ตามปกติถ้าหากเราพูดถึงดาวเคราะห์วงแหวนในระบบสุริยะ เรามักจะนึกถึงดาวเสาร์เป็นอันดับแรก แต่ความจริงแล้วในระบบสุริยะ ดาวพฤหัส ดาวเนปจูน และดาวยูเรนัส ต่างมีวงแหวนรอบตัวเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าวงแหวนไม่ได้หนาแน่นและเห็นชัดเท่ากับดาวเสาร์

Phobos | COSMOS
ในอนาคตอันใกล้ “ดาวอังคาร” กำลังจะเป็นสมาชิกน้องใหม่ในกลุ่มดาวเคราะห์ที่มีวงแหวน
อย่างที่หลายคนทราบกันดี ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้และมีความคล้ายคลึงโลกที่สุด ดาวสีชมพูเพื่อนบ้านของเราดวงนี้ มีดวงจันทร์ 2 ดวงคือ Deimos และ Phobos
แต่ดวงจันทร์ Phobos ดูเหมือนจะไม่ได้อายุยืนยาวมากนัก
นักดาราศาสตร์ค้นพบว่าในอนาคตแรงดึงดูดของดาวอังคารจะดึง Phobos ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 22 กิโลเมตรเข้ามาใกล้มากขึ้นเรื่อยๆ หลังพบว่า Phobos ใช้เวลาในการโคจร 7 ชั่วโมง 39.2 นาทีในทิศทางที่สวนกับการหมุนรอบตัวของดาวอังคาร และดาวอังคารหมุนรอบตัวเองในเวลา 24.6 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่า Phobos โคจรรอบดาวอังคารเร็วมาก
ถ้าหากยืนอยู่บนดาวอังคาร เราจะเห็น Phobos ขึ้นและตกเป็นเวลา 3 ครั้งในหนึ่งวัน
และในวันหนึ่งข้างหน้า Phobos จะถูกดึงเข้ามามากจนถูกแรงดึงดูดฉีกกระจาย กลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและฝุ่นที่โคจรหมุนรอบดาวอังคาร หรือที่เรามักจะเห็นในรูปของ ‘วงแหวน’ รอบดวงดาวนั่นเอง
อันที่จริงก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์เคยวิเคราะห์ว่าดวงจันทร์มีวงแหวนบางๆ (บางมากๆ) จากสะเก็ดที่หลุดออกมาจากดวงจันทร์ทั้ง 2 ดวงที่ถูกอุกกาบาตพุ่งชน รวมถึงพายุสุริยะที่พัดพายุฝุ่นให้หมุนรอบดาวอังคาร

ภาพดาวอังคาร | COSMOS
นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่เชื่อว่าดาวอังคาร “เคย” มีวงแหวนมาก่อน และสลายหายไปในเวลาต่อมา
Matija Ćuk นักวิจัยจากสถานบัน SETI Institute จากแคลิฟอร์เนีย เชื่อว่าดวงอังคารเมื่อพันล้านปีก่อนเคยมีดวงจันทร์อีกดวงชื่อ Proto-Phobos ที่สลายและกลายเป็นวงแหวนในอดีต ก่อนจะรวมตัวกลายเป็น Phobos ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ด้วย
ในอนาคต Phobos ก็อาจถูกแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารฉีกสลายกลายเป็นวงแหวนอีกครั้ง
ทั้งนี้ คำว่า ‘อีกครั้ง’ ที่เรากล่าวถึงคือประมาณ 25-75 ล้านปีข้างหน้าเท่านั้นเอง เราทุกคนคงหมดสิทธิ์ได้ดูวงแหวนของดาวอังคาร หรือเผลอๆ อาจไม่มีมนุษย์คนไหนได้อยู่ดู เพราะเมื่อเวลานั้นมาถึง มนุษย์อาจสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้
อ้างอิง:
- COSMOS. Did Mars have rings? Will it again?. https://bit.ly/3pDPaAZ
- Astrnomy. How moon dust will put a ring around Mars. https://bit.ly/3lNvqIB