Metropolis (1927) ปฐมบทแห่งหนังไซไฟ ต้นกำเนิด C-3PO ใน ‘Star Wars’
‘Metropolis’ หนังที่ปฏิวัติวิสัยทัศน์แห่งโลกอนาคตที่ทำให้มวลมนุษยชาติไม่สามารถมองวันข้างหน้าได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
คงเป็นเรื่องยากที่เราจะคาดเดาหรือทำนายโลกแห่งอนาคตในอีกร้อยกว่าปีว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ยิ่งในยุคทศวรรษ 1920s ที่เทคโนโลยีของมนุษยชาติยังอยู่ในช่วงหัดคลานด้วยแล้ว ซ้ำร้ายยังเพิ่งบอบช้ำจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 มาหมาดๆ เราก็ยิ่งนึกภาพไม่ออกเลยว่า วันพรุ่งนี้โลกจะหมุนไปอย่างไร
แต่ยังมีหนังเรื่องหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานในการสร้างวิสัยทัศน์แห่งโลกอนาคตที่แสนก้าวล้ำ และกลายเป็นพิมพ์เขียวสำคัญของการวางรากฐานของหนังไซไฟ (Sci-Fi) จนกลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่นักดูหนังและคนทำหนังยังคงยกย่องมาจนถึงทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 100 ปีก็ตาม หนังเรื่องนั้นก็คือ ‘Metropolis’ หนังที่ปฏิวัติวิสัยทัศน์แห่งโลกอนาคตที่ทำให้มวลมนุษยชาติไม่สามารถมองวันข้างหน้าได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
แม้จะได้รับการยกย่องขนาดนั้น แต่กว่าที่ผู้คนจะกล่าวคำยกย่องสรรเสริญ Metropolis กลับเต็มไปด้วยอุปสรรคและถูกดูแคลนจากผู้คนหลายวงการ ซ้ำยังเป็นที่ชิงชังจากคนดูจนหนังขาดทุนย่อยยับ และถูกดัดแปลงแก้ไขจนเวอร์ชันต้นฉบับที่สมบูรณ์แบบหายสาบสูญไปตลอดกาล
จุดเริ่มต้นของ Metropolis หนังสัญชาติเยอรมันสุดล้ำ สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกัน ที่ประพันธ์โดย ธีอา ฟอน ฮาร์บู (Thea von Harbou) ภรรยาของ ฟริตซ์ ลัง (Fritz Lang) ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ทั้งสองร่วมกันวาดภาพอนาคตในจินตนาการผ่านแรงบันดาลใจจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายของ เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) รวมไปถึง ‘Frankenstein’ ของ แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley)
อีกทั้งการได้เห็นตึกสูงระฟ้าเมื่อครั้งมาเที่ยวที่มหานครนิวยอร์ก ทั้งสองจึงร่วมกันเขียนนวนิยายส่งนิตยสารรายสัปดาห์ เพื่อตั้งใจนำเรื่องราวมาทำเป็นหนังในเวลาต่อมา โดยเล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำของอภิสิทธิ์ชนที่ใช้ชีวิตสูงส่งบนยอดตึกสูงเสียดฟ้า และพลเมืองใต้ดินที่อยู่กันอย่างอัตคัดขัดสน ท่ามกลางเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยจักรกล และการเข้ามายึดครองของหุ่นยนต์ที่ไร้หัวใจ
Metropolis เต็มไปด้วยอุปสรรคตั้งแต่ก้าวแรกในการถ่ายทำ ไม่ว่าจะเป็นทุนสร้างที่สูงเป็นประวัติการณ์ (ประมาณ 22 ล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน) ใช้จำนวนนักแสดงประกอบนับพัน การถ่ายทำที่กินเวลายาวนานกว่า 17 เดือน และโปรดักชันดีไซน์ที่แปลกตาแต่บ้าคลั่ง ที่ ฟริตซ์ ลัง แลกกับปัญหามากมายเพื่อให้ได้หนังเรื่องยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา
แต่เมื่อหนังแล้วเสร็จออกฉายในรอบปฐมทัศน์ ผลลัพธ์ที่ได้ คือหนังความยาว 153 นาที ที่มีแต่คนส่ายหน้า ความซับซ้อนของเนื้อเรื่องที่ยากจะเข้าใจ โลกอนาคตอันเสื่อมโทรมที่ผู้คนไม่ต้องการจะเห็น ไปจนถึงความยาวของหนังที่ทำให้บทวิจารณ์ของฟากฝั่งคนดูในรอบแรก มีแต่เสียงก่นด่า จึงมีการตัดต่อใหม่จนเหลือความยาว 116 นาที ทำให้มีเพียงกลุ่มคนกลุ่มแรกและเพียงกลุ่มเดียวในรอบปฐมทัศน์เท่านั้นที่ได้ดูหนังฉบับสมบูรณ์
แต่ถึงจะตัดต่อใหม่ หลายคนก็ยังไม่ชอบอยู่ดี โดยเฉพาะ เอช. จี. เวลส์ นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังและเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการทำหนังเรื่องนี้ เมื่อดูจบเขาถึงกับเขียนด่าลงใน The New York Times ว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ดูหนังโง่ๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าไม่มีหนังเรื่องไหนจะงี่เง่าได้เท่าเรื่องนี้แล้ว”
ความเห็นนี้ทำให้ลังถึงกับสูญเสียความมั่นใจไปเลย
ถึงจะมีคนชิงชัง แต่ก็ยังมีคนที่โปรดปราน หนึ่งในนั้นคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) และ โยเซฟ กับเบลส์ (Joseph Goebbels) ผู้นำเผด็จการที่ชื่นชอบแนวคิดของหนังเรื่องนี้อย่างมาก ถึงขนาดจะแต่งตั้งลังให้เป็นอารยันกิตติมศักดิ์ ทั้งที่แม่ของลังเป็นยิว พร้อมทั้งเสนองานให้เขาดูแลหนังโฆษณาชวนเชื่อของนาซีทั้งหมด จนลังต้องระเหเร่ร่อนหนีจากเยอรมนีไปปารีสทันทีเมื่อได้รับข้อเสนอนั้น
แต่หนังที่ขาดทุนย่อยยับ ไม่มีใครเหลียวแล กลับค่อยๆ ฉายความยอดเยี่ยมในเวลาต่อมา กลายเป็นหนังที่ทรงอิทธิพลและเป็นพิมพ์เขียวของหนังไซไฟโลกมืดที่เราได้เห็นอย่างดาษดื่น ไม่ว่าจะเป็น ง2001: A Space Odysey’ หรือ ‘Blade Runner’ ต่างก็ได้รับแรงบันดาลใจจาก Metropolis แทบทั้งสิ้น
รวมไปถึงงานโปรดักชันดีไซน์ที่เป็นของแปลกในยามออกฉาย แต่กลายเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจในกาลต่อมา หุ่นยนต์สาว Maria เป็นต้นแบบของแอนดรอยด์ และเป็นไอคอนสำคัญแห่งป๊อปคัลเจอร์ และอย่างน้อยที่สุด C-3PO จักรกลประดิษฐ์ในหนัง ‘Star Wars’ ก็ได้รับแรงบันดาลใจอย่างไม่ปิดบัง
โลกดิสโทเปียในที่ปรากฏในหนังค่อยๆ กลายเป็นจริงในโลกปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ผู้คนในยุคนั้นคิดว่าเป็นเพียงแค่เรื่องเพ้อฝันกลับทำได้จริงในยุคนี้
จึงเป็นที่ประจักษ์ได้ว่า ความพยายามของ ฟริตซ์ ลัง หาได้สูญเปล่า ความล้มเหลวในช่วงต้น กลับเรืองรองในช่วงปลาย กาลเวลาคือพยานสำคัญที่ผลักดันให้หนังเรื่องนี้ยิ่งใหญ่ แท้จริงแล้วลังอาจไม่ใช่แค่นักทำหนัง แต่เขายังเป็นคนชี้ชะตาอนาคตของโลกอีกด้วย