แรดที่ดีที่สุด คือแรดที่ไม่มีนอ? เมื่อนักอนุรักษ์หันมาตัดนอแรด เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันถูกฆ่า

3 Min
990 Views
21 May 2021

การระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ต้นปี 2020 ได้ช่วยชีวิตแรดในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ไว้ได้เป็นจำนวนมาก

ดังจะเห็นว่าสถิติการ “ล่าแรดเพื่อเอานอ” ของปีที่ผ่านมาลดลงอย่างมาก โดยมีแรดถูกล่าเพียง 394 ตัว จากที่ปี 2019 มีแรดถูกล่า 594 ตัว รวมถึงคดีการจับกุมก็เกิดขึ้นน้อยกว่าปีก่อนๆ

แต่ทันทีที่โควิด-19 เร่ิมระบาดลดลง การล่าแรดในประเทศแอฟริกาใต้ก็กลับมาเพิ่มขึ้นในทันใด ราวกับอัดอั้นกันมานาน (แต่ยังไม่เปิดเผยตัวเลขว่าเพิ่มขึ้นเท่าไร)

ปัญหาการล่าแรดเพื่อเอานอนี้เป็นเรื่องคาราคาซังมานาน และเป็นโจทย์ที่นักอนุรักษ์กับหน่วยงานด้านสัตว์ป่าพยายามหาวิธีป้องกันสารพัดทาง ทั้งถือปืนคุ้มกันก็แล้ว ทำนอแรดปลอมออกมาขายก็แล้ว แต่ก็ไม่สามารถลดการล่าลงได้ ตราบเท่าที่ความต้องการยังมี และคนยังเชื่อว่านอมีประโยชน์

ครั้นจะอาศัยโรคระบาดอีก ก็ดูจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่ควรสักเท่าไร แล้วเราควรทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี?

พิทักษ์ป่าประเทศซูดานยืนคุ้มกันแรดขาวเหนือเพศผู้ที่เหลืออยู่เพียง 5 ตัวสุดท้ายในปี 2015

พิทักษ์ป่าประเทศซูดานยืนคุ้มกันแรดขาวเหนือเพศผู้ที่เหลืออยู่เพียง 5 ตัวสุดท้ายในปี 2015 l The Nature Converation

ถ้าแรดไม่มีนอ พวกมันก็ไม่ถูกฆ่า

ที่เขตอนุรักษ์แรด KwaZulu-Natal ในประเทศแอฟริกาใต้ นักอนุรักษ์ได้ตัดสินใจใช้วิธีที่ต้องปาดน้ำตาตัวเองไประหว่างทำงาน โดยการชิงลงมือตัดนอแรดทิ้งไปเสียก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าแรดไม่มีนอ มันก็จะไม่ราคาและไม่เป็นที่ต้องการของพวกลักลอบล่าสัตว์ สุดท้ายก็จะไม่ถูกล่าให้เศร้าใจยิ่งกว่าเก่า

เพราะมูลค่าของแรดจริงๆ แล้วมีแค่ราคานออย่างเดียว ชิ้นส่วนอื่นๆ ของร่างกายเอาไปขายทำอะไรแทบไม่ได้เลย ต่างจากเสือที่เอาไปขายได้ทั้งตัว ยีราฟที่ใช้ได้ทั้งหนังทั้งหาง แถมแรดยังเป็นสัตว์ที่มีน้ำหนักมาก ไม่เหมาะกับการลักลอบล่าที่ต้องการความรวดเร็วในการขนย้าย

วิธีนี้อาจจะฟังดูโหดร้าย แต่สิ่งที่นักอนุรักษ์ในแอฟริกาใต้ตัดสินใจทำก็เพราะว่านอแรดมีคุณสมบัติแบบเดียวกับเล็บของคนเรา ดังนั้น ในคำอธิบายแบบง่ายๆ ก็เหมือนการตัดเล็บ (ซึ่งก็คือ นอ) ให้กับแรดนั่นเอง

และที่สำคัญ ถึงจะตัดไปแล้วนอก็จะค่อยๆ งอกขึ้นมาใหม่ ซึ่งใช้เวลาราวๆ 2 ปี นอก็กลับมามีขนาดเท่าเดิม

ระหว่างนัดนอนักอนุรักษ์จะใช้ผ้าปิดตาแรดไว้ เพื่อไม่ให้พวกมันมองเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ที่อาจนำไปสู่ความเครียดได้

ระหว่างนั้นนักอนุรักษ์จะใช้ผ้าปิดตาแรดไว้ เพื่อไม่ให้พวกมันมองเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ที่อาจนำไปสู่ความเครียดได้ | Colombia Climate School

แนวคิดการตัดนอแรดนี้ทำกันมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว มีเขตอนุรักษ์แรดในประเทศแอฟริกาใต้และประเทศบอตสวานาสองแห่งที่นำเอาวิธีการนี้มาใช้ และก็ได้ผลในแง่ที่ว่ามีแรดถูกล่าน้อยลงจริงๆ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีแรดถูกล่าเลยเสียทีเดียว เนื่องจากขั้นตอนการทำงานต้องอาศัยทั้งเงินและเวลา ต้องซื้อเลื่อย ต้องหายาสลบ เครื่องไม้เครื่องมือจิปาถะ ซึ่งพอเป็นกิจกรรมใหม่ๆ แล้วก็ต้องหางบเข้ามาเพิ่ม อีกครั้งคนทำงานในสายงานอนุรักษ์ก็ไม่ได้มีมาก ถึงจะทำได้ไวแค่ไหน ก็ยังไม่ไวกว่าหูตาของพวกลักลอบล่าสัตว์ที่สอดส่องหาแรดมีนอจนเจออยู่ดี

ซึ่งก็กลายเป็นว่า ตอนนี้นักอนุรักษ์ต้องทำงานนี้ให้หนักขึ้นและไวขึ้นด้วย ยิ่งในช่วงที่ประเทศคลายล็อกดาวน์แล้ว และพวกลักลอบล่าสัตว์ก็ออกมาทำงานได้ตามปกติ ก็ยิ่งต้องเร่งมือกันมากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องที่ว่า หากคิดจะตัดนอแรดแล้วก็ต้องตัดให้ครบทุกตัวในอาณาเขตตรงนั้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างแรด เพราะหากแรดกับแรดมาเจอกันแล้วเกิดไม่ชอบขี้หน้ากันขึ้นมา จะได้ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นระหว่างการต่อสู้สู่สมดุลธรรมชาติ

ส่วนเรื่องที่ว่าเมื่อแรดไร้นอจะไร้อาวุธป้องกันตัวเอง ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลนัก เพราะตามปกติแล้วสัตว์ไซส์ใหญ่อย่างแรดแทบจะไม่มีศัตรูในธรรมชาติมาสู้ได้อยู่แล้ว จะมีก็แต่กระสุนปืนที่ลั่นไกมาจากสัตว์ที่เรียกว่าคนเท่านั้นที่เป็นศัตรูตัวฉกาจและไม่อาจต่อกรได้

แม้วิธีนี้จะดูค่อนข้างวุ่นวายและมากไปด้วยรายละเอียดให้ขบคิด แต่ในมุมของคนทำงานต่างก็บอกว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มเหนื่อย หากนับเอาสถิติมาเป็นตัวชี้วัด

อย่างไรก็ตาม ถึงท้ายที่สุด นักอนุรักษ์และคนทำงานเองก็ยอมรับว่านี่ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของการป้องกันแรดไม่ให้ถูกล่า การเพิ่มงานดูแลรักษาป่า เพิ่มงบประมาณให้คนทำงาน รวมไปถึงการสร้างทัศนคติให้กับประชาชนเสียใหม่ว่านอแรดมันไม่ได้มีประโยชน์จริง ทิ้งความเชื่อเก่านั้นไปเสียต่างหากที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์แรดที่ยั่งยืนกว่าในอนาคต

อ้างอิง