5 Min

รู้จัก Robinhood ที่ไม่ใช่แอปส่งอาหาร แต่เป็นแอปเทรดหุ้นระดับปฏิวัติอุตสาหกรรมการเงิน

5 Min
4378 Views
08 Feb 2021

Select Paragraph To Read

  • Robinhood ทำได้อย่างไร?
  • ขาลงของจอมโจร

ยุคนี้เป็นยุคที่คนเบื่อคำว่า “Disruption” กันแล้ว แต่ข้อเท็จจริงก็คือเรายังอยู่ในยุคที่เกิด Disruption รัวๆ และถึงเราไม่เห็นแบบต่อหน้าต่อตา เราก็น่าจะเห็น “ผล” ของมันแบบไม่รู้ตัว

ล่าสุด ในกรณีของนักลงทุนรายย่อยรวมตัวกันปั่นหุ้นบริษัท Gamestop ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2021 และมี “ตัวละคร” หนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อย ซึ่งก็คือแอปเทรดหุ้นที่เหล่า “นักลงทุนรายย่อย” ใช้กันเป็นหลัก แอปนั้นชื่อว่า Robinhood

หน้าตาด้านในของแอป Robinhood | Bless This Stuff

แอป Robinhood เรียกได้ว่าเป็นแอปเทรดหุ้นของคน Gen Y อเมริกาแท้ๆ เพราะลักษณะเด่นของมันอยู่ที่คนจะมีเงินเท่าไรก็จะซื้อขายหุ้นได้ โดยทางแอปจะไม่มีการคิดค่าคอมมิชชั่นอะไรทั้งนั้นจากผู้ใช้

อาจฟังดูไม่มีอะไร แต่นี่คือการ “ปฏิวัติ” อุตสาหกรรมการเงินเลย เพราะธุรกิจการเงินทั้งหมดตั้งแต่โบรกเกอร์หุ้นจนถึงเว็บเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยทั่วไปนั้นจะวางอยู่บนโมเดลทางธุรกิจที่รายได้มาจากการเก็บ “ค่าคอมมิชชั่น” ทั้งนั้น โดยจะมีทั้งเก็บเป็น % ของมูลค่าการซื้อขาย เช่น ถ้าคิดคอมมิชชั่น 0.05% ในการซื้อขายหุ้น 1 ล้าน โบรกเกอร์ก็จะ ได้ค่าคอมมิชชั่นจากฝั่งที่ซื้อ 500 บาท จากฝั่งที่ขาย 500 บาท กล่าวคือได้ 1,000 บาทไป “ฟรีๆ” ทุกการซื้อขาย นอกจากนี้ก็อาจมี “ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ” ของการซื้อขายด้วย

ซึ่งก็ไม่ต้องบอกว่าบริษัทพวกนี้ “รวยเละ” แบบไม่ต้องมีความเสี่ยงใดๆ เลย ไม่ว่าคนในตลาดจะได้จะเสีย แต่ตราบใดที่การซื้อขายมีมาก ยังไงโบรกเกอร์ก็ได้เงิน

สิ่งที่ Robinhood ทำคือ “ตัดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ” ไปจนถึงค่าคอมมิชชั่นออกจากการซื้อขายบนแพลตฟอร์มจนหมดสิ้น และนี่เป็นสาเหตุที่แอปโนเนมจากคนนอกอุตสาหกรรมทางการเงินสามารถมีที่ทางในอุตสาหกรรมที่คน “แข่งขัน” กันโหดสุดๆ นี้ได้ไม่พอ แต่ยังทำให้โบรกเกอร์หน้าเก่าๆ ต้องยอมปรับโมเดลธุรกิจเป็นยอมให้เทรดฟรีแบบ Robinhood กันแล้ว

พูดง่ายๆ การเกิดขึ้นของ Robinhood ในอุตสาหกรรมการเงินมันเหมือนการมาถึงของ Napster ในอุตสาหกรรมดนตรี กล่าวคือมันจะมาสู่ยุคที่คนจะคาดหวัง “ของฟรี” กันหมด เป็นหน้าที่ของแพลตฟอร์มที่จะหา “ของฟรี” มาแจกผู้ใช้

Robinhood ทำได้อย่างไร?

เราต้องไปดูจุดเริ่มต้นสู่ความยิ่งใหญ่

สองผู้ก่อตั้ง Robinhood อย่าง Vladimir Tenev และ Baiju Bhatt เป็นโปรแกรมเมอร์ที่อธิบายง่ายๆ คือเขาทำ “บอทเทรด” ขายพวกสถาบันทางการเงิน คนพวกนี้ก็เลยได้เห็นว่า “ต้นทุน” การซื้อขายจริงๆ ของหุ้นและสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหลายว่าถูกมาก และพวกสถาบันการเงินก็คิด “ค่าโบรก” แพงๆ ซึ่งกับคนรวย มันไม่มีปัญหา เพราะมีปัญญาจ่ายอยู่แล้ว นอกจากนี้พวกนี้ยังจงใจวางมาตรฐานเงินในบัญชีขั้นต่ำอีกด้วย เพื่อจะกัน “รายย่อย” ออกไป เพราะทำธุรกิจกับพวกนี้ไม่คุ้ม การทำแบบนี้ทำให้คนที่ไม่ได้มั่งมีนั้นไม่สามารถจะเข้าถึงตลาดทุนได้อย่างเท่าเทียม และพวกเขาก็ต้องการจะเปลี่ยนสถานการณ์นี้

Vladimir Tenev หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Robinhood | Wikipedia

ในปี 2013 ทั้งคู่เลยก่อตั้ง Robinhood ขึ้น ซึ่งก็เรียกได้ว่าจังหวะดีมากๆ เพราะปีนั้นตลาดหุ้นอเมริกาเพิ่งทำ “นิวไฮ” พอดี เรียกได้ว่าฟื้นตัวจากวิกฤติ ปี 2008 อย่างสมบูรณ์ และตลาดโดยรวมกลับมาสู่ขาขึ้นชัดๆ มาจนถึงทุกวันนี้

ก็ดังที่กล่าว Robinhood ต้องการจะเจาะตลาดคนที่ไม่เคยมีบัญชีเทรดหุ้นมาก่อน ซึ่งเอาจริงๆ พวกนี้ก็คือ “คนรุ่นใหม่” ที่ไม่ได้มีเงินเป็นแสนๆ ล้านๆ แต่ก็อยากจะมีส่วนร่วมในการลงทุนในตลาดหุ้น และ Robinhood ก็ตอบโจทย์สุดๆ

ในปี 2015 กลุ่มคนที่เทรดบน Robinhood ราว 80% เรียกได้ว่าเป็นคน Gen Y และโครงสร้างประชากรที่ใช้ก็ยังคนเป็นแบบนี้จนถึงปัจจุบันที่เป็นแอปขวัญในคนรุ่นใหม่มาตลอด ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็ชอบสิ มีขั้นต่ำเท่าไรก็เทรดได้ “ค่าคอม” ก็ไม่เสีย และก็ไม่แปลกที่กลุ่มผู้ใช้ Robinhood ก็ขยายตัวมาตลอด พวกบริษัทต่างๆ ก็เทเงินลงทุนมาให้รัวๆ

จนบริษัทเริ่ม “มีปัญหา” ในที่สุดตอนปลายปี 2020 และหนักขึ้นเมื่อเข้าปี 2021

ขาลงของจอมโจร

ก่อนจะเข้าสู่ขาลง เราอาจต้องทำความเข้าใจโมเดลธุรกิจของ Robinhood ก่อน

ตอนเปิดตัวครั้งแรก นักการเงินเรียกได้ว่า “ตาลุก” มากๆ ที่ Robinhood สามารถทำแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงินที่ปราศจากค่าคอมมิชชั่นได้ และหลายคนก็บอกว่า “ทำไม่ได้จริงหรอก” เพราะทำได้จริง โบรกเกอร์ทั้งโลกก็เตรียมตกงาน ไม่ก็เตรียมเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจตาม

ทาง Robinhood แรกๆ นั้นแถลงว่า มันง่ายนิดเดียวเลย พวกเขาก็แค่เอาเงินของผู้ใช้ที่ฝากเอาไว้ ไปฝากกินดอกเบี้ยกับธนาคาร ไปจนถึงให้คนไปยืมเทรด (margin lending) แล้วกินดอกเบี้ย ซึ่งในแง่นี้ ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ Robinhood วางโมเดลธุรกิจแบบธนาคาร ไม่ใช่แบบแพลตฟอร์มเทรด คือดึงเงินผู้ใช้มากองที่ตัวเองเยอะที่สุด แล้วเอาไปลงทุน “ความเสี่ยงต่ำ” เพื่อสร้างรายได้

คนก็เข้าใจแบบนั้นมาตลอด จนมันมาโป๊ะแตกในตอนปลายปี 2020 ว่า จริงๆ แล้ว Robinhood ก็ไม่ได้ต่างจากแฟลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ผู้ใช้ฟรีอื่นๆ ที่ไม่ว่าเบื้องหน้าจะว่าอย่างไร แต่ในความเป็นจริง รายได้มันมาจากการ “ขายข้อมูลผู้ใช้” ซึ่งเคสของ Robinhood คือขายให้กับพวกคนทำ “บอทเทรด”

อันนี้อยากจะให้ย้อนไปดูตอนแรก พื้นเพของคนที่ทำ Robinhood คือคนทำ “บอทเทรด” มาก่อน ซึ่งความเด่นของพวก “บอทเทรด” คือมันจะซื้อขายได้แบบความเร็วสูงแบบที่มนุษย์ทำไม่ได้ ซึ่งคนที่เคยทำก็จะเข้าใจว่า ความเร็วต่างกันเพียงเสี้ยววินาที คือความต่างระหว่างกำไรและขาดทุนเลย ซึ่งถ้าพวกบอทนี้ได้รับข้อมูลไปพร้อมๆ กับคนยังไงบอทก็ซื้อเร็วกว่า

อธิบายง่ายๆ คือถ้าดูกราฟแล้วเห็นสัญญาณพร้อมกัน บอทจะซื้อทันที แต่คนกว่าจะคลิกกว่าจะซื้อ อาจกินเวลา 1 วินาที ซึ่ง 1 วินาทีที่ว่าในตลาดขาขึ้น อาจหมายถึงผลกำไรที่ต่างกันถึง 0.1%

ดังนั้นในแง่นี้ถ้าบอทพวกนี้มีข้อมูลว่าคนกำลังจะซื้อกำลังจะขายอะไรแบบทันทียังไงบอทก็ชนะคน ปัญหาคือ ข้อมูลพวกนี้ต้อง “ซื้อ” เอาทั้งนั้น และ Robinhood ก็ยินดีจะขาย ซึ่งก็แน่นอน การสร้างแพลตฟอร์มที่เน้นผู้ใช้รายย่อยนั้นอาจดูไม่ใช่ข้อมูลที่มีผลกับตลาด แต่ถ้า “รายย่อย” นั้นมากถึง 10 ล้านคนนั้นก็ดูจะเป็นอีกเรื่อง

พฤติกรรมแบบนี้ดูจะ “เกินให้อภัย” สำหรับ Robinhood เพราะแพลตฟอร์มนั้นดูจะสร้างภาพลักษณ์ตัวเองอย่างสวยหรูว่าเป็นแพลตฟอร์มแบบ “ปล้นคนรวยมาช่วยคนจน” ตามชื่อและวีรกรรมของยอดจอมโจรในตำนานและทำให้โดนฟ้องแบบกลุ่มไปรอบหนึ่ง ซึ่งนั่นก็ทำให้ผู้ใช้หลายๆ ส่วนที่ห่วงความเป็นส่วนตัวข้อมูลตนเองไม่พอใจแล้ว

แต่ถ้านั่นยังไม่หายนะพอ ปลายเดือนมกราคม 2021 ทาง Robinhood ก็ยังได้มีเอี่ยวในการช่วยพวก “คนรวย” เพราะดันไประงับการซื้อขายหุ้นบริษัท Gamestop ที่นักลงทุนรายย่อยบน Reddit นัดกันปั่นเพื่อให้พวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของพวกเศรษฐีขาดทุนย่อยยับอีกด้วย นี่ทำให้ผู้ใช้มองว่า Robinhood นั้นก็เป็นเพียงข้ารับใช้ “รับใบสั่ง” จากพวกคนรวยมาทำตามได้อย่างเชื่องๆ ไม่ใช่มหาโจรผู้อยู่ข้างเดียวกับคนจนดังที่โฆษณาซะดิบดี

แม้ว่าทาง Robinhood จะออกมาบอกว่าพวกเขาไม่ได้ช่วยคนรวยแบบที่โดนกล่าวหา แต่พวกเขาต้องหยุดการซื้อขายเพราะเงินสำรองของพวกเขาไม่พอหรือไม่สอดคล้องกับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นมาพรวดพราดต่างหาก ซึ่งพูดง่ายๆ คือ ถ้าปล่อยให้ปริมาณการซื้อขายดำเนินต่อไป พวกเขาจะทำผิดกฎหมายซะเอง เพราะเงินสดและหุ้นในมือบริษัทมันไม่สอดคล้องกับปริมาณการซื้อขาย

แต่ผลคือ ผู้ใช้ก็โกรธกันมาก ระดับที่คนเป็นหลายแสนคน ระดมกันไปให้รีวิว 1 ดาวบน Play Store ทำให้แอปจากคะแนนดีๆ ร่วงลงมาต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และที่โหดร้ายกว่านั้นคือคนจริงจังกันมาก เพราะทำไปรอบแรก Google ก้าวมาช่วยลบรีวิวไปกว่าแสนรีวิวให้คะแนนขึ้นไปแล้วรอบหนึ่ง แต่คนก็ระดมกันจนคะแนนร่วงอีกรอบ และตอนนี้ Google ก็ไม่ก้าวมาช่วยแล้ว

เรียกได้ว่า Robinhood น่าจะตกที่นั่งลำบากแบบสุดๆ ไปเลย ภาพลักษณ์บริษัทกำลังพังเละเทะในสายตาของกลุ่มลูกค้าหลัก และจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่อาจคาดเดา

เพราะอย่างน้อยๆ ก็ต้องไม่ลืมว่า Disruption ที่ Robinhood เริ่มไว้ มันเริ่มเปลี่ยนตลาดแล้ว และตอนนี้ไม่ใช่ Robinhood เจ้าเดียวที่ให้คน “เทรด” ได้โดยปราศจากค่าโบรกเกอร์ ซึ่งคนที่โมโหจากที่ Robinhood ไป “ช่วยคนรวย” ก็เริ่มนัดกันเผ่นไปเทรดที่แพลตฟอร์มอื่นกันแล้ว

อ้างอิง: