ถ้าใครชอบอ่านข่าวแนวไลฟ์สไตล์ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ก็น่าจะคุ้นว่าเวลาเขาเทียบ ‘salary’ ในอาชีพต่างๆ โดยทั่วไปเขาจะนับเป็น ‘เงินปี’ หรือ ‘รายได้ทั้งปี’ เสมอ หรือพูดง่ายๆ salary ไม่ได้มีความหมายว่า ‘เงินเดือน’ ตามนิยามของ salary เพราะมันคือเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างในช่วงเวลาที่กำหนดซึ่งช่วงเวลาทั่วๆไปมักจะนับกันเป็นปีเลย
ดังนั้นเวลาเราอ่านพวกบทความภาษาอังกฤษแล้วพูดถึง salary เฉยๆ นั่นแปลว่าเขาพูดถึงเงินรายรับทั้งปี ซึ่งถ้าจะพูดถึง ‘เงินเดือน’ มันจะต้องมีคำว่า monthly เป็นตัวขยายหน้า salary หรือพูดอีกแบบสำหรับตะวันตก คอนเซ็ปต์ ‘เงินปี’ มันมาก่อน ‘เงินเดือน’ นั่นเอง
แน่นอน เวลาคนไทยพูดถึงรายได้จะพูดเป็น ‘เงินเดือน’ แล้วทำไมเราถึงไม่ใช้ เงินปี อย่างเขา? คำตอบอยู่ที่ระบบการจ่ายเงินเดือนพนักงานที่ต่างกัน
โดยทั่วไประบบจ่ายเงินเดือนพนักงานมี 4 แบบ แบบที่ 1 คือจ่ายเงินเดือนตามวันที่กำหนดของเดือนทุกเดือน แบบที่ 2 คือจ่ายเงินเดือนเดือนละ 2 รอบ ตามวันที่กำหนด (อาจเป็นวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน เป็นต้น) แบบที่ 3 คือจ่าย 2 สัปดาห์ต่อหนึ่งครั้งในวันที่กำหนดในสัปดาห์ (เช่นจ่ายเงินเดือนวันศุกร์เว้นศุกร์ วนไปเรื่อยๆ) และแบบสุดท้ายคือ จ่ายสัปดาห์ละครั้ง ในวันที่กำหนด เช่นจ่ายทุกวันศุกร์
แน่นอนคนไทยจะชินกับแบบที่ 1 ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะมันเป็นรูปแบบการจ่ายเงินลูกจ้างที่แพร่หลายสุดในเอเชีย ระดับที่เป็นมาตรฐานสำหรับทุกสาขาอาชีพ อย่างไรก็ดี การจ่ายแบบต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ ในโลกก็จะแตกต่างกันไปตามอาชีพ เช่น ในบางประเทศ อาชีพระดับล่างก็จะได้ค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ แต่อาชีพระดับสูงก็จะได้เป็น ‘เงินเดือน’
ในบางโซนเช่นในอเมริกาเหนือ อย่างอเมริกาและแคนาดา รวมถึงอังกฤษ วิธีการจ่ายเงินลูกจ้างที่ฮิตสุดคือแบบ 2 สัปดาห์ครั้ง ซึ่งคือแบบ ที่ 3 ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งในภาษาอังกฤษจะเรียกการจ่ายเงินลูกจ้างแบบนี้ว่า Biweekly ซึ่งผลก็คือ ปีๆ หนึ่งลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างปีละ 26 ครั้ง เนื่องจาก 1 ปีนั้นมีทั้งหมด 52 สัปดาห์
และนี่เองที่ทำให้เวลาพูดถึงรายได้ในอเมริกา เขาจะไม่พูดถึง ‘เงินเดือน’ หรือคำว่า ‘เงินเดือน’ ไม่มีในสารบบการพูดถึงค่าจ้างในอเมริกา เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับเป็น ‘รายเดือน’ แต่ได้เงินแบบ 2 สัปดาห์ครั้ง แบบที่ว่านี้เอง
แน่นอน ใครวางแผนรายจ่ายเป็นรายเดือนจนชิน ไปเจอระบบนี้เข้าไปคงงงแน่ๆ แต่ในความเป็นจริง ระบบแบบนี้ว่ากันว่าทำให้วางแผนง่าย ไม่มีภาวะ ‘สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ’ แบบเดือนไหนยาวๆ ก็แทบตายเพราะใช้เงินหมดไปแล้วตั้งแต่กลางเดือน เพราะระบบจ่ายค่าแรงแบบนี้ เงินหมดไป รออีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ก็ได้เงินรอบใหม่
และเขาก็ยังบอกอีกว่า การทำแบบนี้มันก็จะกระตุ้นให้คนทำ ‘OT’ หรือทำงานล่วงเวลา มากขึ้น เพราะถ้าคุณเงินหมด คุณก็เร่งทำ OT เพื่อให้เงินทำ OT ของคุณเข้าในรอบจ่ายรอบหน้า ซึ่งพูดง่ายๆ ระบบที่จ่ายเงินคนเร็วๆ มันเป็นจิตวิทยาให้คนทำงานหนักทำงานเพิ่มได้อีก (อันนี้ก็ทั่วไป เราย่อมอยากทำงานกับคนที่จ่ายเงินให้เราเร็วอยู่แล้ว)
ซึ่งระบบแบบนี้ จริงๆ มันก็สะท้อนถึงกฎหมายแรงงานที่แข็งแรงด้วย เพราะทั่วๆ ไปในโลก ในสัญญาจ้างของลูกจ้างปกติ การทำงานต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และพอจ่ายเงินตัดเป็นสัปดาห์เป๊ะๆ ค่าจ้างมันก็จะสะท้อนมาในนั้นแบบคิดเป็นเรตแบบรายชั่วโมงได้เลย ซึ่งพอคิดได้แบบนี้ มันก็จะคำนวณค่าจ้าง OT ขั้นต่ำได้ตามที่กฎหมายกำหนดเป๊ะๆ (มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งทั่วๆ ไปการได้ค่าแรงรายชั่วโมงเพิ่ม 50 เปอร์เซ็นต์ ก็เรื่องปกติมาก) ซึ่งอะไรพวกนี้ต่างจากระบบ ‘เงินเดือน’ เพราะในเดือนที่ยาวไม่เท่ากัน เราก็ทำงานไม่เท่ากัน แต่ได้ค่าจ้างเท่ากันทุกเดือน เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี ในหลายประเทศ ระบบ ‘เงินราย 2 สัปดาห์’ และ ‘เงินเดือน’ ก็ใช้ไปพร้อมๆ กัน แล้วแต่บริษัท ซึ่งแบบนี้ถ้าจะเทียบเป็นรายได้ มันไม่สามารถแปลงหน่วยเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างเท่ากัน เขาเลยนิยมบอกรายได้เป็นรายปีเลย เพราะมันจะใกล้เคียงกันมากกว่าการที่จะให้คนเทียบรายได้ระหว่างงานที่ต้องเอา ‘เงินราย 2 สัปดาห์’ ไปคูณ 26 แล้ว ‘เงินเดือน’ ไปคูณ 12 ซึ่งการบอกเป็นรายปีก็คือการจับคูณเข้าไปให้คนที่กำลังหางานอยู่สามารถเปรียบเทียบรายได้ระหว่างงานต่างๆ ในมาตรฐานเดียวกันนั่นเอง
สุดท้าย การที่ salary ในความหมายทั่วไปในโลกตะวันตกหมายถึง ‘เงินปี’ นั้นก็มีประโยชน์มากๆ ในการช่วย ‘คำนวณภาษี’ เพราะอย่างที่รู้กัน ในโลกตะวันตก คนยิ่งรายได้เยอะ ยิ่งโดนภาษีสูงและเราไม่สามารถคำนวณเงินที่เราจะเอามาใช้ได้จริงๆ เลย ถ้าเราดูแค่เงินเดือน แต่ไม่ดูว่าภาษีที่เราจะจ่ายคือเท่าไร ซึ่งในระบบการบอก ‘เงินปี’ คือบอกปุ๊บมันจะทำให้เราเห็นขั้นภาษีคร่าวๆ เลยว่าเท่าไร และทำให้ได้เห็นจำนวนเงินที่แท้จริงในส่วนที่เราจะเอามาใช้จ่ายได้นั่นเอง
อ้างอิง
- Wikijob. Biweekly Pay. http://bit.ly/3RQ8toQ
- Cloudpay. Pay Frequency Around the World. http://bit.ly/3DSzMJp