‘ผ้าอนามัย’ ถือเป็นข้าวของสุดแสนจำเป็นสำหรับสุภาพสตรีทั่วโลก
ขณะเดียวกัน ก็เป็นหนึ่งในปัญญาหนักอกหนักใจไปทั้งโลกเช่นกัน ในเรื่องราวหลังวันนั้นของเดือนผ่านไป เมื่อสิ่งของถูกใช้และกลายเป็นขยะไปในที่สุด
และในปีๆ หนึ่งเราทิ้งผ้าอนามัยมากกว่า 12,000 ล้านแผ่น
ซึ่งผ้าอนามัยเป็นขยะย่อยสลายยากเนื่องจากมีส่วนผสมของพลาสติก จะแยกไปรีไซเคิลก็ไม่ได้เพราะมีส่วนผสมของวัสดุอื่นๆ ผสม เช่น เยื่อกระดาษ เจลซึมซับของเหลว และสารอินทรีย์ที่แทรกตัวอยู่ภายใน
จะนำไปเผาเพื่อทำพลังงานก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นขยะที่มีความชื้นสูง
ปลายทางสุดท้ายของผ้าอนามัยจึงทับถมอยู่ในบ่อขยะกลายเป็นขยะติดเชื้อที่ยากจะทำลาย
ไม่นับในบางครั้ง เมื่อการจัดการขยะไม่ดีก็นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา
เช่นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่าผ้าอนามัยใช้แล้วจำนวนมากเกาะตัวปนกับก้อนไขมันขนาดยักษ์อุดตันอยู่ในระบบท่อระบายน้ำ
ขณะที่ชายหาดและมหาสมุทรในทวีปยุโรปมีผ้าอนามัยแบบสอดติดอันดับ top 10 ของขยะที่พบเจอได้บ่อยที่สุด
เป็นต้นว่า เรามีผ้าอนามัยแบบซักได้ออกมาจำหน่าย ใช้เสร็จก็ซัก แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำในเดือนใหม่
หรือบางคนลงมือเย็บด้วยตัวเองก็มี ซึ่งมีขั้นตอน How to ให้ค้นหาศึกษาได้ทั่วอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ ยังมีถ้วยอนามัย (Menstrual Cup) ที่ทำจากซิลิโคนคุณภาพดีสามารถใช้งานซ้ำได้นับสิบปี
นอกจากจะทนทานแล้ว ยังใช้งานแบบเดียวกับใส่ผ้าอนามัยแบบสอด ทำให้สะดวกสบายในการเคลื่อนตัว ไม่เลอะตลอดทั้งวัน และยังเก็บกักประจำเดือนได้นานถึง 12 ชั่วโมง
วิธีทำความสะอาดก็ไม่ยุ่งยาก แค่ล้างด้วยน้ำเปล่าและสบู่ มีเวลาหน่อยก็นำมาต้มในน้ำเดือด ตากให้แห้ง ก็สามารถนำมาใช้ต่อได้เลย
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองตัวอย่างข้างต้น แม้ว่าจะดีต่อโลกและยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า (ไม่ถูกครหาว่ามันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย) แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แม้จะมีผู้หันมาใช้มากขึ้นก็ตาม เนื่องจากหลายๆ คนยังกังขาเรื่องความสะอาดเมื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ
แต่ในที่นี้เรามีทางเลือกอีกอย่างมานำเสนอ และเชื่อว่าจะเป็นอีกทางที่ปลอดภัยทั้งกับผู้ใช้และกับโลก
นั่นก็คือ ผ้าอนามัยแบบย่อยสลายได้
ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ (การันตีว่าย่อยสลายได้ 100%) เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นโดยแบรนด์ Saathi สตาร์ทอัพจากอินเดีย ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสุขอนามัยที่ดีของผู้หญิงอินเดียและสร้างทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน
เหตุที่ผ้าอนามัยแบรนด์ Saathi สามารถย่อยสลายได้ นั่นก็เพราะผลิตขึ้นจากใยกล้วยหรือใยไผ่ซึ่งมีสถานะซึมซับของเหลวได้ดี
นอกจากความสามารถที่ย่อยสลายได้เองในธรรมชาติแล้ว ซึ่งแบรนด์นี้ระบุว่า ใช้เวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น จุดเด่นอีกอย่างของ อนามัยแบรนด์ Saathi วัสดุที่ใช้ผลิตขึ้นจากเหลือจากอุตสาหกรรมอื่นๆ
นั่นหมายความว่า เป็นการลดใช้ทรัพยากรอีกทางหนึ่ง
นอกจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว Saathi ยังเป็นมิตรกับสุขอนามัยของผู้หญิงอินเดีย เนื่องจากผู้หญิงอินเดียที่มีฐานะไม่ดีนักส่วนใหญ่มักจะเย็บผ้าอนามัยใช้เองจากเศษผ้า แต่ไม่สามารถรักษาความสะอาดของผ้าอนามัยใช้ซ้ำได้
ทำให้อาจเกิดปัญหาสุขภาพมากมายตามมา ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งแต่ย่อยสลายได้ที่มีราคาถูกจึงเป็นประโยชน์มาก
Saathi ได้รับรางวัลมากมาย รวมถึง The 100 best inventions 2019 ของนิตยสาร Time อีกด้วย
สำหรับสาวไทยไม่ต้องน้อยใจไปที่เรายังไม่มีผ้าอนามัยแบบนี้จำหน่ายในประเทศ ทั้งนี้ทั้งนั้น Saathi มีบริการจัดส่งสินค้าทั่วโลก สามารถสั่งซื้อได้ที่: https://saathipads.com
แต่หากจะมีแบรนด์ไหน นำแนวคิดนี้ไปใช้และผลิตจำหน่ายเพื่อเพิ่มความหลากหลายก็ไม่น่าจะทำยาก อย่างน้อยเราก็มีต้นแบบดีๆ ให้เอาเยี่ยงและศึกษาเกิดขึ้นแล้ว
นอกจากสาวๆ จะได้สบายใจแล้ว มันยังสบายโลกอีกด้วย
อ้างอิง:
- Vogue, This Girl On A Mission Wants To #EndPeriodPlastic https://bit.ly/34qQJcI
- Vogue, 7 environmentally-friendly sanitary napkins that are also made in India https://bit.ly/3os9p3W
- Time, The 100 best inventions 2019 https://bit.ly/3ktAYHF