4 Min

พระโคกินเหล้า ≠ แช่ง แต่หมายถึง ‘ค้าขาย-คมนาคมสะดวก’ ชาวทวิตเตอร์สงสัย #ม็อบชาวนา อยู่ไหนในพิธีพืชมงคล

4 Min
986 Views
17 May 2022

ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศบนโลกนี้ที่ยังมีการจัดพระราชพิธีเพื่อเสี่ยงทายและเพื่อความเป็นสิริมงคลด้านการเกษตรและเพาะปลูก (Royal Ploughing Ceremony) โดยมีชื่อไทยเป็นทางการว่าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทั้งยังกำหนดให้วันพืชมงคลเป็นวันหยุดราชการด้วย ซึ่งในปี 2565 พิธีนี้ถูกจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม

หากพูดถึงประวัติความเป็นมาแบบสั้นๆ เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยระบุว่า พระราชพิธีนี้เป็นความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการจัดพระราชพิธีมาตั้งแต่ยุคราชอาณาจักรสุโขทัยและสืบทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้วันพืชมงคลเป็นวันเกษตรกรด้วย

อีกประเทศในแถบนี้ที่ยังมีพิธีแบบเดียวกัน คือกัมพูชาซึ่งเคยระงับการจัดงานไปเมื่อสองปีก่อนเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจะกลับมาจัดพระราชพิธีอีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ส่วนเมียนมาเคยมีประเพณีนี้เช่นกัน ยกเลิกพิธีไปเมื่อราว ค.. 1885 ซึ่งเป็นยุคสิ้นสุดการปกครองระบอบกษัตริย์ของเมียนมา

ส่วนไฮไลต์ของพระราชพิธีพืชมงคลที่สื่อไทยติดตามรายงานกันทุกปี คือ สิ่งที่พระโคเลือกกิน เพื่อนำไปพยากรณ์แนวโน้มเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและเกษตรกรรมโดยรวมในประเทศไทย ซึ่งปีนี้พระโคได้กินน้ำถั่วหญ้าเหล้าจากของกิน 7 อย่างที่มีให้เลือกในพระราชพิธีทุกๆ ปี ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา น้ำ หญ้า เหล้า

ดินน้ำปีนี้เป็นอย่างไรให้พระโคพระยาแรกนาทำนายกัน

พระโคตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่วัวธรรมดา แต่เป็นเทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวรทั้งยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล จึงเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นในการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลฯ จึงกำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพิธีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ของยุครัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์

การที่พระโคเลือกกินน้ำถั่วหญ้า จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะอาหารหลักของวัวทั่วไปก็คือของกินทั้งสามอย่างนี้อยู่แล้ว ขณะที่การกินเหล้าของพระโคก็ไม่เท่ากับแช่งเหมือนการรณรงค์ต่อต้านการมอบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นของขวัญ แคมเปญยอดฮิตติดหูคนไทยซึ่งจัดทำโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ’ (สสส.) เพราะเหล้ามีความหมายเป็นอย่างอื่นในพระราชพิธีพืชมงคล

ข้อมูลจากทวิตเตอร์ของวิทยุรัฐสภา’ TPChannel10 รายงานการเสี่ยงทายของพระโคในปี 2565 ระบุว่า การกินน้ำและหญ้า พยากรณ์ได้ว่า ปีนี้น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี​’

กินถั่วเขียวพยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดีและกินเหล้าพยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศจะดีขึ้น เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง

นอกจากการเสี่ยงทายด้วยการให้พระโคเลือกของกินแล้ว ยังมีการเสี่ยงทายด้วยการเลือกหยิบผ้านุ่งโดยพระยาแรกนาซึ่งเว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า เป็นการเสี่ยงทายเพื่อพยากรณ์เรื่องน้ำท่าในการเกษตรและการเพาะปลูก ส่วนผู้ที่เป็นพระยาแรกนาในปีนี้ คือ ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พระยาแรกนาปีนี้หยิบผ้านุ่งเสี่ยงทายได้ผ้า 4 คืบซึ่งพยากรณ์ได้ว่าปีนี้น้ำจะมากสักหน่อยนาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหาย ได้ผลไม่เต็มที่

นานาทัศนะชาวทวิตเตอร์ผ่าน #วันพืชมงคล

เนื่องจากพระราชพิธีพืชมงคลฯ เป็นประเพณีที่เก่าแก่และสืบทอดกันมายาวนาน การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีจึงทำให้ผู้คนในโลกยุคใหม่ตั้งคำถามว่า คำพยากรณ์เกี่ยวกับการเกษตรและการเพาะปลูกที่มาจากการเสี่ยงทายยังจำเป็นอยู่หรือไม่

ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากติดแฮชแท็ก #วันพืชมงคล และ #พระโค เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่า 1.1 หมื่นครั้ง จนแฮชแท็กนี้ติดอันดับใน 20 เทรนด์ยอดนิยมของทวิตเตอร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม โดยบางส่วนมองว่านี่เป็นพิธีที่เก่าแก่และเป็นขวัญกำลังใจ ทั้งยังมีการมอบเมล็ดพันธุ์พืชแก่เกษตรกรและประชาชนที่เข้าร่วมพระราชพิธีด้วย

แต่ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามถึงความแม่นยำของการพยากรณ์ในพระราชพิธี โดยมองว่าไม่ควรจะเน้นประเด็นนี้ เพราะจากสถิติที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าคำพยากรณ์จากการเสี่ยงทายไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และเสนอให้ใช้ข้อมูลจากกรมอุตุวิทยามาเป็นหลักการพยากรณ์จะดีกว่า

นอกจากนี้ยังมีผู้มองว่าความเป็นสิริมงคลของเกษตรกรควรจะรวมถึงการช่วยเหลือชาวนาไทยที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากโครงสร้างด้านการเกษตรที่ไม่เป็นธรรมด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มาปักหลักชุมนุมในนาม #ม็อบชาวนา เพื่อเรียกร้องให้รัฐทำตามคำสัญญาในการช่วยเรื่องการชำระหนี้เกษตรกรซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่ชาวนาไม่อาจควบคุมได้ เช่น กลไกราคาข้าว ปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่เกิดจากระบบชลประทานในแต่ละพื้นที่ไม่ตอบโจทย์ผู้ทำการเกษตร รวมถึงราคาปุ๋ยหรือสารเคมี

ตัวอย่างความเห็นที่มีผู้รีทวีตหรือกดแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากในทวิตเตอร์ มีทั้งวิพากษ์วิจารณ์และล้อเลียนสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เช่น

ฉลองวันชาวนากับเกษตรกร แต่ม็อบชาวนาไม่มีใครเห็นหัว

เรื่องพิธีกรรมเพื่อเป็นขวัญกำลังใจอะไรนี่ยังพอเข้าใจนะ แต่ไอ้เรื่องทำนายฟ้าฝนความอุดมสมบูรณ์นี่เพื่ออะไร? จำได้ว่าเคยมีคนเก็บสถิติย้อนหลัง ปรากฏว่าผิดแทบทุกปี บางปีนี่ตรงข้ามกันชนิดหน้ามือกับหลังตีนด้วยซ้ำ มีกรมอุตุฯ ใช้หลักวิทย์ แต่พร้อมๆ กันนั้นรัฐก็ยังใช้วัวทำนาย…”

พระโคที่กินข้าวเหนียวมะม่วง: พระโคเชลล่า

ต่อให้พระโคกินหญ้ากี่กระสอบ ดื่มเหล้าขาวไปกี่ลิตร กินถั่วไปกี่ถ้วย ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะชาวนาและเกษตรกรไทยก็ยังคงมีเรื่องหนี้สิน ยังคงต่อสู้กับนายทุนที่ผูกขาดกับการเกษตร มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และยังคงมีปัญหาเรื่องราคาพืชผลและการเกษตรตกต่ำอยู่เนืองๆ

ถึงจะเสี่ยงทายมากี่ปี คนที่กินดีอยู่ดีก็เจ้าสัวเหมือนเดิม!! ถถถ #สงสารเกษตรกรตาสีตาสา

อ้างอิง

  • Twitter. #วันพืชมงคล. https://bit.ly/3FGzS6I
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ. https://bit.ly/3NcOvBc
  • สำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. เสี่ยงทาย. https://bit.ly/38nMHXi
  • สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. กรมการข้าว เตรียมแจก 6 พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน เนื่องในวันพืชมงคล ปี 2565. https://bit.ly/3FHnXFQ
  • Tourism in Camabodia. Events in Cambodia: Royal Ploughing Ceremony. https://bit.ly/3l5481B