‘Roman Charity’ ภาพวาดที่ถูกโยงกับการฟอกเงิน แท้จริงอาจไม่ได้ลามกอนาจาร แต่คือความกตัญญู

2 Min
874 Views
02 May 2023

คนที่ไม่ได้สนใจศิลปะยุคโบราณมากนักอาจไม่เคยเห็นภาพวาดที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ ‘Roman Charity’ หรือ ‘Caritas Romana’ ซึ่งนักประวัติศาสตร์บอกว่าเป็นเรื่องเล่าในยุคโรมัน และสำหรับบางคนที่ได้เห็นภาพนี้ในยุคปัจจุบันโดยไม่รู้เบื้องหลังของมันมาก่อนก็อาจรู้สึกว่า ‘ประหลาด’ และบางคนก็อาจมองว่านี่คือภาพที่มีนัยลามกอนาจารหรือเปล่า?

เพราะภาพวาด Roman Charity จะมีองค์ประกอบหลักๆ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ หญิงสาวที่ป้อน ‘นม’ ของตัวเองให้ชายชราคนหนึ่งในห้องปิด และสีหน้าของหญิงสาวก็ออกไปในทางระแวดระวังกลัวคนเห็น

แต่ที่จริงแล้วเบื้องหลังของเรื่องเล่านี้ถูกยกย่องว่าเป็น ‘ความกตัญญูรู้คุณ’ เพราะหญิงสาวในภาพมีชื่อว่า ‘ซีมอน’ (Cimon) และเธอได้ทำวีรกรรมสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือการลักลอบช่วยเหลือ ‘เปโร’ (Pero) ผู้เป็นพ่อ ผู้ถูกขังเพื่อรับบทลงโทษ ‘อดอาหารจนตาย’

เมื่อพ่ออดอาหารใกล้ตาย และลูกที่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเป็นครั้งคราวก็ถูกตรวจเข้มจากผู้ดูแลคุก ไม่ให้มีการลักลอบนำอาหารเข้าไปโดยเด็ดขาด ทำให้ซีมอนซึ่งเป็นแม่ลูกอ่อนเพิ่งคลอดหมาดๆ เข้าคุกเพื่อไปเยี่ยมพ่อแบบตัวเปล่าๆ ไม่ซ่อนอาหารอะไรเข้าไปอย่างที่ผู้คุมนึกหวาดระแวง และให้พ่อของตัวเองดื่มกิน ‘น้ำนมจากเต้า’ ประทังชีวิต

ภายหลังเรื่องที่ซีมอนลักลอบให้นมพ่อก็ถูกเปิดโปง แต่การที่เธอยอมเสี่ยงทั้งที่รู้ว่าถ้าถูกจับได้น่าจะต้องถูกลงโทษแน่ๆ ก็สร้างความประทับใจให้ผู้คน จนเธอได้รับการยกย่องว่า ‘กล้าหาญ’ และท้ายที่สุด เปโรก็ได้รับการปล่อยตัวเพื่อเป็นรางวัลแก่ความกตัญญูของซีมอน และเป็นที่มาของคำว่า Caritas Romana ในภาษาละติน หรือ Roman Charity ในภาษาอังกฤษ ซึ่งถูกตีความว่าเป็นวิธีสร้างกุศลในยุคโรมัน

ศิลปินตะวันตกในยุคโบราณหลายคนก็วาดภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ Roman Charity เอาไว้ แต่ภาพที่เพิ่งจะเป็นข่าวใหญ่ช่วงปลายปี 2022 คือ ภาพของ ‘ซีมอน’ และ ‘เปโร’ ซึ่งวาดโดย ‘อาร์เตมีเซีย เจนตีเลสกี’ (Artemesia Gentileschi) ศิลปินหญิงซึ่งมีชื่อเสียงในช่วงที่ศิลปะบาโรก (Baroque Period) เฟื่องฟูในอิตาลีและหลายประเทศแถบยุโรปในปัจจุบัน

ภาพของเจนตีเลสกีถูกลักลอบนำไปประมูลที่กรุงเวียนนาของออสเตรียเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 แต่ถูกตำรวจสากลสกัดเอาไว้ได้ก่อนจะมีการประมูล เพราะมีเบาะแสที่บ่งชี้ว่าวิธีการได้มาซึ่งภาพนี้ ‘มีเงื่อนงำ’ และอาจเกี่ยวโยงกับแก๊งอาชญากรข้ามชาติที่ต้องการฟอกเงินผ่านการประมูลศิลปะ

ภาพ Roman Charity จึงถูกพูดถึงในสื่อโซเชียลฝั่งตะวันตก เพราะมีการพิสูจน์ว่านี่คือผลงานของเจนตีเลสกี ไม่ใช่ผลงานของบรรดาสานุศิษย์ตามที่ถูกกล่าวอ้างตอนแรก และชาวเน็ตฝั่งตะวันตกก็ไม่ได้แสดงความเห็นเฉพาะเรื่องคดี แต่รวมถึงการตั้งคำถามว่า ‘หญิงสาว’ ให้ชายแก่ ‘ดูดนม’ เพราะอะไร และนี่ถือว่าเป็นภาพลามกอนาจารหรือไม่

ซึ่งก็แน่นอน มีการถกเถียงและให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพนี้ และนำไปสู่การยืนยันว่านี่คือสัญลักษณ์แห่ง ‘ความกตัญญูและกล้าหาญ’ ในเรื่องเล่ายุคโรมัน ประเด็นนี้ก็เลยจบไปแบบเงียบๆ เพราะเมื่อ ‘ความดีงาม’ และ ‘การทำกุศล’ ถูกหยิบยกมาพูดถึง ก็ดูจะกลายเป็นเรื่องที่ผู้คนในชุมชนโซเชียลมีเดีย ‘ยอมรับได้’ และปล่อยผ่านแทบจะทันที

อย่างไรก็ดี มีข้อถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์เหมือนกันว่าเรื่องเล่าดั้งเดิมนั้นซีมอนลักลอบให้นม ‘แม่’ ที่ถูกสั่งขังและอดอาหาร ไม่ใช่ ‘พ่อ’ แต่ไม่อาจบอกได้ว่าเพราะเหตุใดศิลปินในยุคบาโรกถึงได้วาดภาพซีมอนให้นมพ่อของตัวเองแทนที่จะเป็นแม่ และศิลปินยุคเรอเนซองส์ (Renaissance Period) รวมถึงยุคต่อๆ มาก็มักจะถ่ายทอดเรื่องราว Roman Charity ผ่านภาพซีมอนให้นมพ่อเหมือนกันหมด

อ้างอิง