เชื่อว่าเหล่าคอบอล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนๆ สโมสรลิเวอร์พูลน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘สเกาเซอร์’ (scouser) เป็นอย่างดี นั่นเพราะเรามักจะได้ยินคำนี้ผูกโยงอยู่กับนักฟุตบอลอย่าง เจมี คาร์เรเกอร์ (Jamie Carragher), สตีเวน เจอร์ราร์ด (Steven Gerrard) และ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ (Trent Alexander-Arnold) ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่า สเกาเซอร์คือคำที่ใช้เรียกผู้คนที่มาจากเมืองลิเวอร์พูลนั่นเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สเกาเซอร์กลายเป็นคำคุ้นหูของคนไทยเพราะกีฬาฟุตบอลนี่แหละ เราเลยถือโอกาสนี้พาไปหาคำตอบว่า แล้วต้นกำเนิดของคำนี้มันมีความเป็นมายังไง แล้วมันมาเกี่ยวกับเมืองลิเวอร์พูลได้อย่างไรกัน
การจะอธิบายความหมายของสเกาเซอร์จำเป็นต้องย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่ลิเวอร์พูลไม่เพียงจะเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ของอังกฤษเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักเดินเรือจากแถบสแกนดิเนเวียที่เดินทางมาที่เมืองลิเวอร์พูลมากเป็นพิเศษ
แน่นอนว่า นักเดินเรือเหล่านี้ไม่ได้มาตัวเปล่า เพราะพวกเขายังได้หอบเอาสูตรสตูมาจากแถบนอร์เวย์ ซึ่งชื่อของสตูที่ว่าก็คือ ‘Labskause’ นั่นเอง เฟลิซิตี โคลก (Felicity Cloake) นักเขียนเรื่องอาหารแห่ง The Guardian อธิบาย Labskause ว่ามีลักษณะคล้ายกับสตูไอริช เพียงแต่มักจะใช้เนื้อวัวแทนที่จะเป็นเนื้อแกะ ในขณะเดียวกัน ส่วนวัตถุดิบหลักของ Labskause ก็ประกอบด้วยมันฝรั่ง แคร์รอต และหอมใหญ่ ซึ่งจะถูกเคี่ยวรวมกันกับเนื้อเป็นเวลาหลายชั่วโมง
Labskause กลายเป็นอาหารยอดฮิตในเหล่านักเดินเรือและแรงงานในเมืองลิเวอร์พูล ซึ่งในเวลาต่อมา ชื่อของ Labskause ก็ได้ถูกทำให้เป็นอังกฤษ (anglicised) จนกลายเป็นคำว่า Scouse ในความหมายที่อ้างถึงกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับเมนู Labskause หรือก็คือชาวลิเวอร์พูลนั่นเอง ในช่วงหนึ่ง คำว่า Scouse เองก็ถูกรับรู้ว่ามีความหมายไปในทางเหยียด จากการที่เมนู Labskause ถูกมองว่าเป็นเมนูของชนชั้นแรงงานซึ่งจำเป็นต้องกินสตูเนื้อเดิมๆ ซ้ำๆ เพราะไม่มีปัญญาจะไปซื้ออาหารที่ดีกว่ามาประทังชีวิต
ทว่าในเวลาต่อมาก็ได้ปรากฏหลักฐานในหนังสือพิมพ์ The Liverpool Daily Post ฉบับวันที่ 3 มีนาคม 1939 ซึ่งได้มีการพูดถึงความหมายของ Scouse ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ โดยที่ท่อนหนึ่งของเนื้อหากล่าวถึงการใช้ Scouse ในฐานะ ‘ชื่อเล่นของเด็กผู้ชาย’ ที่สะท้อนนัยของการเป็นเด็กที่พึ่งพาตัวเองได้และมีความกล้าบ้าบิ่น (daredevilry) ไปจนถึงวลีอย่าง ‘good scout’ ที่มีความหมายเดียวกับคำว่าโอเค และ ‘cold scout’ ซึ่งสะท้อนนัยของความหดหู่และเฝื่อนปร่า
ถึงตรงนี้บางคนอาจสงสัยว่า แล้วคำว่า Scouse หรือ Scouser ในปัจจุบันยังถือเป็นคำที่สะท้อนนัยของการดูหมิ่นอยู่ไหม สำนักข่าว The Guardian เองก็เคยไปถามคนลิเวอร์พูลว่าเขารู้สึกอย่างไรกับคำนี้ ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทางเดียวกันคือ พวกเขาไม่รู้สึกว่า การถูกเรียกว่าเป็น Scouser เป็นการเหยียดหยามอะไร บางคนถึงขนาดบอกว่า เขาภูมิใจกับการถูกเรียกว่าเป็น Scouser ด้วยซ้ำ
อ้างอิง
- word histories .ORIGIN OF ‘SCOUSE’ (LIVERPUDLIAN). https://bit.ly/41gimzB
- The Guardian. Why are people from Liverpool called scousers? Is it an insulting term or do Liverpudlians refer to themselves as scousers?. https://bit.ly/41gl1Jx