3 Min

รู้จัก ‘สิทธิที่จะตาย’ Right to Die ผ่านการเดินทางครั้งสุดท้ายของ ‘จันทรำไพ’ นักเขียนไทยผู้เลือกการุณยฆาตที่สวิตเซอร์แลนด์

3 Min
3520 Views
17 May 2022

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

การขอจบชีวิตแบบการุณยฆาตมีแนวโน้มเป็นหนทางที่ถูกเลือกมากขึ้นทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา สำหรับประเทศไทย หลังหนุ่มไทยผู้ป่วยเนื้องอกในสมองเลือกจบความทรมานนับสิบปี เข้ารับการการุณยฆาตไปแล้วเมื่อปี 2562 ล่าสุดก็มีนักเขียนรุ่นใหญ่ของไทยอย่างจันทรำไพเลือกจบชีวิตด้วยการทำการุณยฆาตอีกคนที่สวิตเซอร์แลนด์


ต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อปีติ วิริยะหรือจิตติ หนูสุขนักเขียนบรรณาธิการ ผู้ดูแลแฟนเพจข่าวสารวงการหนังสือไทย ได้เขียนเรื่องราวบอกเล่าถึงจันทรำไพนักเขียนชาวไทย นิสิตสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นแรก ซึ่งปัจจุบันน่าจะมีอายุราว 80 ปีเศษ ทั้งยังเป็นน้องสาวต่างมารดาของนายผีหรืออัศนี พลจันทรนักประพันธ์และนักปฏิวัติซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้แต่งเนื้อเพลงเดือนเพ็ญได้เสียชีวิตแล้วด้วยวิธีการุณยฆาตเมื่อสองสามเดือนก่อน

ในข้อเขียนดังกล่าวอ้างถึง Woody Mayo ซึ่งบอกเล่าว่า

เมื่อสองสามเดือนก่อนยายคุณ #จันทรำไพ นักเขียนผู้มากด้วยประสบการณ์ ได้ออกเดินทางไกลด้วยวิธีการุณยฆาตซึ่งในช่วงสุดท้ายของชีวิต ยายติดต่อสื่อสารกับรุ่นน้องของผมคนหนึ่ง ส่วนกับผมจะส่งเมล์มาหาเป็นระยะ จนก่อนวันสุดท้าย ผมได้คุยกับยายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งยายรู้วันออกเดินทางไกลแล้วว่าเป็นวันไหนแต่ยายไม่ได้บอกผม จนสองวันก่อนออกเดินทางไกล รุ่นน้องได้ส่งข้อความมาบอกว่า พรุ่งนี้ยายจะออกเดินทางไกล ตอนเวลาแปดโมงตามเวลาของประเทศสวิส โดยทิ้งท้ายว่า ยายขอไม่ให้บอกใครถึงการออกเดินทางไกลของยาย ผมรับรู้และเข้าใจ

ยายเป็นน้องสาวต่างมารดาของ ลุงอัศ (อัศนี พลจันทร) พ่อของยายเป็นคุณพระ ที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ ยายเป็นสาวสวยในยุคนั้น เอาเป็นว่าหนุ่มถาปัด จุฬา รุ่นแรกไล่จีบยายกันหลายคน ยายเจอหนุ่มสวิสที่หล่อมากมาย เลยตัดสินใจไม่เรียน แล้วตามหนุ่มสวิสไปใช้ชีวิตต่างแดน ในวัยยี่สิบกว่าๆ ถ้ายายเลือกที่จะเป็นนกน้อยในกรงทอง ยายสามารถเป็นชนชั้นสูงในประเทศนี้ได้อย่างสบาย แต่ยายเลือกจะไปตกระกำลำบากกับหนุ่มชาวสวิส ที่อีกฟากมหาสมุทร โดยไปเป็นชาวไร่อยู่ที่เอกวาดอร์ ยายเคยบอกผมว่า ถ้าจะเป็นนกน้อยในกรงทองมีพร้อมทุกอย่างแต่ไม่มีอิสระในการใช้ชีวิต มันก็ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

ผมไม่แปลกใจที่ยายเลือกตัดสินใจออกเดินทางไกล ด้วยวิธีนี้ อย่างน้อยยายเป็นคนจำนวนไม่มากบนโลกนี้ที่สามารถกำหนดชะตาขีวิตของตัวเองได้

ยายจากไปด้วยสติ และรอยยิ้ม ที่สำคัญยายมีความสุขที่ได้ทำอะไรให้กับตัวเองเป็นครั้งสุดท้ายยายผู้กำหนดชีวิตตัวเอง ไม่ต้องถามผมอีกแล้วนะว่ายายเป็นอย่างไรบ้าง ยายสบายดีครับ รักคนอ่าน / Woody”

สำหรับจันทรำไพคือนามปากกาของจันทรำไพ พลจันทร์ วิลล์ซึ่งเดินทางไปใช้ชีวิตคู่กับสามีชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่ประเทศแถบลาตินอเมริกา และมีผลงานประพันธ์หลายเล่มที่ครองใจนักอ่านในห้วงเวลากว่า 4 ทศวรรษ อาทิ กาลาปาโก้ส, กาแฟรสเสน่หา, อมาญาส์, กระท่อมในดง, ฝากหัวใจไว้เอควาดอร์, จากต้นจนอวสาน, จดหมายแก้เหงาจากจันทรำไพ ฯลฯ โดยนวนิยายบางเล่มตีพิมพ์หลังเผยแพร่ลงในนิตยสารสตรีสาร และลลนา ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างมาก

เดินทางไกลครั้งสุดท้าย ในนามของการจบชีวิต

การการุณยฆาตเป็นหนึ่งในการใช้สิทธิที่จะตาย หรือสิทธิในการตาย (Right to Die) ซึ่งก่อนหน้าจะมีกรณีของจันทรำไพ เคยมีหนุ่มไทยชื่อกอล์ฟซึ่งเคยเขียนบันทึกบอกเล่าอาการป่วยด้วยโรคเนื้องอกผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัว (Vis Arshanakh) โดยเขาต้องผ่าตัดซ้ำหลายครั้งจนเผชิญความทุกข์ทรมานนานกว่า 10 ปี จึงตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยวิธีการุณยฆาต ซึ่งเป็นการยุติชีวิตตัวเองอย่างถูกกฎหมาย ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นกรณีแรกที่ทำให้คนไทยให้ความสนใจกับการทำการุณยฆาต

การการุณยฆาต มี 2 รูปแบบที่สำคัญคือการุณยฆาตเชิงรุก’ (Active euthanasia) โดยการฉีดยาเพื่อเร่งให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย เหมือนกับการประหารชีวิตนักโทษ กับการุณยฆาตเชิงรับ’ (Passive euthanasia) ที่มาจากความต้องการโดยตรงของผู้ป่วย ให้ตัดการรักษาทั้งหมด และเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ใช้ในสถานพยาบาลหลายแห่งทั่วทั้งโลก

ส่วนนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องและเป็นข้อถกเถียงช่วงปลายปี 2021 มาจากบริษัท Exit International ที่ได้เปิดตัวเครื่องพิมพ์ 3 มิติชื่อว่าซาร์โก’ (Sarco) ซึ่งเป็นแคปซูลขนาดใหญ่สำหรับใช้การุณยฆาตแบบไม่เจ็บและทรมาน โดยมีการสร้างปุ่มให้ผู้ป่วยกดเอง จากนั้นตัวเครื่องจะปล่อยไนโตรเจนออกมาในระยะเวลา 30 วินาที ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในระยะเวลาไม่เกิน 10 นาทีจากการขาดออกซิเจน

ความพิเศษคือแคปซูลซาร์โกสามารถเคลื่อนย้ายไปที่ไหนก็ได้ เพื่อให้วาระสุดท้ายในชีวิตของผู้ป่วยได้อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ตนเองต้องการที่สุดในชีวิต และแคปซูลดังกล่าวผ่านการรับรองทางกฎหมายแล้วในสวิตเซอร์แลนด์ แม้จะเผชิญเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายว่านวัตกรรมนี้มีความเหมาะสมกับความเป็นมนุษย์หรือไม่

ปัจจุบันนี้มีเพียง 12 ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาต ได้แก่ เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, แคนาดา, โคลัมเบีย, สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และอินเดีย

อ้างอิง

  • Facebook/booklifecycle. นักเขียน #ลาลับไปอีก๒๕๖๕: จันทรำไพ เป็นนิสิต ถาปัดจุฬาฯ รุ่นแรก อายุ ๘๐ ปี โดยวิธีการุณยฆาต. https://bit.ly/3slpMmg
  • Nation TV. “นวัตกรรมการุณยฆาตเมื่อความตายกลายเป็นทางเลือก อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ใคร. https://bit.ly/39MVF0O
  • Blockdit/Eat.Pray.Love. จันทรำไพ. https://bit.ly/39AZgyM