2 Min

Sadfishing พฤติกรรมโพสต์เรื่องเศร้าเพื่อเรียกร้องความสนใจ

2 Min
1423 Views
30 Jul 2020

คำว่า ‘Sadfishing’ มาจากคำว่า ‘Cat Fishing’

Cat Fishing หมายถึง การใช้ตัวตนคนอื่นแอบอ้างสวมรอย (มักจะใช้ในบริบทการคุยจีบหรือหาคู่) ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพ ก็ประมาณพวกใช้ภาพปลอม และบัญชีปลอมนั่นเอง

ส่วนคำว่า Sadfishing ก็เข้าข่ายการหลอกลวงเหมือนกันครับ แต่จะเป็นเรื่องของอารมณ์เสียมากกว่า นั่นคือ ‘การแกล้งเศร้าเกินเหตุ’

พฤติกรรม Sadfishing มักจะเกิดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เมื่อใครบางคนโพสต์สถานะหรือเนื้อหาแสดงความเศร้า สิ้นหวัง และหดหู่ของตัวเอง

ส่วนมากจะเป็นข้อความที่เกินจริง เพื่อเรียกร้องความสนใจ ให้คนมากดไลก์ มาคอมเมนต์ มาเห็นใจให้มากที่สุด

และบางข้อความอาจรุนแรงถึงขั้นการทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตาย

แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่า จุดเริ่มต้นของ Sadfishing มาจากการโพสต์ถึงปัญหาสิวของ Kendall Jennerในอินสตาแกรม เพื่อเรียกร้องความสนใจ

ต่อมามีรายงานภายหลังว่า เธอโพสต์เรื่องราวดังกล่าว หลังเซ็นสัญญากับสถาบันเสริมความงาม นับว่านี่เป็นการ Sadfishing ในเชิงพาณิชย์นั่นเอง

ถามว่า ทำไมบางคนถึงมีพฤติกรรม ‘แกล้งเศร้าเกินเหตุ’

ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ คนกลุ่มนี้อาจมีความนับถือในตัวเองต่ำ (Self Esteem) หรือไม่ได้รับความสนใจมากพอ หรือในวัยเด็กขาดอบอุ่น พวกเขาจึงต้องการถูกกดไลก์ คอมเมนต์ หรือมีคนมาให้ความสนใจ

แต่พอผู้คนส่วนใหญ่เริ่มเคยชินกับการกดไลท์ จึงเริ่มรู้สึกชินชา ไม่สนใจ ไม่กดไลก์ หรือคอมเมนต์ให้กำลังใจอีกต่อไป

คนที่รู้สึกแย่จริง หรือกลุ่มแกล้งเศร้าเกินเหตุเลยพานรู้สึกแย่หนักขึ้นไปอีก

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ครับ เพราะว่าเราเริ่มชินชากับพฤติกรรมแบบนี้ จะทำให้เราไม่สามารถแยกแยะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (ที่รู้สึกเศร้าจริง) กับกลุ่ม Sadfishing (อ้างว่าเศร้า) ได้ออก เพราะเรื่องราวมันไม่ได้อยู่ที่แค่การกดไลก์ หรือคอมเมนต์ กลุ่มผู้ป่วยอาจจะส่งสัญญาณบางอย่างมากับข้อความในโลกออนไลน์ว่าพวกเขาจะทำร้ายตัวเอง หรือต้องการกำลังใจ แต่เราแยกไม่ออก จนรู้สึกเมินเฉยกับสิ่งเหล่านั้น อาจจะทำให้คนรอบข้างจัดการสถานการณ์ไม่ทัน อาจทำให้พวกเขารู้สึกแย่กว่าเดิม หรือในกรณีเลวร้าย เราอาจจะได้ยินข่าวร้ายเลยด้วยซ้ำ

ข้อมูลของ Healthline Doctor Shoshana Bennett นักจิตวิทยาคลินิกระบุเอาไว้ ‘ถ้าเราเจอคนที่แสดงออกหรือโพสต์เกี่ยวกับอารมณ์ในเชิงดราม่าบ่อยๆ เราอาจจะรู้สึกแตกต่างออกไปจากที่เรามักจะรู้สึกปกติ’

แต่ประเด็นคือ เธอเน้นย้ำว่าไม่ว่าเขาจะจริงจังหรือไม่ แต่ถ้าใครพูดถึงเรื่องทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย เราควรต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเขาคนนั้นโอเคทั้งในเชิงร่างกายและจิตใจ

เอาเป็นว่าถ้าพบเจอใครบางคนโพสต์ข้อความที่ให้ความรู้สึกเศร้าจนเกินเหตุ ก็อย่าไปตีความว่าเขาเป็นพวก Sadfishing เสมอไปนะครับ

การถามไถ่ การรับฟัง เป็นเรื่องที่ดีเสมอ แถมการรับฟังกันไว้ก็ไม่ได้เสียหายอะไรด้วย

แล้วคุณล่ะครับ คิดอย่างไรกับพฤติกรรม Sadfishing มาร่วมแชร์ประสบการณ์กันดีกว่า

อ้างอิง: Healthline. Why Teens Turn to ‘Sadfishing’ on Social Media. https://bit.ly/30JO50i
The Conversation. Sadfishing: frequently sharing deeply emotional posts online may be a sign of a deeper psychological issue. https://bit.ly/3fnRRQV
มติชนสุดสัปดาห์. จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก Catchfishing ถึง Sadfishing สารเร่งความตาย “ผู้ป่วยซึมเศร้า”. https://bit.ly/30JOqQC