แล้วเต่าทะเลล่ะ! ทั้งโลกร้อนและไมโครพลาสติก รุมทำร้าย ‘ไข่น้อง’ จนเพศผู้เสี่ยงสูญพันธุ์
งานวิจัยเก่าก่อนเกี่ยวกับเต่าทะเลนั้นระบุเอาไว้ว่า เพศของเต่าทะเลถูกกำหนดโดยอุณหภูมิของทรายที่ฝังกลบไข่ หากร้อนไม่เกิน 27.7 องศาเซลเซียส ไข่จะฟักเป็นเพศผู้ แต่หากเลขปรอทพุ่งสูงเกิน 31 องศาเซลเซียส ก็จะได้เพศเมียลืมตาออกมาจากไข่
แต่ด้วยแนวโน้มที่โลกร้อนขึ้นจนอุณหภูมิชายหาดร้อนระอุแรง ย่อมทำให้เต่าทะเลในยุคนี้มีโอกาสฟักเป็นเพศเมียค่อนข้างสูง และหากเต่าฟักเป็นเพศผู้น้อยลงเรื่อยๆ ก็อาจกระทบต่อการขยายพันธุ์ จนมีโอกาสถึงขั้นสิ้นเผ่าพันธุ์ในท้ายที่สุด
ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้เต่าทะเลเป็นเพียงภาพจำของสิ่งมีชีวิตจากอดีตที่เหลือเพียงซากในพิพิธภัณฑ์ การลดมลพิษ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน เพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงไปกว่านี้ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
แต่… ในวันนี้ เพียงแค่ลดโลกร้อนอย่างเดียวคงไม่พอ – ตามรายงานของการศึกษาใหม่ ค้นพบว่าไมโครพลาสติกเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้หาดทรายร้อนขึ้น นอกเหนือจากผลพวงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ปุถุชน
การศึกษานี้มีขึ้นบริเวณชายหาดที่ตั้งของห้องปฏิบัติการชายฝั่งและทะเลในฟลอริดา ซึ่งแถบนั้นมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ตามหาดทรายค่อนข้างมาก แต่โจทย์ของปัญหาคราวนี้ไม่ได้อยู่ที่สัตว์ทะเลกินไมโครพลาสติกจนตายเหมือนอย่างเรื่องวันวาน กลับเป็นการค้นพบว่า ยิ่งมีไมโครพลาสติกสะสมปนเปื้อนในชายหาดมากเท่าไหร่ อุณหภูมิชายหาดแถบนั้นจะยิ่งระอุกว่าค่าเฉลี่ยปกติมากเท่านั้น
ความร้อนที่ว่าเกิดขึ้นจากการดูดซับอุณหภูมิผ่านความเข้มข้นของสีพลาสติก ยิ่งพลาสติกมีสีเข้มก็ยิ่งเก็บความร้อนและกระจายไปสู่บริเวณรอบๆ บวกนับเพิ่มความร้อนเข้าไปอีกเกือบ 1 องศาเซลเซียส – เหมือนกับที่เราจะรู้สึกร้อนตอนใส่เสื้อสีดำมากกว่าเวลาใส่เสื้อสีขาว
งานวิจัยนี้ เป็นการตอกย้ำว่าปัญหาไมโครพลาสติกส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตมากกว่าที่เราเคยรู้ มันไม่ใช่แค่เรื่องการสะสมอุดตันอยู่ในร่างกายสัตว์จนอวัยวะทำงานบกพร่อง แต่ยังมีผลต่ออุณหภูมิผืนทรายที่เป็นแหล่งทำรังวางไข่ของเต่าทะเล มีส่วนต่อการกำหนดเพศสภาพ และอาจลามไปถึงการตายของตัวอ่อน เพิ่มภัยคุกคามแก่ชีวิตสัตว์ขึ้นอีกทาง
ข่าวดีเพียงอย่างเดียวของงานวิจัย คือ พื้นที่ศึกษาเป็นจุดที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนหนาแน่นมากกว่าที่อื่นๆ บนโลก ดังนั้น คงการันตีไม่ได้ว่าจุดวางไข่ของเต่าทะเลทุกแห่งจะร้อนเพราะไมโครพลาสติกเหมือนกันหมด
แต่นั่นก็ไม่ใช่วาระที่เราจะวางใจและปล่อยเฉยได้
ตามที่คาดการณ์ในปัจจุบัน เชื่อว่าปริมาณไมโครพลาสติกที่ปะปนในสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มขึ้นกว่าที่เราเคยศึกษาและค้นพบอยู่ตอนนี้ จากแนวโน้มการผลิตพลาสติกที่ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (ไม่นับรวมเรื่องการกำจัดขยะที่ยังมีปัญหาอยู่ทั่วโลก) และขณะเดียวกันการผลิตพลาสติกแต่ละชิ้นก็มีส่วนปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งเร่งให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงตาม
ดังที่กล่าวไป ถ้าไม่อยากให้เรื่องราวของเต่าทะเลในอนาคตเป็นเพียงภาพจำของสิ่งมีชีวิตจากอดีตที่เหลือเพียงซากในพิพิธภัณฑ์ ทั้งเรื่องโลกร้อนและไมโครพลาสติก คือปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยพลัน!
อ้างอิง
- Hotter sand from microplastics could affect sea turtle development https://shorturl.asia/mQTuy