‘หินบนฟ้า ลาวา ใต้สมุทร’ บันทึกการเดินทางว่าด้วยความลับและความมหัศจรรย์ของผืนพิภพ
หากพูดถึง ‘โตมร ศุขปรีชา’ เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักเขาในฐานะนักเขียนผู้มีความสนใจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรวมเรื่องสั้น งานแปล ไปจนถึงบทความต่างๆ ที่ว่าด้วยประเด็นเพศภาวะ การท่องเที่ยว อาหาร ไปจนถึงการเมือง หรืออย่างใน ‘หินบนฟ้า ลาวา ใต้สมุทร’ หนังสือเล่มล่าสุดของโตมร เขาก็พาเราไปสำรวจเรื่องราวบนผืนพิภพ เช่น ภูเขาไฟ รอยแยกใต้สมุทร และผืนป่าลี้ลับ
ผ่านงานเขียนเล่มนี้ โตมรพาเราเดินทางไปยังสามพื้นที่ด้วยกัน ได้แก่ ‘ซิซิลี’ เกาะขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของอิตาลี ‘ไอซ์แลนด์’ ประเทศที่เขานิยามว่า “ดินแดนที่เชื่อมโยงภูเขาไฟเข้ากับรอยเลื่อนหรือรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก” และ ‘ซานแอนเดรียส’ รอยแยกขนาดมหึมาในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ โตมรเล่าถึงจุดเริ่มต้นความสนใจของเขาต่อเรื่องราวบนผืนดินว่า
“ผมไม่เคยเรียนธรณีวิทยา แต่สมัยต้องเลือกภาควิชาสังกัดตอนเรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมลังเลนานมาก-ว่าจะเรียนชีวเคมีหรือธรณีวิทยาดี แม้สุดท้ายผมเลือกชีวเคมี แต่ส่วนหนึ่งของผมยังคงหลงใหลเรื่องราวความเป็นไปของโลก ไม่ใช่เพื่อจะขุดหาแร่ธาตุมีค่าหรืออัญมณีแวววาว แต่ผมหลงใหลการเลื่อนเคลื่อนไปของทวีป การค่อยๆ บ่อนเซาะของสายลมและหยดน้ำ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นชั่วครู่ฉับพลันของภูเขาไฟและแผ่นดินไหวที่ทำให้รูปร่างของโลกเป็นอย่างที่เป็น”
อย่างที่โตมรเล่า เขาไม่ได้เรียนจบด้านธรณีวิทยามา แต่ด้วยความสนใจส่วนตัวทำให้เขาลุ่มหลงเรื่องผืนโลกอยู่เสมอ ในแง่นี้ โตมรจึงไม่ได้เขียนเล่มนี้ผ่านภาษาและลีลาของผู้เชี่ยวชาญ แต่เขาเลือกจะบอกเล่าผ่านสไตล์ของนักเดินทางที่เผอิญสนใจในเรื่องราวที่หลบซ่อนอยู่บนผืนแผ่นดิน ข้อดีของมันคือ ‘หินบนฟ้า ลาวา ใต้สมุทร’ จึงเป็นหนังสือที่อ่านได้อย่างลื่นไหลประหนึ่งหนังสือบันทึกการเดินทาง โดยที่โตมรก็จะคอยสอดแทรกเกร็ดความรู้ต่างๆ ให้ผู้อ่านอยู่เรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา
อย่างในตอนที่โตมรเดินทางไปยังภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ เขาเล่าว่า
“หลายคนอาจคิดว่า สิ่งที่ภูเขาไฟ ‘พ่น’ ออกมามีแต่ลาวา แต่ที่จริงแล้ว ภูเขาไฟไม่ได้พ่นลาวาอย่างเดียว ภูเขาไฟยังพ่นสิ่งที่เรียกว่า ‘กรวดภูเขาไฟ’ (Pyroclastic rocks) ออกมาด้วย เจ้ากรวดภูเขาไฟที่ว่านี้ จริงๆ ก็คือเศษหินเดิมของปากปล่องภูเขาไฟนั่นแหละครับ แต่พอภูเขาไฟปะทุระเบิดมันก็เลยระเบิดออกมาอย่างรุนแรงไปด้วย”
แต่พ้นไปจากประเด็นทางธรณีวิทยาแล้ว อีกข้อดีหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ การที่โตมรคอยสอดแทรกความรู้ทางวัฒนธรรม อย่างในตอนหนึ่งที่โตมรเดินทางไปยังภูเขาไฟ ‘เอ็ตนา’ ที่เมืองคาทาเนีย บนเกาะซิซิลี แทนที่จะบอกเล่าเรื่องภูเขาไฟเพียงอย่างเดียว โตมรก็เลือกจะหยิบมหากาพย์โอดิสซีมาถ่ายทอดได้อย่างเพลิดเพลิน นั่นคือ เขาเล่าถึงเรื่องราวการเผชิญหน้าระหว่างวีรบุรุษยูลิสซีสและ ‘ไซคลอป’ ยักษ์ตาเดียวอารมณ์ร้ายที่อาศัยอยู่ยังตีนภูเขาไฟเอ็ตนาแห่งนี้
จะเห็นได้ว่า ‘หินบนฟ้า ลาวา ใต้สมุทร’ เป็นหนังสือที่น่าสนใจในหลายระดับด้วยกัน เพราะไม่ว่าคุณจะสนใจในเรื่องธรณีวิทยา ตำนานปรัมปรา หรืออยากอ่านบันทึกหนังสือการเดินทางดีๆ สักเล่ม หนังสือเล่มนี้ก็จัดมาให้ครบ และถึงที่สุดคือ หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณได้รู้จักเรื่องราวของโลกใบนี้มากขึ้นในหลายๆ มิติด้วยกัน ซึ่งเราก็เชื่อว่า หลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบ คุณจะมองผืนแผ่นดินที่ยืนอยู่นี้ด้วยสายตาที่สนุกขึ้นอย่างแน่นอน
อ้างอิง
- หินบนฟ้า ลาวาใต้สมุทร โตมร ศุขปรีชา: เขียน
สำนักพิมพ์: Brown Books