5 Min

50 ปี ‘สนามหลวง’ ของคนแต่ละยุค เคยเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมอะไรบ้าง?

5 Min
861 Views
07 Apr 2022

‘สนามหลวง’ อยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง เคยเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ทุ่งพระเมรุ’ มาก่อน และการใช้พื้นที่สนามหลวงก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทำให้คนไทยแต่ละยุคมีความทรงจำเกี่ยวกับกิจกรรมที่สนามหลวงแตกต่างกันไป จนเข้าสู่ยุค ‘ปรับภูมิทัศน์’ ด้วยเหตุผลว่านี่คือแหล่งรวมอาชญากรรม และล่าสุดก็เข้าสู่ยุคที่มีแคมเปญ ‘ทวงคืนสนามหลวง’ เกิดขึ้น 

ประวัติศาสตร์ ‘ทุ่งพระเมรุ’ สู่ยุค ‘ท้องสนามหลวง’

คงไม่ผิดความจริงนัก ถ้าจะบอกว่า ‘สนามหลวง’ คือพื้นที่กลางกรุงซึ่งผูกพันกับประเทศไทยมานาน เพราะสนามหลวงถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ 240 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ยุคที่ไทยยังเป็นประเทศสยามและยังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

อย่างไรก็ดี ช่วงก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใหม่ๆ สนามหลวงถูกสามัญชนเรียกง่ายๆ ว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ เพราะเคยเป็นที่ตั้งพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ในช่วงที่ไม่มีงานพระราชพิธี พื้นที่บริเวณนี้ก็ถูกปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่นี้ปลูกข้าวทำนาหลวง และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานให้ใช้ชื่อใหม่ ‘ท้องสนามหลวง’ เพราะทรงเห็นว่าชื่อทุ่งพระเมรุนั้นฟังดูไม่ดี 

แต่หลังจากยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สนามหลวงก็กลายเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งถูกใช้งานในประเด็นทางสังคมและการเมือง มีการใช้เป็นสนามสำหรับประกาศนโยบายหาเสียง แต่หลังจากนั้นมีความผันผวนทางการเมืองเกิดขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง ทำให้สนามหลวงเองก็ถูกปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานไปตามยุคสมัย

ปัจจุบัน สนามหลวงถูกเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่าเป็น ‘สวนสาธารณะ’ ใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่การใช้งานสนามหลวงในฐานะพื้นที่สาธารณะ (Public space) ของคนทุกกลุ่มก็เปลี่ยนไป และที่ผ่านมา ผู้คนแต่ละยุคสมัยก็มีภาพจำเกี่ยวกับท้องสนามหลวงที่แตกต่างกัน

กิจกรรมหลากหลายในรอบ 50 ปีบนท้องสนามหลวง

ทศวรรษ 1980 

นับตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา สนามหลวงเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ตลาดนัดหนังสือ’ เพราะเป็นพื้นที่ขายหนังสือเก่าและใหม่ ตำราวิชาการ นิตยสารต่างประเทศ หนังสืองานศพ หนังสือต้องห้าม และหนังสือหายากอื่นๆ 

ตอนที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็พบข้อมูลเป็นภาพข่าวบ่งชี้ว่าผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตถูกนำร่างไปแขวนกับต้นมะขามที่สนามหลวง ทำให้ที่นี่เป็นหนึ่งใน ‘ที่เกิดเหตุ’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการต่อสู้เรียกร้องของนักศึกษาและประชาชนในยุคนั้นด้วย จนกระทั่งหน่วยงานรัฐประกาศให้ย้ายแผงขายหนังสือไปที่สวนจตุจักรในปี 2528 

หลังจากนั้น ที่ว่างตามแนวต้นมะขามซึ่งถูกปลูกรอบสนามหลวงก็กลายเป็นพื้นที่ประกอบธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ของผู้ค้าขายรายย่อย รวมถึงหมอนวดแผนไทย และรถเข็นขายอาหาร โดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นคนที่มาออกกำลังกายหรือรอรถสาธารณะบริเวณสนามหลวง จึงอาจกล่าวได้ว่ายุคทศวรรษ 1980 ที่อิงกับการนับปีแบบตะวันตกคือยุคที่สนามหลวงถูกใช้ในการทำมาหากิน ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะทางเศรษฐกิจสำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยของสังคม

ทศวรรษ 1990

ตรงกับปี 2533-2543 สนามหลวงเป็นพื้นที่จัดงานทั้งที่เป็นสันทนาการระดับประเทศและนานาชาติหลายกิจกรรม แต่ที่เป็นไฮไลต์และคนจำได้แม่นคือเทศกาลว่าวนานาชาติประจำปี เพราะแต่เดิมสนามหลวงก็เป็นพื้นที่ที่คนนิยมไปเล่นว่าวกันอยู่แล้ว แต่มีการต่อยอดด้วยการเชิญให้นักเล่นว่าวจากต่างประเทศมาเข้าร่วมด้วย

ทศวรรษ 2000 

ช่วงปี 2543-2553 นอกจากสนามหลวงจะถูกใช้เป็นที่จัดกิจกรรมสันทนาการและเทศกาลว่าวนานาชาติแล้ว ในช่วงปลายของทศวรรษยังได้กลายเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งรวมตัวเพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ด้วยข้อหาทุจริต และการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2548 จนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุคหลังรัฐประหาร ทำให้เกิดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้ง และภายหลังก็กลายเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในยุคหลังจากนั้น และมีการรวมตัวที่สนามหลวงเป็นบางครั้ง 

ทศวรรษ 2010 

ปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ที่เป็นรัฐบาลเชื่อมโยงกับพรรคไทยรักไทย ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ออกคำสั่ง ‘ปรับภูมิทัศน์’ ท้องสนามหลวง โดยให้พ่อค้าแม่ค้าเคลื่อนย้ายเต็นท์ขายของออกจากพื้นที่สนามหลวง รวมถึงนำกรงขนาดใหญ่มาดักจับนกพิราบเพื่อควบคุมโรคและป้องกันการติดเชื้อโรคที่ติดมากับนกพิราบ

อย่างไรก็ดี มีผู้วิจารณ์เช่นกันว่านโยบายนี้มีเป้าหมายข้างเคียงคือ ‘ห้ามการชุมนุม’ ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มองว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ขึ้นสู่อำนาจโดยไม่ชอบธรรม และเรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ สนามหลวงจึงถูกตั้งรั้วกั้นไม่ให้คนเข้าไปใช้งาน ต่างจากช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ 

สนามหลวงเปิดให้ใช้งานอีกครั้งในปี 2554 แต่ไม่ได้เปิดให้คนใช้งาน 24 ชั่วโมงเหมือนเดิม โดยเปิดให้เข้าไปใช้ได้แค่ 05.00-22.00 น. เท่านั้น ทั้งยังห้ามให้ขายของและกีดกันคนไร้บ้านไม่ให้เข้าใช้พื้นที่ เพราะรัฐบาลระบุว่าเพื่อป้องกัน ‘อาชญากรรม’

และในเดือนพฤศจิกายน 2559 – ตุลาคม 2560 สนามหลวงเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย 

ทศวรรษ 2020 

นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา หน่วยงานรัฐบาลในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ประกาศว่า ท้องสนามหลวงจัดกิจกรรมได้ 4 ประเภทเท่านั้น คือ 1. จัดงานพระราชพิธี 2. จัดงานพิธี 3. จัดงานประจำปี และ 4. จัดงานหรือกิจกรรมของหน่วยงานราชการ ทั้งยังให้คงนโยบายล้อมรั้วสนามหลวง และจำกัดการใช้บริการตามที่เคยเป็นมาในสมัยอดีตรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เมื่อมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ที่สนามหลวงในเดือนกันยายน 2563 ทำให้ผู้จัดและผู้ร่วมชุมนุมถูกจับกุมและดำเนินคดีหลายราย โดยมีการระบุว่าเป็นการชุมนุมในเขตพระราชฐาน 

ล่าสุด วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ประจำปี 2565 รณรงค์นโยบายทวงคืนสนามหลวงให้เป็นของประชาชน โดยมองว่าการปิดกั้นพื้นที่สนามหลวง ทำให้พื้นที่ทางเท้าที่ประชาชนใช้สัญจรหดแคบลงไปด้วย ทำให้คนเดินเท้าต้องลงไปเดินบนถนน ซึ่งเป็นอันตราย

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังระบุผ่านเฟซบุ๊คว่า สนามหลวงในความทรงจำของเขา คือตลาดนัด คือที่พักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัว และหลายครั้งเป็นที่ชุมนุมทางการเมืองของหลากหลายกลุ่ม แต่จู่ๆ ก็เกิดการกั้นรั้ว และออกกฎระเบียบห้ามใช้สนามหลวงทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและห้ามชุมนุมทางการเมืองโดยเด็ดขาด จนเป็นสาเหตุให้ต้องทวงคืนพื้นที่สาธารณะให้ประชาชน

“ผมไม่เข้าใจเลยว่า สนามหลวงที่ถึงกับเคยให้รถทัวร์รับนักท่องเที่ยวจอดได้ แต่คนจะเข้าไปนั่ง ไปนอน ไปเล่นว่าว ไปดูดวง ไปไฮด์ปาร์ค ไปทำกิจกรรมเสวนาทางการเมือง ไปเปิดสภากาแฟ ตำหนิรัฐบาล ตำหนิฝ่ายค้านไม่ได้ ทำไมเราจะเปิดเสรีภาพตรงนั้นไม่ได้”

แคมเปญนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นแย้ง โดยฝ่ายหลังระบุว่าการป้องกันพื้นที่สนามหลวงช่วยลดอาชญากรรมได้ แต่ฝ่ายที่เห็นด้วยกับวิโรจน์ก็มองว่าการใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงควรเป็นประโยชน์กับประชาชนหลากหลายกลุ่มกว่านี้ เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง

อ้างอิง

  • ศูนย์สารสนเทศกรุงเทพมหานคร. การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี. https://bit.ly/3qPSWZV
  • Koompong Noobanjong/Messy Urbanism: Understanding the “Other” Cities of Asia (2016). The Royal Field (Sanam Luang)-Bangkok’s Polysemic Urban Palimpsest. https://bit.ly/3IYwrs3
  • Sarakadee Lite. สนามหลวง อดีตตลาดนัดหนังสือแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย. https://bit.ly/3iSMYmL
  • Facebook/Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร. สนามหลวงต้องเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคน. https://bit.ly/3DscYyY
  • Tourism Thailand. Sanam Luang. https://bit.ly/3JYAIwV
  • UN Habitat. Public Space. https://bit.ly/3iWoYiA