เงิน 50 บาทในอดีตเราซื้ออะไรได้มากมาย
เงิน 50 บาทในปัจจุบัน เราอาจซื้อก๋วยเตี๋ยวได้แค่ชามเดียว
เงิน 50 บาทในอนาคต เราอาจจะซื้อก๋วยเตี๋ยวไม่ได้เลยสักชาม
สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาการเงินเบื้องต้น เงิน 50 บาทจากในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อาจจะเป็นการยกตัวอย่างคร่าวๆ ที่ทำให้เราเห็นภาพ ‘เงินเฟ้อ’ ได้ดียิ่งขึ้น
เราต่างทราบกันดีว่าเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเมื่อวันเวลาไหลผ่านไปเงินจำนวนเท่าเดิมไม่ได้แปลว่ามันจะมีมูลค่าเท่าเดิมเพราะฉะนั้นก่อนจะรวยได้เรื่องของเงินเฟ้อเป็นอีกปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึง
โดยข้อมูลจาก SET ทำให้เราพอทราบว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ (แต่หลายฝ่ายก็มองว่าตัวเลขนี้มีทิศทางที่ต่ำลง และอาจไม่กลับไปแตะตัวเลขอย่าง 3 เปอร์เซ็นต์อีกต่อไป)
หากมองในอดีต คนรุ่นพ่อรุ่นแม่คงพอนึกออกกับช่วงเวลาที่ ‘เงินฝากธนาคารให้ดอกเบี้ยสูงถึง 13-16 เปอร์เซ็นต์’ ตัวเลขเท่านี้คุณอาจจะไม่ต้องลงทุนอะไรแค่เอาเงินฝากเข้าไปธนาคารเงินก็เติบโตมหาศาลแบบไม่รู้ตัวแต่ด้วยเหตุการณ์ต่างๆตัวเลขนั้นคงไม่มีอีกต่อไป
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จะไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ และถึงแม้จะเป็นโครงการพิเศษก็ไม่ค่อยมีให้เห็นมากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์สักเท่าไหร่นัก ‘จะฝากเงินเพื่อกินดอก’ ก็คงทำไม่ได้ แต่การฝากเงินออมทรัพย์ในปัจจุบันเป็นเหมือน ‘การรักษาเงินต้น’ มากกว่า
การออมเงินในรูปแบบของเงินฝากออมทรัพย์อย่างเดียวเป็นไปได้ยากที่สร้างผลตอบแทนได้มากกว่าเงินเฟ้อ การฝากธนาคารทั่ว ถึงแม้เราจะอุ่นใจว่าเงินเรายังอยู่ และมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่มูลค่าของมันอาจจะลดลง เพราะฉะนั้นถ้าพูดง่ายๆ ถ้าเราอยากทำให้เงินเรามีมูลค่ามากขึ้น เราควรทำให้เงินงอกเงยมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์นั่นเอง
แต่ถ้าถามว่า เราไม่ควรออมเงินเลยไหม? เราไม่ควรฝากเงินแบบออมทรัพย์เลยรึเปล่า? ก็คงไม่ใช่ การออมเงินแบบฝากออมทรัพย์ยังเป็นสิ่งที่สำคัญมากในหลายมิติ การออมเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการบริหารเงิน เป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุน เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย เห็นผลได้ชัด และจับต้องได้จริง
แต่ประเด็นก็คือ การออมเงินแบบฝากออมทรัพย์อย่างเดียวอาจไม่ได้ทำให้เงินงอกเงย แต่การเลือกลงทุนอย่างชาญฉลาด นอกจากจะเป็นการออมไปในตัวแล้ว ยังทำให้มูลค่าเงินเพิ่มขึ้นได้อย่างมหาศาลสำหรับใครที่ไม่พร้อมยอมรับความเสี่ยง การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็ยังสามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำประมาณ 1 – 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นเงินจำนวนมหาศาลแต่ความต่อเนื่องและระยะเวลาการลงทุนคือสิ่งสำคัญที่มากกว่ายิ่งลงทุนไวต่อเนื่องและสม่ำเสมอเราก็ยิ่งได้เปรียบ
เพราะฉะนั้นหาเงินเก่ง ออมเงินเก่ง แล้วอย่าลืมเรียนรู้เรื่องการลงทุนไว้ด้วยนะ อาจจะฟังดูไกลตัว แต่ความรู้เรื่องการเงินเป็นองค์ความรู้สำคัญที่ควรมีไว้ ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร อายุเท่าไหร่ หรือเพศอะไรก็ตาม
ที่สำคัญอย่าลืมแบ่งพอร์ทการเงินให้เหมาะสมแบ่งเป็นเงินออมเงินเพื่อการลงทุนเพื่อการใช้ชีวิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว