‘เซนต์โย เซนต์ฟรัง เซนต์ดอ เซนต์คาเบรียล’ ว่าด้วยชื่อและที่มา ว่าใครเป็นใคร ในชื่อโรงเรียน ‘ตระกูลเซนต์’ ของกรุงเทพมหานคร

4 Min
574 Views
20 May 2024

หากจะกล่าวถึงโรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพมหานครแล้ว มีจำนวนไม่น้อย ที่ขึ้นต้นดัวยคำว่า ‘เซนต์’ (Saint) ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ หรือ โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ และอื่นๆ จากการเป็นโรงเรียนคาทอลิกที่ให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะผู้เรียนให้เปี่ยมด้วยความรู้ มารยาท และวิชาการ จนทำให้ใครๆ หลายคนพากันส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ ทำให้ที่ผ่านมาชื่อของโรงเรียนตระกูลเซนต์ มักจะถูกเรียกด้วยชื่อย่อสั้นๆ จนติดปาก เช่น เซนต์โยฯ หรือ เซนต์ฟรังฯ 

ดังนั้น วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมารู้จักกับชื่อของโรงเรียนตระกูลเซนต์ในกรุงเทพมหานคร ว่ามีที่มาจาก ‘เซนต์’ หรือ นักบุญท่านไหนบ้าง และแต่ละท่านมีประวัติความเป็นมาอย่างไร (ป.ล. บทความนี้ขอเรียงลำดับโรงเรียนตามปี พ.ศ. ที่ก่อตั้ง)

เรามาเริ่มกันที่แรกที่ ‘เซนต์โยเซฟคอนเวนต์’ โรงเรียนหญิงล้วนย่านสีลม ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2450 โดยคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร (Sœurs de Saint-Paul de Chartres) หรือกลุ่มนักบวชหญิงที่เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในไทยจากฝรั่งเศส สำหรับชื่อของโรงเรียนนี้ ตั้งตาม ‘นักบุญโยเซฟ’ (Saint Joseph) ผู้เป็นพระภัสดา (สามี) ของพระนางมารีย์พรหมจารีย์ และเป็นพ่อเลี้ยงของพระเยซูคริสต์ โดยบทบาทของนักบุญโยเซฟต่อศาสนจักรคาทอลิกนั้น ถือว่ามีมากทีเดียว จากเรื่องราวชีวิตของท่านที่คอยดูแลพระเยซูคริสต์ตั้งแต่เด็กจนโต จนทำให้ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของศาสนจักรคาทอลิก (และกลายเป็นบิดาของศาสนิกชนคาทอลิกไปกลายๆ) ทั้งยังเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา เบลเยียม ออสเตรีย หรือเกาหลีใต้ 

มาต่อกันที่โรงเรียนถัดมา ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนชายล้วนที่มีขื่อเสียงที่สุดในกรุงเทพมหานคร อย่าง ‘เซนต์คาเบรียล’ ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2462 ตั้งอยู่บนถนนสามเสน เขตดุสิต ชื่อของโรงเรียนนี้มาจากชื่อของคณะนักบวชผู้ก่อตั้งโรงเรียนที่ชื่อว่า ‘คณะภราดาเซนต์คาเบรียล’ (Frères de Saint-Gabriel) ซึ่งเป็นคณะนักบวชที่มาจากฝรั่งเศส ก่อตั้งโดยนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต ใน ค.ศ. 1711 (พ.ศ. 2254) ซึ่งชื่อของคณะนั้นก็มาจากนักบุญองค์หนึ่งชื่อว่า ‘เซนต์คาเบรียล’ หรือ ‘อัครเทวดาคาเบรียล’ หนึ่งในเทวทูตสำคัญที่สุดของศาสนาคริสต์ ผู้เป็นคนส่งสารจากพระเจ้ามายังมนุษย์ โดยบทบาทที่สำคัญที่สุดของท่านก็คือ การได้ลงมาแจ้งสารแก่พระแม่มารีย์ที่เมืองนาซาเร็ธว่า พระแม่จะได้รับเลือกเป็นมารดาของพระคริสตเจ้า และในเหตุการณ์นี้ ท่านก็ได้กล่าวทักทายพระนางมารีย์ว่า “ขอวันทาท่านผู้เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน พระเจ้าสถิตกับท่าน”  ซึ่งคำพูดดังกล่าวนี้ก็ได้กลายมาเป็นบทสวด ‘วันทามารีย์’ ที่เด็กนักเรียนในโรงเรียนคาทอลิกต้องสวดกันนั่นเอง

สำหรับโรงเรียนถัดมา หนีไม่พ้นโรงเรียนหญิงล้วนที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กับเซนต์โยเซฟอย่าง ‘เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์’ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2468 บนถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร แห่งประเทศไทย โดยโรงเรียนแห่งนี้ตั้งชื่อตามนักบุญฟรังซิส ซาเวียร์ (Saint Francis Xavier) ซึ่งเป็นนักบุญที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางรากฐานคริสต์ศาสนาในทวีปเอเชีย โดยชีวิตของท่านเรียกได้ว่าเต็มไปด้วยการผจญภัยโลดโผน ผ่านร้อนผ่านหนาวเพื่อนำศาสนาคริสต์ไปเผยแผ่ทั่วโลก 

ท่านถือกำเนิดในตระกูลชั้นสูง ของอาณาจักรนาวาร์ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสเปน) ใน ค.ศ. 1506 (พ.ศ. 2049)  ก่อนจะหันเหชีวิตเข้าสูศาสนาพร้อมกับกลุ่มเพื่อนจำนวนหนึ่ง จนได้ก่อตั้งคณะนักบวชใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า ‘คณะเยซูอิต’ โดยจุดเด่นของคณะ นี้คือการให้ความสำคัญกับการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ก่อนที่ท่านจะเริ่มออกเดินทางไปยังส่วนต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน ซึ่งด้วยความมุ่งมั่นที่จะเผยแผ่ศาสนาเช่นนี้ ทำให้ท่านได้รับยกย่องให้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของการเผยแผ่ศาสนาเลยทีเดียว

ออกจากสามเสน เรามาที่ฝั่งสาทรกันบ้าง สำหรับโรงเรียนเซนต์แถวนี้ก็คือ โรงเรียน ‘เซนต์หลุยส์ศึกษา’ ที่บริหารงานโดยมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาของคณะภคินี เซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร (Sœurs de Saint-Paul de Chartres) สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2501 โดยเป็นโรงเรียนเซนต์ไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ ที่ไม่ใช่โรงเรียนชายหรือหญิงล้วน สำหรับโรงเรียนเซนต์หลุยส์ศึกษานั้น ตั้งชื่อตาม ‘พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ของฝรั่งเศส’ หรือ ‘เซนต์หลุยส์’ (Saint Louis the King) ผู้เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสหนึ่งเดียวที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นนักบุญ เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้เที่ยงธรรมและมีความเมตตาต่อราษฎรเป็นอย่างมาก 

โดยพระองค์นั้นขึ้นชื่อเรื่องพระปรีชาญาณในการตัดสินว่าความให้กับผู้คนทั้งในและนอกประเทศ โดยจะทรงอนุญาตให้ทุกคนเข้าเฝ้าเพื่อทูลขอให้ตัดสินได้ทุกคดี นอกจากนี้ ยังทรงตรากฎหมาย ห้ามมิให้ผู้พิพากษาทุกคนรับของกำนัลใดๆ ทั้งยังทรงให้ความรักแก่คนยากจนและผู้เจ็บป่วยอยู่เสมอ ด้วยการเสด็จออกจากวังไปดูแลผู้ป่วยด้วยตัวเองเป็นประจำ รวมทั้งยังชอบรับประทานอาหารร่วมกับผู้ยากไร้และคนตาบอด เพราะเห็นว่าคนกลุ่มนี้เปรียบเสมือนพระเยซูที่กำลังทนทุกข์ทรมาน นั่นทำให้ความดีของพระองค์เป็นที่โจษขานไปทั่วทวีปยุโรปและแผ่นดินอื่นๆ ทั่วโลก จนกลายเป็นชื่อของสถานที่ต่างๆ มากมาย ทั้งโบสถ์ โรงเรียน โรงพยาบาล หรือแม้แต่สถานีรถไฟฟ้า BTS  

มาถึงโรงเรียนสุดท้าย ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนที่ไม่มีใครไม่รู้จัก อย่าง ‘เซนต์ดอมินิก’ โรงเรียนนี้ตั้งอยู่บนถนนเพชรบุรี แขวงมักกะสัน เป็นโรงเรียนลำดับที่ 7 ในสังกัดคณะซาเลเซียนของคุณพ่อบอสโกแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2504 โดยชื่อของโรงเรียนตั้งตาม ‘นักบุญดอมินิก ซาวีโอ’ (Saint Dominic Savio) นักบุญเด็กชาวอิตาลี ที่เกิดเมื่อ ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) โดยท่านถือเป็นลูกศิษย์ของ ‘นักบุญดอน บอสโก’ ผู้ก่อตั้งคณะซาเลเซียน (ที่โรงเรียนเซนต์ดอมินิกส่งกัดอยู่) สำหรับนักบุญดอมินิกองค์นี้ ถือเป็นนักบุญที่อายุน้อยที่สุดของนิกายโรมันคาทอลิก จากการที่เสียชีวิตในวัยเพียง 14 ปีเท่านั้น 

แต่แม้จะอายุน้อย ท่านกลับได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ ด้วยมีความศรัทธาในศาสนามาแต่เด็ก สามารถจำบทสวดภาวนาต่างๆ ได้ตั้งแต่อายุเพียง 4 ขวบ จนทำให้ท่านเป็นเด็กเรียบร้อย ขยัน ตั้งใจเรียนกว่าเด็กทั่วๆ ไปในวัยเดียวกัน ทำให้ชีวิตของท่านถูกนำมาเป็นโรลโมเดลของเยาวชนทั่วโลกให้ประพฤติปฏิบัติตามนั่นเอง

อ้างอิง