในช่วงฤดูร้อนปี 2013 กลายเป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวของพ่อผู้ชีวิตล้มเหลว และลูกชายของเขาที่ต้องการให้ครอบครัวกลับมาอบอุ่นพร้อมหน้าเหมือนเดิม

จุดเด่นของ After the Storm คือเรื่องราวที่ข้ามเส้นพรมแดนวัฒนธรรม เพราะผู้ชมทั่วโลกน่าจะเข้าถึงประเด็นของหนังได้ร่วมกันไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็น หน้าที่และความรับผิดชอบของพ่อแม่ ในขณะที่พ่อแม่ก็มีปัญหาและภาระส่วนตัวต้องจัดการ รวมถึงประเด็นเรื่องการให้อภัยกันในครอบครัวที่มีความหมายต่อการปลดปมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน ที่สำคัญ After the Storm ยังได้ฉายในเซกชั่น Un Certain Regard ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2016 ด้วย

The Third Murder (2017)
จากครอบครัวผุพังสู่คำถามต่อสังคมว่า ฆาตกรตัวจริงคือใคร

‘The Third Murder’ คือหนังทริลเลอร์ฝีมือโคเรเอดะที่เราไม่ได้เห็นงานแนวนี้ของเขาได้บ่อยนัก

หนังเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของทนายความหนุ่มที่เข้ามาช่วยลูกความ ซึ่งเป็นฆาตกรในคดีการฆ่าเจ้าของกิจการโรงงานอาหารกระป๋อง โดยฆาตกรคนนี้ยอมรับสารภาพทุกอย่างแต่โดยดี ทว่าทนายหนุ่มกลับพบกับความไม่ชอบมาพากลหลายๆ อย่าง เมื่อ Sakie Yamanaka (Suzu Hirose จาก Our Little Sister) ลูกสาวของผู้ตายเข้ามาทำให้สถานการณ์ต่างๆ พลิกผันจนสั่นสะเทือน

The Third Murder มีทั้งประเด็นครอบครัวที่โคเรเอดะถนัดอยู่แล้ว แต่หนังยังขยับมาเล่าในประเด็นสังคมและรัฐ ซึ่งจะทดสอบจิตใจตัวละคร และคนดูอย่างเราว่าจะตัดสินใจเลือกเชื่อข้อมูลชุดไหนบ้าง และทำไมเราถึงเลือกเชื่อข้อมูลชุดนั้น เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบ คุณอาจจะตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมในสังคมว่า แท้จริงแล้วความยุติธรรมมีอยู่จริงหรือไม่

Shoplifters (2018)
ความหมายที่แท้จริงของครอบครัวสมัยใหม่คืออะไรกันแน่

โคเรเอดะเขียนบทเรื่อง ‘Shoplifters’ จากข่าวความยากจนและข่าวการขโมยของในร้านค้า ทั้งยังได้ต่อยอดประเด็นคำถามสำคัญจากผลงานของตัวเองเรื่อง Like Father, Like Son (2013) ที่ทิ้งหัวข้อของคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว ความหมายของครอบครัวคืออะไรกันแน่

จนเกิดเป็นหนังเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งที่อาศัยในโตเกียวอย่างขัดสน ภายใต้ชายคาบ้านหลังเล็กๆ ที่เป็นพื้นที่ชายขอบสีเทาในสังคมแสนเจริญ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ด้วยกันถึง 6 ชีวิต คละทั้งช่วงวัยและช่วงเจเนอเรชั่นที่หลากหลาย มิหนำซ้ำพวกเขายังต้องคอยหลบซ่อนตัว และปกปิดข้อมูลจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้วย

Shoplifters ได้รับรางวัลสูงสุดอย่าง Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 71 ในปี 2018 และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมในเวที Oscars และ Golden Globes

Shoplifters คือหนังที่โคเรเอดะก้าวออกจากหัวข้อครอบครัวแบบเดิมๆ เพราะนำเสนอประเด็นครอบครัวยุคใหม่ที่มาอยู่ร่วมกันโดยไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน ทว่าทุกครอบครัวต่างมีความลับ และความลับของครอบครัวในหนังเรื่องนี้ก็มีพลังแรงกล้ามากพอที่จะกระตุกให้คนดูทั้งหลายสั่นสะเทือนกับคำว่า สถาบันครอบครัว ที่เคยนิยามกันมา

The Truth (2019)
เมื่อลูกสาวพาครอบครัวกลับไปเยี่ยมเยียนคุณแม่จอมอีโก้

‘The Truth’ หรือในชื่อภาษาฝรั่งเศส ‘La Vérité’ หนังแนวดราม่าที่โคเรเอดะได้ร่วมงานกับนักแสดงชั้นนำจากฮอลลีวูดและฝรั่งเศสมากมาย ที่ต่างเข้ามาประชันฝีมือการแสดงร่วมกัน อาทิ แคเธอรีน เดอเนิฟ (Catherine Deneuve), จูเลียต บิโนช (Juliette Binoche), อีธาน ฮอว์ก (Ethan Hawke) และ ลูดิวีน ซานเยร์ (Ludivine Sagnier) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เขาร่วมงานกับทีมต่างชาติ และเป็นหนังภาษาต่างประเทศเรื่องแรกของผู้กำกับรุ่นใหญ่ชาวญี่ปุ่น

ในส่วนของเนื้อเรื่อง โคเรเอดะยังคงมุ่งเน้นไปที่การทำหนังดราม่าเกี่ยวกับครอบครัว The Truth นำเสนอเรื่องราวของลูเมียร์ (จูเลียต บิโนช) นักเขียนบทหนังฮอลลีวูดที่พา แฮงค์ (อีธาน ฮอว์ก) สามีที่ประกอบอาชีพนักแสดงภาพยนตร์เกรดบีและลูกสาวของเธอกลับมาบ้านที่ประเทศฝรั่งเศส และต้องเผชิญกับ เฟเบียง (แคเธอรีน เดอเนิฟ) แม่ผู้เป็นนักแสดงอีโก้จัดและชอบคุยโวโอ้อวดสุดฤทธิ์ หนังจะพาเราไปสำรวจความรู้สึกที่เป็นรอยร้าวระหว่างแม่และลูกสาว รวมถึงปมปัญหาอื่นๆ ของตัวละครแต่ละตัวที่จะทำให้คนดูอบอุ่นน้ำตาซึม

แม้มีภาพลักษณ์ของหนังตะวันตกอย่างมาก แต่เหล่านักวิจารณ์ต่างชื่นชมกันว่า The Truth ของโคเรเอดะยังคงมีจิตวิญญาณแบบตะวันออกอย่างเต็มเปี่ยมไม่เสื่อมคลาย

The Makanai: Cooking for the Maiko House (2023)
แม้ชีวิตไม่ง่ายดายดังฝัน แต่เราจะแสวงหาหนทางของตัวเองต่อไป

‘The Makanai: Cooking for the Maiko House’ ดัดแปลงมาจากมังงะญี่ปุ่นเจ้าของรางวัลมังงะโชเน็นยอดเยี่ยมจาก Shogakukan Manga Awards ครั้งที่ 65 ในชื่อเรื่อง ‘Kiyo in Kyoto: From the Maiko House’ ของ ไอโกะ โกยามะ (Aiko Koyama)

ซึ่ง The Makanai ถือเป็นผลงานชิ้นล่าสุดของโคเรเอดะที่แตกต่างไปจากเพลย์ลิสต์ทั้งหมดที่เรารวบรวมมา เพราะนี่เป็นซีรีส์ขนาด 9 ตอนของผู้กำกับวัย 60 ปี ที่ผลิตและทำโปรดักชั่นออกมาเพื่อสตรีมมิ่ง Netflix โดยแท้

จากการ์ตูนสู่ซีรีส์ The Makanai ซึ่งฉายภาพของสองเด็กสาวเพื่อนสนิทตัวติดหนึบกัน อย่าง Kiyo และ Sumire ที่ตัดสินใจโยกย้ายจากบ้านเกิดในเมืองอาโอโมริไปยังเกียวโตเพื่อตามล่าฝันที่พวกเธอปรารถนาจะเป็นไมโกะมืออาชีพให้ได้ จึงเข้าไปฝึกฝนวิชากันอย่างจริงจังภายใต้ชายคาบ้านหญิงล้วน แต่การเป็นเกโกะ (เกอิชา) และไมโกะไม่ง่ายอย่างที่คิด

ขณะที่สุมิเระฝึกฝนร้องรำทำเพลงและขนบของการเป็นไมโกะได้อย่างดีเยี่ยม คิโยะกลับพบว่า เธอทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรนัก และสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นพรสวรรค์ที่แท้จริงของคิโยะก็คือการทำอาหารให้ทุกคนรับประทานอย่างมีความสุข

นอกจากซีรีส์เรื่องนี้จะดูเพลินได้แบบเรื่อยๆ แล้ว อาหารในเรื่องยังถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างสวยงามยั่วน้ำลาย ใครที่รักผลงานการกำกับของโคเรเอดะ นอกจากจะได้ซึมซาบความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์ ยังน่าจะถูกใจกับการได้เห็นวัฒนธรรมการกินและวัฒนธรรมของเกโกะและไมโกะที่งดงามอ่อนช้อยอีกด้วย

อ้างอิง