3 Min

เจาะลึก 5 กลยุทธ์ของ SCGP มุ่งสู่เป้าหมายรายได้ทะลุถึง 1.6 แสนล้าน

3 Min
1139 Views
31 Jan 2023

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรหรือธุรกิจต่าง ๆ ต้องฝ่าฝันกับอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะผลกระทบของวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้ต้องเรียนรู้ เปิดใจ พร้อมปรับตัวทั้งแนวคิด แนวทาง และวิธีการดำเนินงานเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป

หนึ่งในนั้นก็คือ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ‘SCGP’ ที่มุ่งมั่น และพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่ง ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจกำลังกลับมาฟื้นตัว

ขอเล่าก่อนว่า SCGP เป็นผู้นำ ‘ด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาค’ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ ภาชนะบรรจุอาหาร ไปจนถึงวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์

โดยเมื่อไม่นานมานี้ ‘วิชาญ จิตร์ภักดี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออกมาเปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2565 ว่าทาง SCGP มีรายได้จากการขายมากถึง 146,068 ล้านบาท ซึ่ง ‘เพิ่มขึ้น’ 18% จาก ‘การควบรวมกิจการกับพันธมิตรชั้นนำศักยภาพสูง’ และการ ‘ขยายกำลังการผลิต’ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ลองมาดูกันดีกว่าว่า รายได้ของ SCGP ในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ซึ่งแบ่งออกหลัก ๆ ได้ดังนี้

 

  • รายได้จากยอดขายเพิ่มขึ้นจากปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 124,223 ล้านบาท เป็น 146,068 ล้านบาท โดยมีสินค้าประเภทเยื่อและกระดาษ และบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์เพิ่มขึ้น 37 เปอร์เซ็นต์
  • รายได้จากยอดขายทั้งในไทยและต่างประเทศ พบว่า สัดส่วนในไทยลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 43 เปอร์เซ็นต์ เป็น 41 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรายได้จากอินโดนีเซียลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็น 18 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในเวียดนามมียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 13 เปอร์เซ็นต์ เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ อังกฤษและยุโรปมียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 2 เปอร์เซ็นต์เป็น 4 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่ารายได้เกินครึ่งมาจากต่างประเทศที่มีการขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
  • รายได้จากกลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค อาทิ บรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว (FMCG) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีรายได้จากส่วนนี้อยู่ที่ 72% ของยอดขาย เติบโตขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการสินค้ากลุ่มนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่ง SCGP สามารถขยายและรองรับดีมานด์ในปัจจุบันและอนาคต

จะเห็นว่าถึงแม้จะได้รับผลกระทบด้านปริมาณขายลดลงและราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ก็ยังสามารถสะท้อนถึง ‘โมเดลธุรกิจ’ รวมถึง ‘ทิศทางการดำเนินธุรกิจ’ ของ SCGP ที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสามารถยืนหยัดและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งได้

วันนี้ BrandThink จึงขอชวนทุกคนมาร่วมเจาะลึกไปด้วยกันว่า SCGP จะมีกลยุทธ์อะไรบ้าง ที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อมุ่งทะยานไปสู่เป้าหมายสร้างการเติบโตของรายได้สูงถึง 160,000 ล้านบาทภายในปี 2566 นี้ตามที่ตั้งไว้ ไปดูกันเลย!

 

1. การสร้างการเติบโตจากการ M&P และการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

อย่างแรกเลยคือ การมองโอกาสขยายสู่ธุรกิจอื่น ๆ ที่มีศักยภาพสูง โดยมุ่งเน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และผสานความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัทย่อย ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี การขยายฐานลูกค้า และจัดหาวัตถุดิบ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการดำเนินงาน

2. การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

ถัดมาเป็นการสร้างความร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มคุณค่า และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

3. การยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานของทั้งห่วงโซ่อุปทาน

การดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการนำ ‘ระบบอัตโนมัติ’ มาใช้ในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและผลิตผล ตลอดจนการใช้ Data Analytics เพื่อ ‘สร้างความแข็งแกร่ง’ ด้านข้อมูลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

4. การวางแผนบริหารจัดการเชิงรุกเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน

การวางแผนบริหารความเสี่ยงในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น การบริหารจัดการเงินสด และงบประมาณการลงทุน อีกทั้งยังมีการกระจายฐานลูกค้าหลากหลายประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรม ไปจนถึงการมองหาตลาดใหม่ในแถบตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกาใต้

5. ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ESG 4 Plus

นอกจากนี้ มีการตั้งเป้าหมาย และแผนปฏิบัติการอย่างชัดเจน โดยจะเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถรีไซเคิล หรือย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตทั้งหมดในปี 2568 พร้อมทั้งการดำเนินงานตามแผนงาน เพื่อที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 อีกด้วย

นอกจากนี้ ด้วยภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในปี 2566 ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากการที่จีนเริ่มเปิดประเทศ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนดีขึ้น เพราะมีแรงจับจ่ายใช้สอยจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การนำเข้า-ส่งออก ตลอดจนห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กลับสู่สภาวะปกติ

โดยปัจจัยเหล่านี้นี่เอง ที่จะช่วยให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น ท่ามกลางความท้าทายอย่างมากของทาง SCGP เพราะด้วยเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบันที่ผันผวนต่อเนื่อง ทั้งแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และความสามารถในการใช้จ่ายของคนที่ลดลง ทำให้ SCGP ต้องดำเนินงานตามกลยุทธ์ที่ว่ามานี้อย่างระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม ทุกคนต้องมาคอยติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดต่อไป ว่าการเพิ่มนวัตกรรมและโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจรรับเศรษฐกิจฟื้นตัว ที่ยังควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของโลกใบนี้ จะทำให้แนวโน้มทางธุรกิจดีขึ้นมากแค่ไหน

#SCGP #เอสซีจีแพคเกจจิ้ง #อุตสาหกรรม #กลยุทธ์