รู้ไหม ซานตาคลอส คือตำนานที่เพิ่งถูกสร้างในอเมริกามาราว 200 ปีนี้เอง

4 Min
1343 Views
11 Oct 2020

จะสิ้นปีแล้วนะครับ ซึ่งตอนปลายปีในประเทศโลกตะวันตกเขาก็มักจะหยุดยาวเลยแบบคริสต์มาสกับปีใหม่พ่วงกัน และในเทศกาลคริสต์มาสกับปีใหม่นี้ก็คงจะเป็นช่วงเดียวของปีที่เราจะให้เห็นคนแต่งตัวเป็น ซานตาคลอส

เราทุกคนคงรู้จัก ซานตาคลอสมาตั้งแต่เด็ก ๆ และก็ไม่แปลกที่เด็ก ๆ เชื่อว่าชายแก่เคราเฟิ้มผู้ใจดีซึ่งใส่ชุดสีแดงผู้นี้มีตัวตนจริง และก็จะมาแจกของขวัญให้เด็ก ๆ ในคืนวันที่ 24 ธันวาคม หรือคืน “คริสต์มาสอีฟ”

คริสต์มาสอีฟ | shutterstock.com

แน่นอนเราโตมา ก็คงไม่เชื่ออีกแล้วว่าซานตาคลอสมีตัวตนจริง ๆ และก็คงจะไม่สนใจเทศกาลคริสต์มาสเท่าไร แต่สำหรับคนที่ขี้สงสัยหน่อย พอรู้มากขึ้นก็อาจงง เพราะเอาจริง ๆ แล้ววันคริสมาสต์ในทางคริสต์ศาสนา มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับซานตาคลอสเลย เพราะวันคริสต์มาสต์คือวันฉลองวันเกิดของพระเยซูคริสต์

นี่ทำให้ชวนสงสัยว่าแล้วแบบนี้ ซานตาคลอสมาจากไหน?

ถ้าจะให้ตอบสั้นที่สุด ซานตาคลอสเป็น “ตำนาน” ที่เกิดในสังคมอเมริกันในช่วงศตวรรษที่ 19 ครับ และที่ทั่วโลกมีซานตาคลอสทุกวันนี้ ก็เกิดจากการเผยแพร่วัฒนธรรมอเมริกันในยุคที่อเมริกาเป็นมหาอำนาจในศตวรรษที่ 20

แต่ถ้าจะถามว่าซานตาคลอสเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในสังคมอเมริกันตอนนั้น เราก็ต้องย้อนทำความเข้าใจประวัติเทศกาลคริสต์มาสในสังคมอเมริกันก่อน

ย้อนกลับไปเมื่อ 200 ปีก่อน เทศกาลคริสต์มาสไม่ได้หน้าตาเหมือนทุกวันนี้ เทศกาลคริสต์มาสไม่ใช่เทศกาลที่มีลักษณะ “ครอบครัว” แบบทุกวันนี้ แต่มันเป็นวันหยุดใหญ่ ที่ผู้ใหญ่มักจะเฉลิมฉลองด้วยการดื่มกิน เรียกกันได้ว่ามันเป็นเทศกาลที่คนจะเมากันหัวราน้ำ ไม่ได้ต่างจากเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ในบ้านเราทุกวันนี้

เทศกาลคริสต์มาสกับครอบครัว | motherdistracted.com

ภาวะแบบนี้ไม่ใช่ภาวะที่พึ่งประสงค์ของหลาย ๆ คน มันก็เลยมีการพยายามจะเปลี่ยนให้วันคริสต์มาสมีลักษณะเป็นวันเทศกาลของครอบครัวมากขึ้น ซึ่งการจะทำแบบนี้มันก็จะต้องมีสตอรี่

A Visit from Saint Nicholas | wordpress.com

นี่เป็นเหตุให้นักเขียนอเมริกันหลาย ๆ คนเริ่ม “แต่งตำนาน” ซานตาคลอสขึ้นมาในศตวรรษที่ 19 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบทกวีที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ โดยตำนานในยุคแรก ๆ ก็จะว่าด้วยนักบุญนิโคลาสใส่ชุดแดงแอบเข้าบ้านทางปล่องไฟเพื่อเอาของขวัญมาให้เด็ก ๆ ในคืนวันก่อนคริสต์มาส ซึ่งตำนานนี้ที่ดังที่สุดคือบทกวีชื่อ A Visit from Saint Nicholas ในปี 1823 ของนักเขียนและนักวิชาการอเมริกันชื่อ Clement Clarke Moore (จริง ๆ ใครเขียนบทกวีนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในโลกวิชาการ แต่ในประวัติศาสตร์ Moore เป็นคนที่อ้างตัวเองว่าเป็นเจ้าของ)

Clement Clarke Moore | wikipedia.org

สิ่งที่น่าสนใจของตำนานนี้ก็คือองค์ประกอบของมันเอาจริง ๆ มันเป็นการ “ยำใหญ่” ตำนานหลาย ๆ ตำนานของโลกตะวันตก เพราะเอาจริง ๆ นักบุญนิโคลัสเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์แต่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 4 โดยภายหลังนักบุญผู้นี้ถือว่าเป็นนักบุญที่เป็นผู้อุปถัมภ์เด็ก ๆ จนทำให้เกิดวันนักบุญนิโคลัสในวันที่ 6 ธันวาคม โดยในยุโรปช่วงยุคกลางวันนี้ก็ถือเป็นเทศกาลที่จะมีการให้ของขวัญกับเด็ก ๆ คล้ายกับวันคริสต์มาสทุกวันนี้ (จริง ๆ คล้ายมาก เพราะการให้ของขวัญจะทำในคืนก่อนวันนักบุญนิโคลัส เหมือนคืนคริสมาสต์อีฟทุกวันนี้)

อย่างไรก็ดี หลังจากมีกระแสการปฏิรูปศาสนาในยุโรปและเกิดศาสนาคริสต์นิกายใหม่ ๆ จำนวนมาก วันนักบุญนิโคลัสก็หายไปจากปฏิทิน เพราะศาสนาคริสต์นิกายใหม่ ๆ นั้นไม่ยอมรับเหล่า “นักบุญ” ของทางศาสนจักร

อเมริกาเป็นประเทศที่เกิดมาพร้อม ๆ กับการปฏิรูปศาสนา ดังนั้นจึงไม่แปลกที่สังคมอเมริกันไม่เคยมีงานเทศกาลในการแจกของขวัญเด็กในวันนักบุญนิโคลัสมาก่อน และในแง่นี้การที่นักเขียน “แต่งเรื่อง” ว่านักบุญนิโคลัสจะมาแจกของขวัญเด็ก ๆ ในคืนวันคริสต์มาสอีฟ มันก็จึงเป็นการเอา “ตำนาน” และ “ตัวละคร” ที่เคยมีอยู่ในอดีตมายำ จนเกิดเรื่องใหม่ ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ก็อาจเรียกว่าเป็น “แฟนฟิค” ก็พอได้

Santa Claus | popsci.com

อ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่า อ้าว ที่เล่ามามันเป็นตำนานของนักบุญนิโคลัสนี่ ไม่ใช่ซานตาคลอส แล้วนักบุญนิโคลัสกลายมาเป็นซานตาคลอสได้อย่างไร?

คำตอบคือ ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 นักเขียนหลาย ๆ คน ก็มีการเขียนเรื่องราวของชายผู้จะเอาของขวัญมาให้เด็ก ๆ ในคืนวันก่อนคริสต์มาส แต่ชายผู้นี้ก็มีชื่อหลากหลาย บ้างก็บอกว่าเป็นนักบุญนิโคลัส บ้างก็เรียก Kris Kringle บ้างก็เรียก Sinterklaas ซึ่งเอามาจากตำนานของชาวดัตช์ โดยชื่อหลังนี้ถูกเรียกเพี้ยนมาในภาษาอังกฤษว่า Santa Claus

นักบุญนิโคลัส | wilipedia.org

พอมาตอนกลาง ๆ ศตวรรษที่ 19 “เรื่องแต่ง” ที่ว่าจะมีชายแก่เครายาวใส่ชุดแดงเอาของขวัญมาให้เด็กในคืนวันก่อนคริสต์มาสก็กลายเป็นเรื่องที่คนอเมริกันรู้จักกันดีแล้ว ซึ่งในตอนนี้มันเกิดฉันทามติพอสมควรในบรรดานักแต่ง “แฟนฟิค” ว่าชายคนนี้มีชื่อว่า “ซานตาคลอส” โดยในช่วงนี้พวกนักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกันก็เริ่มวาดรูป “ซานตาคลอส” ในหน้าตาแบบทุกวันนี้ที่เป็นชายแก่เครายาวร่างท้วมออกมาเป็นครั้งแรก ๆ อย่างไรก็ดี ในยุคแรก ๆ การ “วาดภาพ” ซานตาคลอสก็ไม่ได้หน้าตาแบบทุกวันนี้เสมอไป นักวาดบางคนก็จินตนาการซานตาคลอสออกมาน่ากลัวแบบปีศาจที่จะมาลงโทษเด็กที่นิสัยไม่ดี

อย่างไรก็ดีพอมาถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซานตาคลอสในแบบที่เรารู้จักกันนี้ ที่เป็นชายแก่ใจดีดูเป็นมิตรกับเด็ก ๆ ก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์มาตรฐานของเทศกาลคริสต์มาสไปแล้ว และทั้งห้างสรรพสินค้าและแบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มเอาภาพลักษณ์ของซานตาคลอสมาเพื่อบูสต์ยอดขายในช่วงเทศกาล ซึ่งที่น่าจะโด่งดังที่สุดก็คือ โฆษณาของ Coca Cola ในช่วง 1930’s และมันโด่งดังระดับที่มันเกิด “ตำนาน” เลยว่าจริง ๆ ซานตาคลอสคือสิ่งที่ Coca Cola สร้างขึ้น (ซึ่งก็ไม่จริงนะครับ)

ซานตาคลอส Coca Cola | marketingpops.com

ก็เรียกได้ว่าซานตาคลอสนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกันมานานพอสมควรแล้วก่อนที่อเมริกันจะกลายมาเป็นชาติมหาอำนาจในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งพออเมริกันเป็นมหาอำนาจอเมริกาก็ “ส่งออกวัฒนธรรม” ของตนไปทั่วโลก และวัฒนธรรมหนึ่งที่อเมริกาส่งไปจนกลายเป็นวัฒนธรรมโลกก็คือซานตาคลอสนี่แหละ

นี่แหละครับที่มาของซานตาคลอสที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ซึ่งก็เรียกได้ว่าบรรดานักเขียนอเมริกันที่พยายามจะเปลี่ยน “เทศกาลคริสต์มาส” ให้กลายมาเป็น “เทศกาลครอบครัว” แทน “เทศกาลสำมะเลเทเมา” นั้นประสบความสำเร็จแบบสุด ๆ ไปเลย เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ในอเมริกา แต่ก็น่าจะทั่วโลกแล้วที่ถือว่าเทศกาลคริสต์มาสเป็นเทศกาลครอบครัว

อ้างอิง: