1:1,680 คือสัดส่วนหมอ 1 คนต่อประชากรไทย แม้จะดีขึ้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาหมอกระจุกที่ส่วนกลาง
อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
ถ้าเปรียบเทียบจำนวนหมอกับประชากรทั่วประเทศไทยอยู่ที่ 1:1,680 คน ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ 1:1,000 คนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่มากนัก แต่จริงๆ หมอไทยกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ มากเกินไป ส่วนแพทย์เฉพาะทางก็ขาดแคลน แต่ที่น่ากลัวสุดคือ ‘พยาบาลเทคนิค’ ต้องดูแลคนไข้ในสัดส่วน 1:15,933 คน ซึ่ง อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ดูเหมือนจะ ‘ปล่อยเกียร์ว่าง’ โดยบอกว่าตอนนี้ ‘ทำอะไรไม่ได้’ เพราะเป็นแค่ ‘รมว.รักษาการ’
ตัวเลขในรายงาน ‘ทรัพยากรสาธารณสุข’ ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2564 อาจดูเหมือน ‘มีความหวัง’ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ของไทยนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับสัดส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากรทั่วประเทศเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 1:2,535 คน ปัจจุบันอยู่ที่ตัวเลข 1: 1,680 คน ก็น่าจะถือว่า ‘พัฒนา’ ขึ้นมาก
หรือถ้าจะเทียบกับเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้คร่าวๆ ว่าสัดส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากรที่ ‘เหมาะสม’ ควรจะอยู่ที่ประมาณ 1:1,000 คน ก็ยิ่งดูเหมือนว่าไทยไม่น่าจะมีปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพออย่างที่หมออินเทิร์นหรือบุคลากรทางการแพทย์หลายคนบ่นๆ กัน
แต่ปัญหาในวงการสาธารณสุขไทยไม่ได้มีแค่นั้น เพราะถ้าไปดูตัวเลขอื่นๆ ประกอบกัน จะเห็นว่าเรากำลังมีปัญหาแพทย์กระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ หรือถ้าพูดให้ชัดๆ ก็คือหมอไทยอยู่ใน ‘กรุงเทพฯ’ มากที่สุด เพราะในรายงานฉบับเดียวกันระบุว่า จำนวนหมอทั่วประเทศในปี 2564 รวม 38,820 คน แบ่งเป็น ‘หมอในกรุงเทพฯ’ ไปแล้ว 10,595 คน หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของหมอทั้งหมด
ส่วนอีก 21 จังหวัดในภาคกลาง มีหมอกระจายตัวอยู่ 9,875 คนเท่านั้น เช่นเดียวกับภาคเหนือที่มีหมออยู่ประมาณ 5,935 คนใน 15 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหมอ 7,891 คนใน 20 จังหวัด และภาคใต้มีหมอ 4,524 คนกระจายตัวใน 14 จังหวัด ซึ่งก็ชัดเจนว่าตัวเลขหมอแบบรวมๆ ในแต่ละภาคยังน้อยกว่าจำนวนหมอในเมืองหลวงเสียอีก
ด้วยเหตุนี้ สัดส่วนหมอในกรุงเทพฯ ต่อประชากรที่ต้องรับผิดชอบดูแลจึงอยู่ที่ 1:515 คน ขณะที่สัดส่วนหมอต่อประชากรในจังหวัดภาคกลาง ‘อื่นๆ’ อยู่ที่ 1:1,723 คน สัดส่วนหมอต่อจำนวนประชากรในจังหวัดภาคเหนือ 1:1,944 คน สัดส่วนหมอต่อประชากรในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1:2,761 คน และสัดส่วนหมอต่อประชากรในจังหวัดภาคใต้ 1:2,081 คน
ถ้ารู้สึกว่าตัวเลขนี้ยังไม่หนักหนาสาหัสพอ ให้ไปดูสัดส่วนพยาบาลเทคนิค (หรือที่บางคนก็เรียกว่าผู้ช่วยพยาบาล) ซึ่งเป็นคนที่ต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย ‘เบื้องต้น’ เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการชำระร่างกาย ป้อนอาหาร ช่วยเหลือญาติผู้ป่วย ไปจนถึงสังเกตอาการและรายงานความเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จะมีสัดส่วนต่อประชากรเฉลี่ยทั้งประเทศ 1:15,933 คน ขณะที่สัดส่วนของพยาบาลเทคนิคต่อประชากรในกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 1:2,608 คนเท่านั้น
เมื่อพิจารณาตัวเลขทั้งหมดแล้ว ถ้ายังมีคนยืนกรานว่าการจัดการหรือการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ‘ไม่มีปัญหา’ ก็คงจะค้านสายตาใครอีกหลายคนไม่น้อยเลย และการที่บุคลากรจำนวนเพียงเท่านี้จะต้องรับมือกับประชากรในหลักพันหลักหมื่นก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่คนลาออกกันมากขึ้นเรื่อยๆ และ WHO ก็ประเมินว่าบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศรายได้ต่ำ (รวมถึงรายได้ปานกลางทั้งหลาย) จะยิ่ง ‘อพยพ’ ไปทำงานในประเทศรายได้สูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะประเทศเหล่านี้มีสวัสดิการและรายได้ ‘ดีกว่า’ ซึ่งประเทศต้นทางที่สร้างบุคลากรเหล่านี้ขึ้นมาก็จะเจอปัญหาขาดแคลนบุคลากรแบบ ‘วนลูป’ ต่อไป
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะหมอ-พยาบาลก็ต้องการความคุ้มครองด้านแรงงานเช่นกัน ถ้าคนกลุ่มนี้อยู่ในสภาพที่ร่างกายหรือจิตใจไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ก็จะส่งต่อความเสี่ยงไปถึงคนไข้ด้วยเช่นกัน โดยมีโอกาสที่จะวินิจฉัยผิดพลาดหรือเกิดเหตุขัดข้องระหว่างปฏิบัติงานสูงขึ้น ซึ่งถ้าเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็คงจะออกกฎหมายมาควบคุมเวลาการทำงานของบุคลากรเหล่านี้ และบังคับใช้ให้มีผลจริงจัง แต่ถ้าไปถามเครือข่ายหมอและพยาบาลในบ้านเราที่พยายามผลักดันเรื่องนี้มานานก็จะบอกว่า “เรื่องไม่ค่อยคืบหน้าสักเท่าไหร่” พอหมออินเทิร์นอัดคลิปเปิดใจลงในสื่อโซเชียลว่าทำไมถึงลาออกก็เลยกลายเป็นประเด็นขึ้นมาใหม่
หนึ่งในเครือข่ายที่ผลักดันเรื่องการคุ้มครองแรงงานในวงการสาธารณสุขคือ ‘สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน’ ซึ่งโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว มีการส่งหนังสือเชิญ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้มาพูดคุยกับกรรมาธิการแรงงาน เพื่อจะหาทางแก้ไขปัญหาคนทำงานต้องรับภาระหนักเกินเวลา แต่ รมว.อนุทินไม่ได้มาร่วมวงโดยที่ไม่ได้ชี้แจงว่าเพราะเหตุใด
ล่าสุด รมว.อนุทิน ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อไทยว่า “ไม่ขอออกความเห็น” เพราะขณะนี้ตัวเขาเป็นเพียง ‘รมว.รักษาการ’ เท่านั้น และถ้าถามว่าสามารถแก้ไขอะไรได้ไหมตอนนี้ “ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี”
อ้างอิง
- NSO. สัดส่วนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต่อประชากร. https://tinyurl.com/2p9f6xdf
- News Ch7. สหภาพแพทย์แฉ อนุทิน ไม่มาตามนัด คุยเรื่องแพทย์ขาดแคลน. https://tinyurl.com/mwdvwwfe
- WHO. WHO Raises Alarm Over Increased Healthcare Worker Migration to Rich Countries Post Pandemic. https://tinyurl.com/y68k2rh5