7 เหตุผลที่ทำให้ Se7en คือหนัง Serial Killer ที่ทรงอิทธิพลที่สุดตลอดกาล

หนังเรื่อง ‘Se7en’ คือที่สุดแห่งการพลิกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ และทรงอิทธิพลอย่างมากสำหรับหนัง Serial Killer ยุคใหม่

5 Min
817 Views
26 Sep 2023

Se7en  บาป 7 ประการ/บรรยากาศที่ชวนไม่ชอบมาพากล/ฆาตกรฉลาดอำมหิต และ ตอนจบที่ทำร้ายจิตใจคนไปตลอดกาล เหตุผลเพียงแค่นี้ก็อาจจะเพียงพอแล้วสำหรับหนัง 7 ข้อต้องฆ่าคลาสสิกอย่าง ‘Se7en’ แต่เหตุผลที่เกริ่นมาข้างต้น อาจจะน้อยเกินไป หากจะกล่าวได้ว่า หนังเรื่องนี้คือที่สุดแห่งการพลิกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ และทรงอิทธิพลอย่างมากสำหรับหนัง Serial Killer ยุคใหม่ และกลายเป็นพิมพ์เขียวหน้าสำคัญของหนังฆาตกรต่อเนื่อง รวมไปจนถึงหนัง Thriller ที่หยิบยกเอามาเป็นต้นแบบเสมอ

7 เหตุผล ที่ทำให้ Se7en คือที่สุดแห่งหนัง Serial Killer ที่ทรงอิทธิพลตลอดกาล’

Cinema_album_Se7en

1. หนังที่ทำให้ David Fincher อยากกลับมาทำหนังอีกครั้ง

สำหรับ Se7en แม้ว่ามันจะเป็นผลงานเรื่องที่สอง สำหรับผู้กำกับไฟแรงอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) แต่สำหรับเขาแล้ว เขาเลือกที่จะนับมันเป็นเรื่องแรกของการทำงานมากกว่า

จากผู้กำกับ MV ที่มีผลงานโดดเด่นในช่วงคาบเกี่ยวระหว่าง ทศวรรษที่ 80s และ 90s ฟินเชอร์เป็นที่ยอมรับในฐานะเจ้าของงานกำกับมิวสิกวิดีโอวิช่วงคมๆ คนหนึ่งของวงการ ไม่ว่าจะเป็น George Michael (‘Freedom! 90’), Madonna (‘Vogue’) หรือว่า Aerosmith (‘Janie’s Got A Gun’) จนฮอลลีวูดจีบเขาให้มากำกับหนังและประเดิมด้วยหนังไซไฟภาคต่ออย่าง Alien 3 (1992) แต่เพราะโจทย์เริ่มต้นมันยากสำหรับมือใหม่ในวงการหนังอย่างเขา ทำให้หนังภาค 3 ของแฟรนไชส์ชื่อดังเรื่องนี้ลงเอยด้วยความล้มเหลวและความผิดพลาด จนฟินเชอร์ลั่นวาจาว่า “ให้กูตายด้วยมะเร็งลำไส้ดีกว่าไปทำหนังอีกเรื่อง”

แต่ก็มีสิ่งที่ทำให้เขายอมกลืนน้ำลาย หวนคืนสู่การกำกับหนังอีกครั้ง นั่นคือเมื่อเขาได้อ่านบทหนังเรื่องหนึ่งของ แอนดรูว์ เควิน วอล์กเกอร์ (Andrew Kevin Walker) ที่ถูกเปลี่ยนมือมาหลายปี จนกระทั่งมาอยู่ในมือของฟินเชอร์ เขาไม่รีรอที่จะทำ พร้อมยื่นคำขาดว่าจะไม่มีการประนีประนอมใดๆ แม้ตอนจบจะค่อนข้างอ่อนไหว แต่เขาก็ยืนกรานที่จะทำมัน

ซึ่งจุดนี้ ทำให้ชื่อของ เดวิด ฟินเชอร์ กลายเป็นผู้กำกับที่มีผลงานน่าจับตา และมีสไตล์การทำงานที่โดดเด่น หากไม่มี Se7en ที่ปลุกไฟในตัวให้เขาขึ้นมาทำหนังจนถึงปัจจุบันที่กำลังจะมีหนังอย่าง ‘The K_.ller’ ออกฉายให้ชมกันในช่วงปลายปี

Cinema_album_Review Se7en

2. ตอนจบที่ทำร้ายจิตใจคนดูขั้นสุด

แม้ว่า Andrew Kevin Walker จะเขียนบทเรื่องนี้ระหว่างทำงานที่ Tower Records สำเร็จเสร็จสิ้นมาตั้งแต่ปี 1986 และอยู่ในมือสตูดิโอสร้างหนังมานาน แต่ทุกสตูดิโอก็ไม่มีใครกล้าพอที่จะปล่อยให้ตอนจบของมันเป็นไปตามที่วอล์กเกอร์เขียนสักราย (และเพื่ออรรถรสของคนดูหนังยุคใหม่ ขอความร่วมมืออย่าสปอยล์ตอนจบในคอมเมนต์นี้) 

จนกระทั่งบทอยู่ในมือฟินเชอร์ ที่เขาตัดสินใจคงความรู้สึกของต้นฉบับไว้ กระทั่งถ่ายทำเสร็จแล้ว ทั้งโปรดิวเซอร์ อาร์โนลด์ โคเพลสัน (Arnold Kopelson) และ New Line Studio เองก็ยังไม่มั่นใจในการปล่อยตอนจบแบบนี้ แต่ฟินเชอร์กลับยืนกรานว่าจะต้องแบบนี้เท่านั้น สุดท้ายผู้สร้างและสตูดิโอต้องยอมใจอ่อนยอมฉาย

และเมื่อออกฉาย ทุกคนต่างพุ่งเป้าไปที่ตอนจบอันแสนเหนือชั้น จนทำให้มีการพูดถึงระดับ Talk of the Town แม้จะมีหลายคนรับตอนจบอันชวนหดหู่ไม่ได้ แต่ทุกเสียงก็คิดเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า “เป็นตอนจบหักมุมที่ชวนอึ้งที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์” ซึ่งทุกวันนี้แม้จะหยิบมาดูอีกครั้งก็ยังรู้สึกว่ายังเข้ากับทุกยุคสมัย ไม่ว่ายุคไหนได้อย่างแนบเนียน

Cinema_album_Review Se7en

3. สร้างนักแสดงยอดฝีมืออย่าง Kevin Spacy

ปี 1995 ถือเป็นปีทองของนักแสดงคุณภาพอย่าง เควิน สเปซี (Kevin Spacy) เพราะกลางปี 1995 เขาเพิ่งทำคนดูอึ้งกับการแสดงในหนังอาชญากรรมยอดเยี่ยมอย่าง ‘The Usual Suspects’ มาแล้ว ไม่กี่เดือนต่อมา สเปซีก็พาการแสดงชวนช็อกให้คนดูไม่ทันได้ตั้งตัวอีกครั้งกับ Se7en ในบท จอห์น โด ฆาตกรต่อเนื่องที่ปรากฏตัวในตอนท้าย และมอบการแสดงที่ ‘น้อยแต่มาก’ และฝากความทรงจำติดตาให้ทั้งคนดูหนังและตัวละครไปตลอดกาล

สเปซีถูกสั่งให้ปิดทุกอย่างไว้เป็นความลับ ไม่มีชื่อปรากฏในสื่อ และเข้าซีนมาแบบไม่ทันคาดคิดในลุคหัวโล้นใบหน้าเรียบเฉย แต่ค่อยๆ ระเบิดการแสดงจนกลายเป็นบทฆาตกรต่อเนื่องที่น่าจดจำพอๆ กับ ฮันนิบาล ใน ‘The Silence of the Lambs’ และฉายแววการแสดงคุณภาพในเวลาต่อมา หลังจากพยายามดิ้นรนในฮอลลีวูดมาหลายต่อหลายปี 

น่าเสียดายที่อาชีพการแสดงของสเปซีถูกทำลายลง จากการกระทำในอดีตของเขาเองที่เคยคุกคามทางเพศ และถูกขุดออกมา จนทำให้เขาถูกกลืนหายไปกับกระแส #MeToo

Cinema_album_Review Se7en

4. แม้บรรยากาศในหนังจะสุดตึงเครียด แต่ก็กลายเป็นหนังที่ป๊อปได้

หลายคนที่ดู Se7en คงจำบรรยากาศความตึงเครียดที่ทะลักในหนังได้เป็นอย่างดี ความหม่นดำสุดนัวร์ ถูกฉายไปพร้อมศพแล้วศพเล่าที่ถูกฆ่าตายตามบาป 7 ประการ ถูกนำเสนออย่างมืดหม่นเต็มพิกัด สร้างบรรยากาศความกลัว ความหวาดระแวง และความไม่น่าไว้วางใจได้อย่างดี

แต่ถึงหนังจะมืดมนอนธการแค่ไหน Se7ven ก็ป๊อปในหมู่นักดูหนัง ด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นจนทำรายได้แรงถึง 327 ล้านดอลลาร์ ทั่วโลก

ซึ่งบรรยากาศของ Se7en ก็ส่งอิทธิพลต่อหนังแนวอาชญากรรมสุดหม่นในหลายต่อหลายเรื่องในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นสภาพเมืองที่บัดซบ หรือสภาพจิตใจอันแสนพิกลพิการของตัวละครที่ได้ใบเบิกทางมาจาก Se7en แทบทั้งสิ้น

Cinema_album_Review Se7en

5. เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์หนัง Serial Killer ไปตลอดกาล

ลูกล่อลูกชนของ จอห์น โด ที่ปั่นประสาททั้งตัวละครและคนดูในยุคทศวรรษที่ 90s นั้น นับเป็นเรื่องใหม่ไม่น้อย จากที่ The Silence of the Lambs เคยทำไว้ แต่การผสมรวมทั้งความตื่นเต้น บรรยากาศที่ชวนไม่น่าไว้วางใจ ไปจนถึงความพีคในตอนจบนั้น Se7en เป็นผู้ริเริ่ม จนหลังจากนั้นหนังแนวฆาตกรรมต่อเนื่อง ไล่ล่าหาฆาตกรสุดโฉด และความวิปริตในการฆ่านั้นก็ทยอยตามมาหลังจากนั้น และทำให้บาร์ของหนัง Serial Killer สูงขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่า หนังเรื่องไหน ไม่ฉลาด ไม่จบอึ้งเท่า Se7en ก็ไม่มีวันได้เกิดเลยในยุคนั้น

Cinema_album_Review Se7en

6. พิมพ์เขียวซีรีส์คู่หูนักสืบ

การจับคู่ของ แบรด พิตต์ (Brad Pitt) และ มอร์แกน ฟรีแมน (Morgan Freeman) ในฐานะคู่หูนักสืบ ก็ถือได้ว่าเป็นเคมีที่เข้ากันอย่างพิเศษ ความเลือดร้อนของพิตต์ และความสุขุมของฟรีแมน กลายเป็นต้นแบบของหนังหรือซีรีส์คู่หูนักสืบ ที่ถูกเอามาเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหนังหรือซีรีส์เรื่องอื่นๆ ในเวลาต่อมา

และถึงแม้แนวทางนี้อาจจะไม่ได้ใหม่ แต่กระบวนการสืบผ่าศพก็ทำให้ Se7en เป็นต้นขั้วของซีรีส์แนวนี้ อย่าง ‘CSI’ รวมไปถึงความเข้มข้นของการสืบ จากเรื่อง ‘True Detective’ ก็ล้วนแล้วแต่มีแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าจาก Se7en แทบทั้งนั้น

Cinema_album_Review Se7en

7. การร่วมมืออีกหลายๆ ครั้งต่อมา ระหว่าง Brad Pitt และ David Fincher

ในช่วงปี 1995 แบรด พิตต์ อยู่ในช่วงค่อยๆ ดังอย่างต่อเนื่อง แต่หนังส่วนใหญ่ที่เขาแสดงยังถูกผูกโยงกับภาพลักษณ์และใบหน้า โดยเฉพาะผมยาวสลวยของเขาในหนังอย่าง Interview with the Vampire (1994) หรือ Legends of the Fall (1994) แต่ใน Se7en พิตต์มารับบทนำด้วยการหั่นผมของเขาทิ้ง และมอบการแสดงที่รวมทุกมิติของความเป็นมนุษย์เอาไว้ และท้ายที่สุดชื่อชั้นของพิตต์ก็ก้าวไปอีกขั้นจากการแสดงหนังเรื่องนี้

แต่มากกว่านั้น ความผูกพันระหว่างตัวเขากับผู้กำกับฟินเชอร์ กลับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เมื่อพิตต์มักจะกลับมาเล่นหนังให้กับฟินเชอร์อยู่บ่อยๆ ในโปรเจกต์อย่าง Fight Club (1999) และ The Curious Case of Benjamin Button (2008) ที่ส่งให้เขาเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม

ล่าสุดผลงานการกำกับของฟินเชอร์อย่าง The K_.ller ที่ฉายทาง Netflix ก็สร้างโดย PlanB บริษัทสร้างหนังของพิตต์ แสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองได้เป็นอย่างดี

บทความที่คุณอาจสนใจ:

ย้อนดู 5 หนังในอดีตที่มี AI เป็นตัวละครหลัก

4 เกร็ดที่น่าสนใจของหนัง Almost Famous ที่จะทำให้คุณรักหนังเรื่องนี้ยิ่งขึ้นไปอีก

ติดตาม BrandThink Cinema ช่องทางอื่นๆ ได้ที่: https://linktr.ee/brandthinkcinema