2 Min

AI ตัวใหม่จากอังกฤษสามารถ ‘รับรู้อารมณ์’ เราได้ผ่านการส่ง ‘คลื่นวิทยุ’

2 Min
759 Views
18 Apr 2022

อารมณ์ของมนุษย์เป็นสิ่งซับซ้อนและสร้างประเด็นถกเถียงทางปรัชญามาช้านาน และจนถึงยุคที่มีจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ระบบประสาทยันเทคโนโลยีการสแกนสมอง เราก็ยังมีเรื่องให้ศึกษาอีกมากมาย

ความเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์ดูจะซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ดีในยุคของการพัฒนา AI เป้าหมายในการสร้าง AI ก็คือการใช้ข้อมูลที่ป้อนเข้าไปให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้คำตอบมากที่สุด ถ้ามีสัก 100 ตัวแปรที่อาจจะเกี่ยว เราต้องตัดให้เหลือไม่ถึง 10 ตัวแปรที่เป็นตัวชี้ขาด และถ้าตัดตัวแปรน้อยกว่านั้นก็ยิ่งดี เพราะยิ่งมีตัวแปรน้อย การประมวลผลข้อมูลของ AI ก็ยิ่งทำได้เร็ว

ดังนั้นในแง่นี้ คำถามในแง่การพัฒนา AI ก็ไม่ใช่ว่ามนุษย์แสดงอารมณ์ผ่านอะไรออกมาได้บ้าง แต่เป็นการหาว่าอะไรคือปัจจัยที่น้อยที่สุด ที่เรารู้แล้วเราจะเข้าใจว่ามนุษย์คนหนึ่งๆ กำลังมีอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน

นักวิจัยพบว่า ปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นความสัมพันธ์ของการหายใจกับจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือพูดง่ายๆ เขาเชื่อว่าไม่ต้องไปดูสีหน้า น้ำเสียง หรืออะไรอื่นๆ หรอก เราดูแค่จังหวะการเต้นของหัวใจอย่างสัมพันธ์กับการหายใจ ก็จะคาดเดาได้ว่ามนุษย์คนนั้นกำลังรู้สึกอะไร

ซึ่งจริงๆ แล้วการจะจับการเต้นของหัวใจและจังหวะการหายใจไม่ต้องใช้อะไรซับซ้อนเลย มันใช้แค่คลื่นวิทยุที่แพร่ไปจากเสาอากาศก็พอ ซึ่งนักวิจัยเขาก็ไปทดลองกับอาสาสมัคร 15 คน คือให้อาสาสมัครดูภาพหรือคลิปที่ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆ แล้วส่งคลื่นวิทยุเข้าไปใส่ และโยนข้อมูลให้ AI ประมวลผล

ผลคือ AI สามารถคาดเดาอารมณ์ของอาสาสมัครได้ถูกถึง 71 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าสูงในระดับที่น่าสนใจเลย และน่าจะเป็นไอเดียที่ถูกนำไปพัฒนาต่อ

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าพัฒนาการนี้ไปต่อจนสมบูรณ์ได้ เราสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่รับรู้อารมณ์มนุษย์ได้ผ่านการส่งคลื่นวิทยุไปใส่ แต่อีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีนี้ก็คือเทคโนโลยีรับรู้อารมณ์โดยไม่ต้องการสัมผัสร่างกาย และมันอาจถูกนำไปใช้ทั้งในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ (เช่นใช้ในตอนสืบสวน คล้ายๆ เครื่องจับเท็จ) จนถึงการนำไปใช้ในทางธุรกิจ (เช่นการตรวจอารมณ์ของลูกค้าที่เข้ามาในร้าน)

แต่คำถามที่อาจสำคัญไม่แพ้กันก็คือ เทคโนโลยีแบบนี้ที่สามารถล่วงรู้อารมณ์ของเราโดยที่เราไม่ได้อยากให้รู้ มันจะถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่ และถ้ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ เราจะห้ามคนใช้เทคโนโลยีแบบนี้ได้แค่ไหนกัน 

เพราะสุดท้ายก่อนที่เราจะพูดถึงมิติทางจริยธรรมที่นำไปสู่การกำกับดูแล AI เราน่าจะพูดถึงมิติทางเทคนิคก่อน เนื่องจากในหลายครั้งผู้คนและรัฐปัจจุบันดูจะชอบเรียกร้องสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางเทคนิคกันเสียเยอะ

อ้างอิง