‘อัสสัม มาแตร์ แม่พระฟาติมา วาสุเทวี’ ว่าด้วยชื่อและที่มา ของโรงเรียนคริสต์ ในกรุงเทพฯ ที่มาจาก ‘พระแม่มารีย์’

4 Min
427 Views
29 May 2024

หากจะกล่าวถึงอัตลักษณ์ของโรงเรียนคาทอลิกแล้ว นอกจากส่วนใหญ่จะขึ้นต้นดัวยคำว่า ‘เซนต์’ (Saint) ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘แม่พระ’ หรือมีชื่อเกี่ยวข้องกับ ‘พระนางมารีย์ พรหมจารีย์’ พระมารดาของพระเยซูคริสต์ เนื่องจากสำหรับนิกายโรมันคาทอลิกนั้น พระนางมารีย์ (หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘แม่พระ’) เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาของพระเจ้า และมีบทบาทสำคัญต่อพระเยซูในฐานะ ‘แม่’ ที่คอยเคียงบ่าเคียงไหล่ลูกชายตั้งแต่ตอนเกิดจนถึงถูกตายบนไม้กางเขน ดังนั้น เมื่อชาวคาทอลิกสร้างโรงเรียนสักแห่งขึ้นมา คงไม่มีใครที่จะเหมาะสมไปกว่าพระนางมารีย์ ที่จะถูกนำชื่อมาตั้งเป็นชื่อโรงเรียน และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเด็กๆ ว่า พวกเขาทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างดีจาก พระมารดาของพระเจ้า 

ดังนั้น วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมารู้จักกับชื่อของโรงเรียนคาทอลิกในกรุงเทพมหานคร ที่มีที่มาจาก ‘แม่พระ’ ว่ามีที่ไหนบ้าง และแต่ละชื่อมีบทบาท ที่มาแตกต่างกันอย่างไร (ป.ล. บทความนี้ขอเรียงลำดับโรงเรียนตามปี พ.ศ. ที่ก่อตั้ง และถ้าหากตกหล่นโรงเรียนใดไป ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย)

1. โรงเรียนอัสสัมชัญ

เรามาเริ่มกันที่แรกที่ ‘โรงเรียนอัสสัมชัญ’ บางรัก (Collège de l’Assomption) ที่มีดีกรีเป็นถึงโรงเรียนคาทอลิกชายล้วนแห่งแรกในประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2420 โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ชื่อว่า ‘เอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์’ (Rev. Father Émile August Colombet) ด้วยความใฝ่ฝันที่จะให้เด็กในกรุงเทพฯ ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ

สำหรับชื่อโรงเรียนอัสสัมชัญนั้น มาจากคำว่า 

assumption ที่แปลว่า การยกขึ้น คำนี้มาจากภาษาอังกฤษยุคกลางว่า assumpcioun แปลว่า การยกขึ้นสวรรค์ แล้วการยกขึ้นที่ว่านี้ ก็มาจากเหตุการณ์หนึ่งในช่วงชีวิตของพระนางมารีย์ ที่ชาวคาทอลิกเชื่อว่า พระนางถูกพระเจ้ายกขึ้นไปบนสวรรค์ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณในตอนบั้นปลายชีวิต อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้ตายเหมือนบุคคลธรรมดา หากแต่ถูกพระเจ้ายกขึ้นไปบนสวรรค์ทั้งร่างเลย 

ซึ่งความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่เชื่อกันมาตั้งแต่คริสตชนยุคแรกแล้ว และถูกประกาศลงเป็น 1 ใน 4 หลักความเชื่อเกี่ยวกับแม่พระ ในสมัยพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 จนแพร่หลายไปทั่วโลก ถึงขั้นเกิดเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะมากมาย โดยงานศิลปะที่ทำขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ จะถูกเรียกว่า ‘แม่พระอัสสัมชัญ’ โดยจะเป็นรูปของพระนางมารีย์พรหมจารีย์ชูแขนขึ้นสองข้างไปบนฟ้า และแหงนหน้าขึ้นไปมองยังสวรรค์ โดยมีบรรดาเทวดาทั้งหลายอยู่ใต้เท้า และถ้าใครที่ได้ไปเยือนโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ก็จะได้เห็นรูปปั้นแม่พระในลักษณะนี้ตั้งอยู่ที่หน้าเสาธง เพื่อสื่อถึงชื่อของโรงเรียน และเหตุการณ์ที่แม่พระถูกยกขึ้นสวรรค์นั่นเอง

2. โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

เรามาต่อกันที่โรงเรียนถัดไปกับ ‘โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย’ (Mater Dei School) โรงเรียนหญิงล้วนบนถนนเพลินจิต โรงเรียนแห่งนี้อยู่ในสังกัดคณะอุร์สุลินแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2471 สำหรับชื่อของโรงเรียนนั้นมาจากศัพท์ภาษาละตินว่า ‘Mater Dei’ ซึ่งเป็นสมญานามที่สำคัญที่สุดของพระนางมารีย์ที่แปลว่า ‘พระมารดาของพระเจ้า’ 

สำหรับชื่อนี้ เป็นหนึ่งในชื่อที่เก่าแก่ที่สุดที่คริสตชนใช้เรียกแม่พระ โดยปรากฏหลักฐานการใช้ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 3 และมีประกาศใช้อย่างเป็นทางการโดยสภาเมืองเอเฟซัสใน ค.ศ. 431 (พ.ศ. 974) โดยสภานี้เป็นสภาที่บรรดาพระสังฆราชตัวท็อปของคริสต์ศาสนาในสมัยนั้น จะมาถกมาเถียงกันเพื่อสรุปความเชื่อต่างๆ โดยในนั้นคำว่า พระมารดาพระเจ้า จะถูกเรียกในภาษากรีกว่า ‘เธโอโทคอส’ (Θεοτόκος) ก่อนจะถูกแปลเป็นภาษาละตินว่า มาร์แตเดอี เมื่อศาสนาคริสต์แพร่หลายในอาณาจักรโรมัน

3.โรงเรียนวาสุเทวี

ออกจากเพลินจิต เราย้ายไปฝั่งบางคอแหลมบ้าง ตรงนี้มีโรงเรียนคาทอลิกแห่งหนึ่ง ที่ชื่อไม่เหมือนโรงเรียนคาทอลิกเอาซะเลยอย่าง ‘โรงเรียนวาสุเทวี’ ที่ตั้งอยู่บน ถนนจันทน์ แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม โดยวาสุเทวีนั้นเป็นโรงเรียนเอกชนในสังกัดคณะอุร์สุลิน ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2496 โดย มงคล วังตาล ก่อนที่ต่อมาจะถูกซื้อไปบริหารต่อโดบคณะอุร์สุลินแห่งประเทศไทย สำหรับชื่อวาสุเทวี เป็นการแปลภาษาละตินให้เป็นบาลีสันสกฤต โดยแปลคำว่า ‘Regina Mundi’ (เรจินา มุนดิ) ที่มีความหมายว่า ราชินีแห่งสากลโลก ให้อยู่ในรูป ‘วาสุเทวี’ ที่หมายถึง ราชินีแห่งพื้นพิภพ (วาสุ, พสุ = แผ่นดิน / เทวี = สตรี,ราชินี)  

สำหรับคำว่า Regina Mundi หรือ ราชินีแห่งสากลโลก นี้ ถือเป็นหนึ่งในสมญานามที่พระนางมารีย์ได้รับ โดยมาจากความเชื่อที่ว่า พระเยซูทรงเป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอล และเป็นกษัตริย์แห่งจักรวาล ดังนั้นแม่ของพระองค์ก็ต้องถูกยกย่องว่าเป็นราชินีไปด้วย

4. โรงเรียนแม่พระฟาติมา

มาที่โรงเรียนถัดไปกับ ‘โรงเรียนแม่พระฟาติมา’ โรงเรียนชื่อดังย่านดินแดง ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2500 สำหรับชื่อของโรงเรียนแห่งนี้เกี่ยวข้องกับหนึ่งในเหตุการณ์แม่พระประจักษ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างการประจักษ์ที่ ‘ตำบลฟาติมา’ ประเทศโปรตุเกส เมื่อ พ.ศ. 2460 โดยในครั้งนั้นแม่พระทรงประจักษ์มาให้กับเด็ก 3 คนเห็น ได้แก่ ‘ลูเซีย โดส ซานโตส’ ‘ฌาซิงตา มาร์โต’ และ ‘ฟรังซิสโก มาร์โต’ รวมทั้งสิ้นเป็น 6 ครั้ง เพื่อมอบสารจากพระเจ้าให้มนุษย์หมั่นสวดภาวนา กลับใจ และใช้โทษบาป 

แต่ที่มากไปกว่านั้น ในการประจักษ์ครั้งนี้ แม่พระได้แสดงอัศจรรย์ที่เรียกว่า ‘อัศจรรย์แห่งอาทิตย์’ (Miracle of the Sun) ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2460 โดยทำให้ดวงอาทิตย์ปรากฏลักษณะแปลกประหลาด กลายเป็นสีเงิน และมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ก่อนจะเริ่มเคลื่อนเป็นวงกลมสลับเป็นสีต่างๆ นานนับ 10 นาที โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้น ท่ามกลางฝูงชนกว่า 70,000 คน และสื่อจำนวนมากที่ทำข่าวเรื่องนี้จนการประจักษ์ที่ฟาติมาดังไปทั่วโลก 

5. โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์

และแล้วเราก็มาถึงโรงเรียนสุดท้ายอย่าง ‘โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์’ โรงเรียนชื่อดังย่านบางกะปิ ที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2528 โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิล มีชัย กิจบุญชู ประมุขของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 

สำหรับชื่อ พระมารดานิจจานุเคราะห์ แปลเป็นไทยได้ว่า ‘แม่ผู้คอยช่วยเหลือพวกเราอยู่เสมอ’ โดยชื่อนี้เป็นสมญานามของแม่พระ ที่เกี่ยวข้องกับภาพวาดศักดิ์สิทธิ์ภาพหนึ่งในกรุงคอนสแตนติโนเปิล ของอาณาจักรไบแซนไทน์ สมัยศตวรรษที่ 15 ชื่อว่า โอเดเยตรีอา (Hodegetria) ซึ่งเชื่อกันว่าวาดจากแม่พระองค์จริงสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ทำให้เป็นภาพที่ศักดิ์สิทธิ์มากๆ ชนิดที่ใครมาภาวนาผ่านรูปนี้ ก็จะได้สมปรารถนาทุกรายไป โดยปัจจุบันภาพนี้ประดิษฐานอยู่ที่โบสถ์นักบุญอัลฟอลโซ แห่งลิกูโอริ ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี (กระนั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่า ภาพนี้เป็นของจริงของแท้หรือไม่)

สำหรับตัวภาพนั้น เป็นภาพที่แม่พระกำลังอุ้มพระเยซูไว้ด้วยมือข้างซ้าย และใช้มือข้างขวาชี้นิ้วไปที่พระเยซู มีการตีความมากมายที่ระบุว่า ภาพนี้สื่อถึงสัญญะต่างๆ ในศาสนาคริสต์ อย่างการที่แม่พระชี้นิ้วไปที่พระเยซู คือการบอกว่าลูกของเธอคือผู้ไถ่บาปให้กับมนุษย์ หรือแม้แต่การที่แม่พระมีดวงดาวเหนือศีรษะ หมายความว่า พระนางคือแสงของดวงดาวที่คอยนำทางผู้คนทั้งหลายให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และคอยนำทางให้ไปหาพระเจ้า

อ้างอิง