4 Min

รู้ไหมทหารพม่า “กดขี่” ชนกลุ่มน้อยมาแสนนาน และหลังรัฐประหาร ยิ่งข่มเหงรุนแรงขึ้น

4 Min
4149 Views
17 Feb 2021

Select Paragraph To Read

  • ชนกลุ่มน้อยผู้ไม่ยอมสยบต่อรัฐบาลพม่า
  • คนกะเหรี่ยงคู่ปรับทหารพม่า
  • การปะทะที่ยังไม่จบ
  • #SaveKarenPeople ข่าวใหญ่ที่ไม่มีใครได้ยิน

พม่าหรือเมียนมาน่าจะเป็นประเทศ “ประชาธิปไตยใหม่” ที่ตอนแรกหลายๆ คนก็คิดว่าทหารจะค่อยๆ ถอยบทบาทไปจากเวทีการเมืองไปเรื่อยๆ หลังการ “เลือกตั้งแบบประชาธิปไตย” ครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่เกิดขึ้นในปี 2010 แต่แล้วทหารก็รัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 และทำให้การต่อสู้กับทหารพม่าของคนพม่าอยู่ในสายตาโลกตอนนี้

อย่างไรก็ดี ถ้าพูดถึงการ “ต่อสู้กับทหารพม่า” แล้ว ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากคงยักไหล่กับการต่อสู้ที่เกิดขึ้น เพราะชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก สู้กับทหารพม่ามาตั้งแต่พม่าเป็นเอกราชจากอังกฤษในปี 1948

ชนกลุ่มน้อยผู้ไม่ยอมสยบต่อรัฐบาลพม่า

แผนที่พม่า ซึ่งหลายรัฐมีชื่อตามกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ เช่น รัฐยะไข่ ก็เป็นถิ่นที่อยู่คนยะไข่ รัฐมอญก็เป็นถิ่นที่อยู่คนมอญ รัฐฉานก็เป็นถิ่นที่อยู่ของคนฉานหรืออีกชื่อคือไทใหญ่ รัฐกะเหรี่ยงก็เป็นถิ่นที่อยู่ของคนกะเหรื่ยง | Wikipedia

ประเทศพม่าหรือเมียนมานั้นมีกลุ่มชาติพันธุ์หลักคือคนพม่าประมาณ 70% นอกจากนั้นยังมีอีกหลายชาติพันธุ์ ซึ่งกลุ่มที่น่าจะคุ้นหูก็เช่น ชาวโรฮิงญา ชาวยะไข่ ชาวมอญ ชาวไทใหญ่ และชาวกะเหรี่ยง

แม้ว่าชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จะเป็น “ชนกลุ่มน้อย” แต่ละกลุ่มนั้นก็มีอยู่ในพม่าเป็นล้านคน ซี่งนี่ก็ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ และโดยทั่วไป คนกลุ่มน้อยเหล่านี้ก็จะอยู่ในรัฐต่างๆ ซึ่งจริงๆ ก็คือพื้นที่ที่คนเหล่านี้อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อนจะเกิดรัฐรวมศูนย์แบบสมัยใหม่

หลังจากพม่าเป็นเอกราชจากอังกฤษ และมีรัฐบาลทหารแบบรวมศูนย์ แน่นอนรัฐก็พยายามจะรวบอำนาจเข้าศูนย์กลางและกำราบคนกลุ่มน้อยท้องถิ่น

ทว่าแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีคนเป็นล้านคน ดังนั้นพวกเขาจึงไม่อยู่เฉยและลุกขึ้นสู้ ด้านกองทัพพม่าจึงต้อง “สู้รบ” กับบรรดากองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยมาตลอดกว่า 70 ปีแล้ว

ถามว่าถ้า “ไม่สู้” จะเกิดอะไรขึ้น ก็ลองดูคน “โรฮิงญา” แล้วกัน นั่นแหละ…ผลของการ “ไม่สู้” กับทหารพม่า ซึ่งหลักๆ ก็คือ จะโดน “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และก็ต้องหนีออกนอกประเทศ ซึ่งจะหนีไปไหนโดยทั่วไปก็ไม่มีใครอยากจะรับ

คนกะเหรี่ยงคู่ปรับทหารพม่า

คนกะเหรี่ยงก็คล้ายชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่สู้กับทหารพม่ามาตั้งแต่ตั้งประเทศ ซึ่งทหารพม่าก็สู้และกดดันคนกะเหรี่ยงให้ออกนอกพื้นที่มาตลอด

ผลก็คือคนกะเหรี่ยงตามชายแดนไทยนี่เอง ส่วนของแผ่นดินพม่าที่ติดกับไทยส่วนใหญ่คือส่วนที่เรียกว่า รัฐกะเหรี่ยง (Kayin) ดังนั้นถ้าทหารพม่ายิ่งรุกไล่คนกะเหรี่ยงเท่าไร คนกะเหรี่ยงก็ยิ่ง “หนีตาย” เข้ามาในพื้นที่ไทยเท่านั้น

ตรงนี้เอาจริงๆ มันก็จะงงๆ ตามประสาพื้นที่ชายแดน เรียกได้ว่าอำนาจรัฐเข้าไม่ถึง ซึ่งถามว่าเมืองไทย “ต้อนรับ” ไหม คือในสมัยก่อนรัฐไทยก็เฉยๆ แต่หลังๆ พอรัฐเริ่มประกาศกฎหมายเกี่ยวกับป่าเพิ่มขึ้น ผลก็คือคนกะเหรี่ยงที่หนีตายจากความขัดแย้งกับทหารพม่ามาอยู่ตรงนั้นก็กลายเป็นผู้บุกรุกป่า

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่คนกะเหรี่ยงแฮปปี้ แต่ก็เรียกได้ว่าดีกว่าการอยู่ในพม่าเยอะ เพราะทหารพม่าโหดกว่ามากๆ แบบเรียกได้ว่าเห็นคนโดนเผาบ้าน ข่มขืน และฆ่าอย่างทารุณอย่างไร ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ก็โดนไม่ได้ต่างกันนั่นแหละ จะเป็นข่าวหรือไม่ก็เท่านั้นเอง

แต่ก็อย่างที่ว่า มันก็มีคนกะเหรี่ยงที่สู้ และเรียกได้ว่ากลุ่มติดอาวุธของคนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดของพม่าคือกลุ่มของคนกะเหรี่ยงนี่แหละ ซึ่งผลก็คือ ทหารพม่าสู้มากกว่า 50 ปี ยังไงก็ปราบไม่ได้

และถามว่าทำไมเขา “สู้” ขนาดนี้ คำตอบก็ง่ายมาก เพราะเขาเห็นแล้วว่าถ้า “ไม่สู้” เขาก็จะตายอย่างทารุณภายใต้น้ำมือทหารพม่า ดังนั้นอยู่เฉยๆ คือตาย เขาเลยสู้

การปะทะที่ยังไม่จบ

ทีนี้ ในปี 2015 มีข้อตกลงหยุดยิงฉบับใหญ่ระดับชาติของพม่า ในช่วงปีนั้นพม่าค่อยๆ เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย “รัฐบาลพลเรือน” ก็แน่นอนว่า “คิดแบบทหาร” น้อยลง คือไม่ได้เอะอะอะไรก็ต้อง “รบให้ชนะ” เพราะอย่างน้อยๆ ทุกๆ กองกำลังติดอาวุธของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ก็สู้กับทหารพม่ามา 50-60 ปี และทหารพม่าก็เอาชนะไม่ได้ ดังนั้นต้องยอมรับแล้วว่า “ทางออก” ใช้แนวการทหารไม่ได้ รัฐบาลพลเรือนก็เลยเจรจาข้อ

ตกลงหยุดยิงระดับประวัติศาสตร์ กับกองกำลังติดอาวุธทั่วพม่า และเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพ ซึ่งผลโดยรวมก็เป็นไปด้วยดี

ถามว่าแล้ว “หน้าตา” ในทางปฏิบัติของพวก “ข้อตกลงหยุดยิง” คืออะไร ถ้ามองจาก “สายตาชาวบ้าน” ง่ายๆ เลยก็คือทหารพม่าออกนอกพื้นที่ ซึ่งในทางจิตวิทยานั้นดีมาก เพราะแทบไม่มีชนกลุ่มน้อยใดๆ ในพม่าจะไม่หลอนถ้ามีทหารอยู่ในพื้นที่ เพราะความโหดของทหารพม่านั้นเลื่องลือมากดังที่เล่า

และถามว่า ไม่มีทหารแล้วอยู่ได้เหรอ? นี่แหละที่คนบ้านเราคงงง แต่คนในหลายพื้นที่ก็ไม่งง คำตอบก็คือ ได้สิครับ คือมันไม่ใช่ไม่มีทหาร แต่ “กองกำลังติดอาวุธ” ของชนกลุ่มน้อยนั่นแหละ ที่มีหน้าที่ของทหาร หรือ “ป้องกันคนมารุกรานพื้นที่” และ “หน้าที่ของทหาร” มีปกติแค่นั้นทั่วไป ไม่ว่าทหารประเทศไหนจะคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ “บริหารประเทศ” ด้วยก็ตาม

อันนี้ก็ต้องเข้าใจอีกว่า หลังจากข้อตกลงหยุดยิงชาวบ้านปกติเขาก็ทำมาหากินอะไรไปตามปกติและ แต่จิตใจเขาสงบ เพราะในพื้นที่เขาไม่มีทหารพม่าที่ไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะฆ่าเขาเมื่อไรมาป้วนเปี้ยน และคนที่ “ทำหน้าที่ทหาร” ก็คือคนของกองกำลังติดอาวุธเชื้อชาติเดียวกัน

แต่ถามว่าเรื่อง “จบ” ง่ายแบบนั้นเลยเหรอ?

ในปี 2018 กองทัพพม่าได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงและส่งทหารไปในพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งผลก็คือมีการปะทะกัน ทำให้คนกะเหรี่ยงกว่า 2,000 คนต้องสูญเสียบ้านและที่อยู่อาศัย ก่อนจะตกลงหยุดยิงได้อีกรอบ

หมอทหารของกองกำลังติดอาวุธคนกะเหรี่ยงตรวจคนกะเหรื่องที่ต้องพลัดถิ่นจากการรุกรานของทหารพม่า | Wikipedia

#SaveKarenPeople ข่าวใหญ่ที่ไม่มีใครได้ยิน

นี่เป็นตัวอย่างความ “ยึกยัก” ของกองทัพพม่า แม้ในยามตัวเองไม่ได้มีอำนาจปกครอง

ซึ่งหลังรัฐประหารล่าสุด เรื่องที่เกิดขึ้นแต่ไม่เป็นข่าวก็คือ รัฐบาลพม่าไม่ได้สู้กับแค่คนพม่า แต่ยังมีการกดขี่เหล่าชนกลุ่มน้อยต่างๆ มากขึ้นด้วย ตามประสาความ “กร่าง” ของทหารหลังยึดอำนาจได้แล้ว (คงจะจินตนาการไม่ยากเท่าไร แค่นึกย้อนไปในช่วงหลังรัฐประหารของไทยรอบที่แล้วก็พอ)

และชนชาติอย่างกะเหรี่ยงก็เลยโดนทหารพม่าข่มเหงอีกครั้ง โดยเรื่องพวกนี้มันไม่ได้อยู่ในสายตาของสื่อกระแสหลักนัก แต่พวก NGO ในพื้นที่จะรู้กัน ซึ่งล่าสุดประเด็นพวกนี้ก็ได้รับการนำเสนอกว้างขึ้นผ่าน “สื่อประชาชน” อย่าง Twitter โดยประเด็นนี้ถูกนำเสนอภายใต้แฮชแท็ก #SaveKarenPeople ซึ่งในหลายครั้ง คนกะเหรี่ยงในพื้นที่เองเลยที่มาเล่าเรื่องว่ามันเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่บ้าง

ซึ่งก็ต้องเน้นว่าเรื่องพวกนี้ “ไม่เป็นข่าว” จริงๆ ไม่มีสื่อสำนักใหญ่เจ้าไหนรายงาน เพราะเรื่องอื่นๆ มันน่าสนใจกว่า แต่ก็นั่นแหละ เรื่องพวกนี้กว่าจะเป็นข่าว กลุ่มคนที่ถูกข่มเหงก็ตายเกลี้ยงแล้ว แบบที่เรียกว่า “เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ได้เต็มปาก

และการให้โลกรับรู้การทำลายล้างที่เปิดขึ้นเงียบๆ พวกนี้แหละที่จะช่วยไม่ให้เกิด “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” อีก