ตำรวจไทยจะว่ายังไง? ถ้าหนึ่งในเงื่อนไขฟื้นสัมพันธ์ ‘ซาอุดีอาระเบีย’ คือรัฐพร้อมรื้อ ‘คดีเพชรซาอุ-ลักพาตัวนักธุรกิจ’
คดีดังระดับโลกที่ทำให้ความสัมพันธ์ ‘ไทย-ซาอุดีอาระเบีย’ ถูกลดระดับมายาวนานกว่า 30 ปี คือ ‘คดีเพชรซาอุ’ ที่อดีตคนงานไทยขโมยเครื่องเพชรของเจ้าชายพระองค์หนึ่งของราชวงศ์ซะอูดและหนีกลับมายังไทยเมื่อปี 1989 ตามด้วยคดีฆาตกรรมนักการทูตและอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีฯ ในไทย แต่ศาลไทยยกฟ้องตำรวจที่ถูกสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องเมื่อปี 2019 โดยบอกว่า ‘หลักฐานไม่เพียงพอ’ ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีฯ ยังไม่ฟื้นคืน แต่ก็มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองขึ้นในซาอุดีอาระเบียช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนในที่สุดนายกฯ ไทยก็ได้รับเชิญไปเยือนซาอุดีฯ ครั้งแรกในรอบกว่า 3 ทศวรรษ โดยไทยบอกว่าจะทบทวนคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเพชรซาอุและการอุ้มฆ่า ถ้าหากว่ามีหลักฐานใหม่ที่หนักแน่นพอ
ก่อนไทยจะถูกซาอุดีอาระเบียลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจจากเหตุขโมยเพชร การไปทำงานที่ ‘ซาอุ’ เคยถูกเปรียบว่าเป็น ‘แหล่งขุดทอง’ ของคนไทย เพราะหลายงานได้รับค่าแรงที่สูงมากพอจะเลี้ยงดูครอบครัวในไทยได้อย่างสบายๆ แม้จะต้องแลกกับการต้องอยู่ไกลบ้านหรือต้องอยู่ในประเทศแตกต่างอย่างมากด้านวัฒนธรรมและสภาพภูมิอากาศ แต่เมื่อเกิดคดีเพชรซาอุขึ้น โควต้าแรงงานไทยถูกระงับ จนแหล่งงานต่างประเทศขนาดใหญ่ของคนไทยหายวับไปกับตา ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของไทยไม่น้อย ขณะที่เอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียในไทยก็ถูกเรียกตัวกลับ เหลือเพียงอุปทูตเท่านั้น
ลำพังแค่คดีขโมยเพชรเชื้อพระวงศ์ก็ดูจะเป็นเรื่องใหญ่พออยู่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในไทยก็ดูจะร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเกิดคดีลอบสังหารนักการทูตซาอุดีอาระเบียในไทย และคดีอุ้มฆ่า ‘โมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี’ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียที่เป็นหนึ่งในเชื้อพระวงศ์และสื่อไทยรายงานว่าเป็นผู้มาตามคดีเพชรในไทย แม้มีการจับกุมตำรวจไทยหลายนายในฐานะผู้เกี่ยวข้องกับคดีลักพาตัวอัลรูไวลี แต่ศาลฎีกาของไทยก็พิพากษายกฟ้องนายตำรวจที่ถูกสอบสวนในคดีนี้เมื่อปี 2019 โดยให้เหตุผลว่า ‘หลักฐานไม่เพียงพอ’
เมื่อมีข่าวว่า ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีไทย ได้รับเชิญจากเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล ซะอูด เจ้าชายรัชทายาทพระองค์ปัจจุบันของซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นเรื่องฮือฮาที่สื่อต่างประเทศจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นรอยเตอร์ส (Reuters) เอพี (AP) หรืออัลจาซีรา (Aljazeera) โดยเอพีรายงานว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีส่วนให้ซาอุดีอาระเบียปรับนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเจ้าชายรัชทายาทซาอุดีฯ พระองค์ปัจจุบัน ที่สื่อตะวันตกเรียกสั้นๆ ว่า MBS ทรงเข้ามามีบทบาททางการเมืองแทนพระบิดา คือ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน อัล ซะอูด กษัตริย์ซาอุดีฯ ซึ่งประชวรต่อเนื่องและต้องพักฟื้นเป็นเวลานาน
ไทยจะได้อะไรจากการเยือนซาอุดีอาระเบียยุคเจ้าฟ้าชาย MBS
เจ้าชาย MBS ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ ‘รุ่นหลาน’ ของกษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ซะอูดที่ได้รับตำแหน่งรัชทายาท จึงถูกเรียกว่าเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ แห่งซาอุดีอาระเบีย เพราะก่อนหน้านี้ผู้ที่เป็นเจ้าชายรัชทายาทและผู้ที่ขึ้นครองราชย์ทั้งหมด 5 พระองค์ ล้วนแต่เป็นพระโอรสของ ‘สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ อิบน์ ซะอูด’ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ซะอูด กับพระราชินีและพระชายาต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 22 พระองค์ แต่การสืบสันตติวงศ์ใน ‘รุ่นลูก’ ของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซะอูดทำได้ยากขึ้นมาก เพราะเจ้าชายทั้งหลายทรงมีพระชนมายุในช่วงวัย ‘บั้นปลาย’ กันเป็นส่วนใหญ่ในขณะนี้ และบางพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ทำให้กษัตริย์พระองค์ปัจจุบันทรงยกตำแหน่งรัชทายาทให้กับพระโอรสองค์เล็กที่เป็น ‘รุ่นหลาน’ ของปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ซะอูด ซึ่งมีพระชนมายุ 36 ชันษาในปัจจุบัน
แต่ก็ใช่ว่าการรับตำแหน่งของเจ้าชายรัชทายาท MBS จะราบรื่นไปเสียทุกอย่าง เพราะตอนที่ได้รับตำแหน่งใหม่ๆ ในปี 2017 ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เนื่องจากเจ้าชายและเชื้อพระวงศ์ที่เป็นชายประมาณ 11 พระองค์ที่มีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย ถูกจับไปอยู่ที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่งเป็นเวลานานหลายวัน โดยทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันการทุจริตคอร์รัปชัน และเจ้าชายหลายพระองค์ยอม ‘เสียค่าปรับ’ เป็นเงินรวมกว่าพันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว และภายหลังเจ้าชาย MBS ก็ออกมาแถลงว่านี่คือส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามการทุจริตของพระองค์ที่ประชาชนควรสนับสนุน
ถ้าจะพูดภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่าเจ้าชายเหล่านั้นก็คือ ‘ลุงๆ อาๆ และญาติๆ’ เจ้าชาย MBS นั่นเอง และจังหวะเวลาการจับกุมเหล่าพระญาติก็ไล่เลี่ยกับช่วงที่พระองค์เพิ่งได้รับตำแหน่งรัชทายาทมาได้ไม่นาน จึงถูกนักวิเคราะห์มองว่านี่คือการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของเจ้าชาย MBS ในฐานะ ‘ผู้มีอำนาจทางการเมืองและความมั่นคงที่แท้จริง’ ของซาอุดีฯ และผู้ที่ขัดขืนหรือเป็นภัยคุกคามจะต้องเจอกับการใช้พลังอำนาจของพระองค์อย่างไม่สนว่าจะเป็นเครือญาติกันหรือไม่ และหลังจากนั้นเจ้าชาย MBS ก็เป็นผู้ผลักดันนโยบายวิสัยทัศน์ประเทศในกรอบเวลากว่า 20 ปี หรือ Vision 2030 เดินหน้ารื้อระบบต่างๆ ในประเทศและสานสัมพันธ์กับต่างชาติอย่างเต็มที่ เพื่อแสดงจุดยืนในฐานะ ‘ผู้นำประเทศ’ แทนพระบิดา (สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน) ที่ทรงมีพระชนมายุ 86 พรรษาในปีนี้แล้ว
เหตุอื้อฉาวอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเจ้าชาย MBS คือพระองค์ถูกพาดพิงในฐานะผู้สั่งการให้ ‘ฆาตกรรม’ จามาล จาช็อกกี (Jamal Khashoggi) ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียที่วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจและหน่วยงานที่ตั้งขึ้นในนามของพระองค์ โดยเรื่องนี้ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เพราะคาช็อกกีถูกสายลับของรัฐบาลซาอุดีฯ สังหารอย่างอุกอาจในขณะที่เขาไปติดต่อสถานกงสุลซาอุดีฯ ที่ประเทศตุรกีเมื่อปี 2018 และกรรมวิธีสังหารก็รวมถึงการวางยาให้เขาง่วงซึมจนไม่สามารถขัดขืนได้ ก่อนจะถูกหั่นชิ้นส่วนในร่างกายใส่กระเป๋าเพื่อเคลื่อนย้ายจากที่เกิดเหตุ และผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติที่รวบรวมข้อเท็จจริงในกรณีนี้ก็ยืนยันว่าการฆาตกรรมคาช็อกกีเป็นสิ่งที่ ‘ทางการซาอุดีอาระเบียมีส่วนรู้เห็น’ และเป็นสิ่งที่เจ้าชาย MBS ต้องรับผิดชอบในฐานะที่พระองค์ทรงมีอำนาจทั้งบริหารประเทศและการดูแลด้านความมั่นคง
การที่พลเอกประยุทธ์ได้รับเชิญจาก ‘เจ้าชายรัชทายาท’ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะในทางปฏิบัติพระองค์ก็ถูกมองว่าเป็น ‘ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองตัวจริง’ ของซาอุดีฯ ยุคนี้อยู่แล้ว ขณะที่สื่อในการกำกับดูแลของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย Saudi Gazette รายงานว่าเมื่อ 25 มกราคม 2022 ว่าผู้นำรัฐบาลไทยแสดงความเสียใจต่อเหตุสลดที่เกิดขึ้นในอดีตที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และบอกว่าไทยพร้อมจะรื้อฟื้นคดีที่เกี่ยวข้องกับซาอุดีฯ ขึ้นมาสอบสวนใหม่ ถ้าหากว่ามีหลักฐานเพิ่มเติมหรือมีหลักฐานใหม่ๆ ที่หนักแน่นเพียงพอ
ส่วนประเด็นที่จะผลักดันต่อไปพร้อมกับการฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ การกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การลงทุนด้านพลังงานและธุรกิจสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยซาอุดีฯ จะแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในเร็วๆ นี้ รวมถึงจะเปิดรับแรงงานฝีมือชาวไทยให้ไปทำงานที่ซาอุดีฯ เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ส่วนสายการบินซาอุดีอาระเบียก็ประกาศว่าจะเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างกรุงริยาดกับกรุงเทพฯ ประมาณเดือนพฤษภาคม 2022 ซึ่งในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อชาวมุสลิมในไทยด้วย เพราะน่าจะช่วยให้การเดินทางไปแสวงบุญที่ซาอุดีฯ มีทางเลือกเพิ่มขึ้น
เพชรสีน้ำเงินที่หายไป อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไปแล้ว
หลังจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองในซาอุดีอาระเบีย คดีเพชรซาอุ อาจไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันมองเห็นความสำคัญอีกต่อไป เพราะถ้าจะไล่เรียงกันจริงๆ เพชรที่ถูกขโมยมานั้นเป็นของ ‘เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด’ พระโอรสของอดีตสมเด็จพระราชาธิบดีฟาฮัดซึ่งครองราชย์ช่วงปี 1982-2005 และเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 5 ของราชวงศ์ซะอูด ขณะที่สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน กษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน ถือเป็นรัชกาลที่ 7 และเป็นพระอนุชาต่างมารดาของอดีตกษัตริย์
ด้วยเหตุนี้ ความเกี่ยวพันของพระองค์กับเจ้าชายไฟซาลผู้เป็นเจ้าของเพชรจึงไม่ได้ใกล้ชิดกันมากนัก และเจ้าชายไฟซาลฯ เองก็สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ปี 1999 แล้วด้วย การตามหาเพชรของอดีตเจ้าชาย จึงอาจไม่ใช่ ‘เรื่องสำคัญ’ ในยุคนี้อีกแล้วก็ได้
ส่วนรายละเอียดคดีเพชรซาอุนั้น ถ้าจะไล่เรียงให้เห็นลำดับความสำคัญและเห็นภาพของการดำเนินคดี ‘แบบไทยๆ’ จนกลายเป็นชนวนลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เริ่มจากที่แรงงานชาวไทย ‘เกรียงไกร เตชะโม่ง’ ขโมยเพชรของเจ้าชายไฟซาลออกจากวังขณะที่พระองค์และครอบครัวเสด็จไปเมืองอื่น ซึ่งเกรียงไกรหนีกลับมายังไทยก่อนหมดสัญญาทำงานราว 2 เดือน และขายเพชรให้กับ ‘สันติ ศรีธนะขัณฑ์’ เจ้าของร้านเพชรในกรุงเทพฯ
ตอนที่ทางการซาอุดีฯ ทวงถามมายังไทย ก็มีการจัดทีมตำรวจตามไปจับกุมเกรียงไกรได้ในเวลาไม่นาน ทำให้เขาถูกตัดสินจำคุก 3 ปี และทางการไทยนำเครื่องเพชรส่งคืนให้กับทางการซาอุดีฯ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ฝั่งซาอุดีฯ บอกว่าเครื่องเพชรเกือบครึ่งที่ถูกส่งคืนนั้นเป็นของปลอม และเพชรสีน้ำเงิน หรือ Blue Diamond น้ำหนักราว 50 กะรัตที่ประเมินค่าไม่ได้ ไม่รวมอยู่ในของกลางที่ถูกส่งคืน จนกลายเป็นเรื่องราวร้าวฉานระหว่างประเทศที่สื่อต่างชาติเรียกว่า Blue Diamond Affair
เรื่องนี้เดือดร้อนถึงตำรวจไทย และ ‘พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ’ หัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวนที่ได้รับมอบหมายในขณะนั้นให้ออกตามล่าหาเพชรสีน้ำเงิน แต่ไปลงเอยด้วยการลักพาตัวภรรยาและลูกชายของสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เจ้าของร้านเพชร เพื่อเรียกค่าไถ่และให้ได้ข้อมูลว่าเพชรสีน้ำเงินหายไปไหนกันแน่ และแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์เสียชีวิต แต่กลับถูกทีมของ พล.ต.ท.ชลอ จัดฉากให้กลายเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ ก่อนจะมีการสืบสวนเพิ่มเติมขยายผลจนพบว่าการตายของแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ “ไม่ใช่การตายโดยปกติ”
หลังจากนั้นยังเกิดเหตุฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบียในประเทศไทย และการหายตัวไปของโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจและเชื้อพระวงศ์ซาอุดีฯ ในปี 1990 โดยมีตำรวจไทยหลายนาย รวมถึง ‘พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม’ ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวพันการลักพาตัวอัลรูไวลี และมีการสั่งฟ้องร้องเป็นคดีในปี 2009 ก่อนคดีจะสิ้นสุดในปี 2019 เมื่อศาลฎีกาไทยพิพากษาให้ ‘ยกฟ้อง’ นายตำรวจผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าการสอบพยานหลักฐานไม่เพียงพอจะเชื่อมโยงกับการกระทำผิด
ระหว่าง ‘เพชรที่หายไป’ กับ ‘การตายที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรมของประชาชนซาอุดี’ เรื่องแรกอาจจะยังมีน้ำหนักอยู่บ้างตรง ‘มูลค่าและคุณค่าอันประเมินไม่ได้’ ของเพชรสีน้ำเงินแต่เรื่องหลัง หากมองในฐานะผู้ปกครองประเทศ น่าจะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่กว่าถ้าต้องการจะสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาในหมู่พลเมืองของตัวเอง
อ้างอิง
- AP. Thai PM arrives in Saudi Arabia, easing diamond heist row. https://bit.ly/35mNbLE
- BBC. Jamal Khashoggi: All you need to know about Saudi journalist’s death. https://bbc.in/3Hf3TKI
- Saudi Gazette. Saudi Arabia, Thailand fully restore diplomatic ties, exchange ambassadors soon. https://bit.ly/3rP7zfN
- Thai Government. ประกาศการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ของนายกรัฐมนตรี วันที่ ๒๕ – ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕. https://bit.ly/346SgH6
- Vice. Assassinations, Curses, and Stolen Jewels: The ‘Blue Diamond Affair’ Is Still Darkening Saudi-Thai Relations. https://bit.ly/3H30sXL