“โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน สื่อเปลี่ยน” คุยกับ ‘ดร.ธนกร ศรีสุขใส’ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ถึงนาทีนี้ ประเด็นที่ว่า ‘สื่อ’ ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกนั้นคงไม่ต้องหยิบขึ้นมาถกเถียงกันอีกแล้ว เพราะในเมื่อสื่อยึดโยงกับคน แล้วโลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน สื่อก็ต้องเปลี่ยนตาม
แต่สื่อต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางไหน และในยุคที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ล่ะ เราควรรับรู้ทำความเข้าใจอย่างไร – คำถามเหล่านี้เองที่ยังคงเป็นวาระพูดถึงในปัจจุบัน และยังเป็นความสงสัยที่ทำให้เรามา
สนทนากับ ‘ดร.ธนกร ศรีสุขใส’ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วย
ในมุมมองของส่วนกลาง เขาคิดอย่างไรกับวาระข้างต้นบ้าง และในฐานะของตัวแทนองค์กร กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีที่มาที่ไปและเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านตรงนี้อย่างไร
นี่คือสิ่งที่เราถาม และบรรทัดถัดจากนี้คือสิ่งที่ ดร.ธนกร ตอบ
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจแบบใด
ต้องเท้าความก่อนว่ากองทุนพัฒนาสื่อฯ เกิดจากการที่ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญว่าสื่อมีบทบาทต่อสังคมขนาดไหน เรามองเห็นว่าสื่อสามารถสร้างทั้งผลกระทบเชิงลบและเชิงบวกได้ ดังนั้นคำถามคือทำอย่างไรล่ะ ที่รัฐจะสามารถเข้าไปมีส่วนทำให้เกิดผลทางบวกมากกว่าทางลบ นี่คือหลักคิดเริ่มต้นง่าย ๆ จนทำให้เกิดองค์กรขึ้นมา
ทีนี้พอตั้งต้นด้วยความคิดดังกล่าว แล้วถ้าลองหันมามองความจริงเกี่ยวกับสื่อตอนนี้ เราจะพบว่าคุณภาพของหลายสื่อนั้นกำลังเกิดเครื่องหมายคำถาม ไม่ว่าจะสื่อของรัฐที่ต่อให้มีข้อมูลแน่น แต่การนำเสนอก็ราบเรียบ เชย ๆ จนคนดูน้อยมาก หรือสื่อจากภาคเอกชนที่คนดูเยอะ แต่บางทีก็ลืมเรื่องความเหมาะสมของเนื้อหา ดังนั้นการปล่อยให้สื่อเป็นไปตามกลไกตลาด ภาครัฐเลยมองเห็นว่ามันยากมากที่จะทำให้เกิดสื่อที่เหมาะสมในเวลาอันสั้น เราเลยตั้งใจสร้างกลไกใหม่เพื่อทำงานกับสื่อโดยตรง
โดยในส่วนของการกำกับดูแล ด้านนี้จะเป็นหน้าที่ของกสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ตั้งแต่เรื่องความเหมาะสมของเนื้อหา การออกใบอนุญาต ไปจนถึงการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ในส่วนของกองทุนพัฒนาสื่อฯ นั้นจะทำหน้าที่ในการ ‘ส่งเสริมและสนับสนุน’ มากกว่า โดยหน้าที่และพันธกิจของเราจะประกอบไปด้วย 3 อย่าง
หนึ่งคือการมีส่วนช่วยทำให้เกิดสื่อที่ดี สองคือช่วยให้ประชาชนสามารถรับมือและรู้เท่าทันสื่อได้ และสามคือช่วยในแง่ของการศึกษาวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อวนกลับมาที่ข้อหนึ่ง นั่นคือการทำให้สื่อที่ดีเกิดขึ้นนั่นเอง
ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นกองทุน แต่จริง ๆ แล้วมีหน้าที่มากกว่านั้น
ใช่ จริงอยู่ที่ในขาหนึ่งของงานเราทำหน้าที่ให้ทุน แต่นั่นก็ไม่ใช่หน้าที่เพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าถามผม ผมมองว่าหน้าที่หลักของเราคือการขับเคลื่อนทั้งสังคมเพื่อไปสู่เป้าหมายที่เราวางไว้มากกว่า การให้ทุนเป็นเพียงแค่หนึ่งในกระบวนการของภาพใหญ่นั้น
ยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนอยู่ในทะเลของข้อมูลข่าวสารครับ มันเยอะมาก เยอะเสียจนในบางครั้งเรารู้สึกท่วม แค่ไม่เข้าไปติดตามอ่านแป๊บเดียวก็รู้สึกเหมือนพลาดสักอย่างแล้ว ผมเลยคิดว่าการขับเคลื่อนไปทั้งกระบวนการจึงจำเป็นมาก เพื่อที่ประชาชนจะได้มีทักษะในการทำความเข้าใจว่าข้อมูลไหนคือข้อมูลดีหรือเท็จ และรู้วิธีการตรวจสอบข้อมูลด้วย เพื่อที่เขาจะได้ไม่เป็นส่วนหนึ่งที่เผยแพร่ข้อมูลอันไม่เป็นประโยชน์ออกมา
ในมุมมองของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คำว่า ‘สื่อที่ดี’ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ถ้ายึดตามความหมายของกองทุนพัฒนาสื่อฯ เลย ผมว่าคำตอบของคำถามนี้เราต้องกลับไปดูที่นิยามในพ.ร.บ. ซึ่งเรามีการกำหนดไว้หมดแล้วเพื่อให้ความเป็นนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรม
แต่ถ้าเอาแบบที่อธิบายให้ฟังง่าย ๆ สื่อที่ดีในความหมายของกองทุนพัฒนาสื่อฯ คือสื่อที่ทำให้คนรักกัน รักตัวเอง รักเพื่อนมนุษย์ รักชุมชน รักครอบครัว ทำให้คนมีความหวังดี ปรารถนาดีต่อกัน ทำให้คนมีศีลธรรมและจริยธรรม รวมถึงส่งต่อแรงบันดาลใจและส่งเสริมศิลปธรรมวัฒนธรรมอันดีงามได้
แต่ทีนี้ในทางตรงข้าม ‘สื่อที่ไม่ดี’ ในความหมายของกองทุนพัฒนาสื่อฯ ล่ะ หมายถึงอะไรบ้าง ส่วนนี้จะไม่อยู่ในพ.ร.บ. ครับ แต่จะมีการออกมาเป็นประกาศจากกองทุนพัฒนาสื่อฯ เองว่าหมายถึงสื่อที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมทั้งหลาย ตั้งแต่การทำให้เกิดความเสื่อมเสีย สร้างผลกระทบเชิงลบต่อศีลธรรมอันดี ไปจนถึงสร้างความเกลียดชังและความรุนแรง เราถือว่านั่นคือสื่อที่ไม่ดีทั้งหมด ซึ่งหน้าที่ของเราคือการเน้นย้ำว่าสื่อไหนที่ประชาชนควรให้คุณค่าและความสำคัญ
ในฐานะคนที่ทำงานกับสื่อ มองการเปลี่ยนผ่านของสื่อทุกวันนี้ว่าอย่างไร
ผมมองว่าสื่อเป็นหนึ่งในอีกหลาย ๆ เรื่องที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยสภาพการเปลี่ยนแปลงตรงนี้แบ่งเป็น 2 แบบ
หนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเองจากปัจจัยแวดล้อมและธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์โควิด-19 เป็นต้น และสองคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง โดยในช่วงไม่กี่ปีหลัง จะเห็นได้ว่ามันเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากขึ้นทั้ง 2 แบบเลย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สื่อเองก็ต้องปรับตัวไปกับโลกที่หมุนเร็วขนาดนี้ และนั่นส่งผลต่อเนื่องให้กับคนที่ทำอาชีพสื่อเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่นคนที่เรียนมาด้านนี้ ในปัจจุบันคนที่เรียนนิเทศศาสตร์ไม่สามารถอาศัยแค่ความรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อเอาตัวรอดได้อีกแล้ว ทั้งในรูปแบบของแพลตฟอร์ม วิถีของคนสร้าง และวิถีของคนรับ ดังนั้นด้วยสถานการณ์ มันเรียกร้องให้พวกเขาปรับตัวแน่นอน แต่ในขณะเดียวกัน เพราะการพัฒนาไปของโลกนี้เองที่เกิดเป็นโอกาสมากมายให้พวกเขาและคนทั่วไปเหมือนกัน ซึ่งหน้าที่ของเราคือการเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมตรงนี้
คิดเห็นอย่างไรกับคำพูดที่ว่าในยุคนี้ ‘ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้’
ในแง่หนึ่งผมมองว่าก็อาจจะจริง แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมเองคิดว่าประชาชนควรตระหนักถึง 2 เรื่อง
หนึ่ง คือเราต้องระมัดระวังในการบริโภคสื่อ เพราะในเมื่อทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ การรู้ทันข้อมูลข่าวสารที่มาจากทั่วทุกที่จึงเป็นสิ่งจำเป็น สอง คือเราควรใช้โอกาสที่เปิดกว้างนี้ในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ต่อไป อย่างถ้ารู้สึกว่ามีสื่อที่ไม่ถูกใจเรา การออกมาทำสื่อเองก็เป็นตัวเลือกที่สามารถเป็นไปได้แล้วในยุคนี้
มองอนาคตของสื่อว่าอย่างไร แล้วกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะมีส่วนร่วมกับอนาคตนั้นในแง่มุมไหน
สำหรับอนาคตของสื่อ เอาเข้าจริงผมว่าไม่มีสื่อไหนที่จะตายนะ โอเค จริงอยู่ว่ายุคทองของสื่อนั้น ๆ จะไม่มีอีกแล้ว แต่สุดท้ายผมว่าไม่ว่าจะอนาคต ปัจจุบันหรืออดีตที่แพลตฟอร์มจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน สื่อจะวัดกันที่คอนเทนต์อยู่ดี
และเป็นเพราะเหตุนั้นเอง ผมเลยเน้นย้ำตั้งแต่แรกเลยว่ากองทุนพัฒนาสื่อฯ อยากสนับสนุนสื่อที่ดี เพราะนอกจากคอนเทนต์ที่ดีจากสื่อที่ดีจะสร้างผลกระทบทที่ดีให้กับสังคมแล้ว สุดท้ายคุณภาพของคอนเทนต์จะทำให้คนที่อยู่ในธุรกิจสื่อสามารถอยู่รอดได้เช่นกัน และในอนาคตที่ข้อมูลข่าวสารจะยิ่งเยอะกว่านี้ คอนเทนต์ที่ไม่ดีก็จะถูกกลืนหายไปด้วยกลไกของระบบเองด้วย
และจากทั้งหมดนี้เอง ทำให้ยุทธศาสตร์ในอนาคตของเรานั้นชัดเจนตาม คือในแง่ของการส่งเสริม เราสนับสนุนทั้งการผลิตและการสร้างคนให้เกิดขึ้นกับวงการ ส่วนในแง่ของการป้องกัน เราตั้งใจติดตั้งทั้งโล่และเกราะให้กับประชาชนในการรับมือกับสิ่งเหล่านี้ โดยเราตั้งใจจะทำงานกับประชาชนทุกคน หรือถ้าใครสนใจอยากมาทำงานร่วมกันกับเรา เราเปิดรับอยู่ตลอด เราพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนในทุกรูปแบบครับ
เพราะเราเชื่อว่าทุกคนสามารถสร้างสื่อที่ดีร่วมกันได้จริง ๆ