ถึงจะอัปลักษณ์ ก็รักเป็น สำรวจ ‘ความอัปลักษณ์’ ผ่านเรื่อง Cyrano แต่ละเวอร์ชัน

สำรวจ 'ความอัปลักษณ์' ผ่านเรื่อง Cyrano แต่ละเวอร์ชัน

4 Min
469 Views
30 Aug 2023

ถ้าจะพูดถึงเรื่องราวของ ซีราโน เดอ แบร์เฌอรัก (Cyrano de Bergerac) หรือ ซีราโน (Cyrano) ในรูปแบบของความบันเทิงร่วมสมัยแล้ว คงต้องอ้างอิงถึงเวอร์ชันภาพยนตร์มิวสิคัลที่ลงสตรีมมิงให้ได้รับชมกันอย่างสะดวกทาง Prime Video ก่อน ซึ่งเวอร์ชันที่ว่านี้ได้ ปีเตอร์ ดิงเคลจ (Peter Dinklage) ที่คอซีรีส์จำนวนมากคุ้นหน้าคุ้นตาเขาดีจากเรื่อง ‘Game of Thrones’ มารับบทนำ แต่เรื่องราวสุดคลาสสิกของ ซีราโน เป็นสิ่งที่ถูกผลิตซ้ำมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว และคอละครเวทีก็น่าจะต้องเคยผ่านตาไม่เวอร์ชันใดก็เวอร์ชันหนึ่ง โดยเนื้อหามีศูนย์กลางอยู่ที่ ‘รูปลักษณ์’ ของตัวละครเอกตัวนี้

‘Cyrano de Bergerac’ เป็นบทละครเวที ที่เวอร์ชันดั้งเดิมถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1897 โดยอ้างอิงจากบุคคลที่เคยมีตัวตนอยู่จริง และเป็นที่รู้จักในชื่อเดียวกัน หรือชื่อเต็มๆ ว่า ซาวีเนียง ซีราโน เดอ แบร์เฌอรัก (Savinien Cyrano de Bergerac) ที่เป็นทั้งกวี นักประพันธ์ และนักดวลชาวฝรั่งเศส หลายคนเชื่อว่าตัวละครที่เขียนขึ้นมามีลักษณะใกล้เคียงกับตัวจริงในหลายด้าน แต่ก็ไม่มีบันทึกยืนยันหนักแน่นเพียงพอ สำหรับในเวอร์ชันบทละครแล้ว นี่เป็นเรื่องราวของทหารฝรั่งเศสที่เก่งกาจรอบด้าน มีเพียงจุดด้อยเดียวคือ ‘ความไม่น่ามอง’ ของเข้า

จุดสำคัญที่ถูกขับเน้นในแทบทุกงานประพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับซีราโน ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่ออรรถรสความบันเทิง หรือเพื่อบรรยายลักษณะที่แท้จริงของซีราโนตัวจริงก็ตามแต่ ก็คือ หน้าตาของเขา ซึ่งถูกวางคาแรกเตอร์ให้เป็นคนอัปลักษณ์ที่มีเสน่ห์อย่างยิ่งในการพูด นั่นคือ เป็นคนคารมคมคาย มีวาทศิลป์เป็นเลิศ และทักษะการเขียนยอดเยี่ยม สามารถร้อยเรียงคำพูดต่างๆ มาหว่านล้อมผู้ฟัง และสามารถทำได้ดีในระดับที่อีกฝ่ายพร้อมจะตกหลุมรัก

และนั่นก็คือประเด็นที่ถูกบอกเล่าในเรื่อง ซีราโนเป็นชายที่มีความรัก แต่เขามีรูปลักษณ์ไม่น่ามองจนตัวเองก็ไม่อยากจะแสดงออกว่าตนมีความรัก ความไม่น่ามองทำให้เขาไม่กล้าจะเข้าหาใครก่อน ไม่กล้าแม้แต่จะหวังให้ตัวเองถูกรักโดยผู้หญิงที่หน้าตาไม่สวยงามด้วยซ้ำ ซึ่ง ‘ความอัปลักษณ์’ ของตัวละครซีราโนถูกบอกเล่าแตกต่างกันไปในแต่ละเวอร์ชัน ตามแต่จะนำไปเรียบเรียงขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่แล้ว ภาพจำของซีราโนมักเป็นชายจมูกโตที่สัดส่วนจมูกไม่รับกับใบหน้า หรือผิดรูปอย่างน่าเกลียด

โฮเซ เฟร์เรร์ (José Ferrer) นักแสดงชาวเปอร์โตริโก ก็เคยชนะรางวัลออสการ์และรางวัลลูกโลกทองคำ จากบทบาทนี้ ในภาพยนตร์ปี 1950 ซึ่งก็นำเสนอภาพตัวละครที่จมูกโตจนน่าประหลาด ขณะที่ภาพยนตร์เวอร์ชันล่าสุด ปี 2021 ที่สร้างต่อเนื่องจากละครเวทีและแคสต์ ปีเตอร์ ดิงเคลจ มาเล่นในทั้งสองโปรดักชัน เลือกที่จะใช้ภาวะคนแคระของเขา ในการนำเสนอภาพความไม่น่ามอง ไม่เป็นที่น่าหมายปองของคนทั่วไป

บทซีราโนนี้ ไม่ได้ถูกนำเสนอแค่ในฝั่งฮอลลีวูด หรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักเท่านั้น แต่เราจะเห็นโปรดักชันเรื่องนี้ในรูปแบบละครเวทีในประเทศฝั่งเอเชียด้วย อย่างในเกาหลีเอง ก็มีละครเวที Cyrano de Bergerac (시라노 드 베르주라크) มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่ผ่านมา ก็เป็น ‘ซีราโน จมูกโต’ เช่นเดิม แต่ความคุ้นชินนี้อาจจะค่อยๆ เปลี่ยนไป หลังจากที่คณะละครฝั่งอังกฤษเลือกที่จะรื้อสร้างบทประพันธ์นี้ และนำเสนอในรูปแบบใหม่ ผ่านการแสดงอันทรงพลังของ เจมส์ แม็กอะวอย (James McAvoy) นักแสดงมากความสามารถชาวสกอตแลนด์

ในละครเวทีฉบับ เจมส์ แม็กอะวอย ทั้งโปรดักชันถูกปรับโฉมให้ร่วมสมัยยิ่งขึ้น ความเป็นมิวสิคัลแบบดั้งเดิมถูกลดทอนลงเหลือเป็นละครพูด (กึ่งๆ แร็ป) เข้าจังหวะ เสื้อผ้านักแสดงไม่ได้ถูกจัดสรรอย่างสวยงาม เข้ากับบทบาท กลับกัน นักแสดงแต่ละคนดูจะสวมใส่ชุดของตัวเองที่พวกเขารู้สึกสบายที่สุดมากจากบ้าน บ้างก็เสื้อยืดเรียบๆ บ้างก็ชุดออกกำลังครบเซ็ต และบ้างก็เสื้อหนังธรรมดาๆ พอให้ดูใกล้เคียงตัวละครที่ได้รับบทบาทก็เท่านั้น

ที่สำคัญอีกประการ คือ แม็กอะวอย ไม่ได้ใส่ ‘จมูกปลอม’ เหมือนที่ผ่านๆ มา โดยซีราโนในเวอร์ชันของเขานั้น ทุกอย่างถูก ‘ปอกเปลือก’ ให้เหลือบางที่สุด เป็นแก่นแท้ของมนุษย์ที่สุด และ ‘ความอัปลักษณ์’ ไม่น่าเข้าใกล้ ก็ไม่ใช่รูปร่างหน้าตาอีกต่อไป แต่เป็นท่าทีและนิสัยอันโกรธขึ้ง ฉุนเฉียวตลอดเวลา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวละครนี้เป็นทหาร เก่งกาจในการต่อสู้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นเพราะเขาเป็นคนที่ ‘อยากรักแต่ไม่ได้รัก’ ด้วย

ความอัดอั้นตันใจ ประกอบกับการกล่าวว่าตนเองเป็นคนขี้เหร่ เพียงพอแล้วที่จะทำให้ ซีราโนเวอร์ชันของแม็กอะวอย น่าเชื่อและกินใจ จนโปรดักชันสัญชาติอังกฤษนี้ถูกข้ามฝั่งทะเลนำไปแสดงที่สหรัฐอเมริกา และส่งให้เขาได้รับรางวัล Evening Standard Theatre Awards ในสาขานักแสดงยอดเยี่ยม รวมถึงเข้าชิง Laurence Olivier Awards อีกด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใด หัวใจของคนอัปลักษณ์ที่หลงรักหญิงสาวผู้งามพร้อม จนไม่กล้าเอื้อมไปไขว่คว้าเธอ ยังคงอยู่เหมือนเดิม

“แค่ขี้เหร่ก็ยากแล้ว แต่ขี้เหร่แล้วดันมีความรักอีกนี่สิ”

‘ความอัปลักษณ์’ ไม่ว่าจะถูกนำเสนอในรูปแบบใด ก็ถือเป็นอุปสรรคในชีวิตของซีราโนเสมอ ราวกับว่านี่เป็นสัจธรรม ราวกับว่าความอัปลักษณ์เป็นอุปสรรคในชีวิตของทุกคนเป็นเรื่องปกติอย่างนั้นนั่นแหละ หรือว่าความจริงแล้ว คนเราต้องสวยงามน่ามอง จึงจะมีชีวิตที่ราบรื่น สุขสมหวังได้โดยง่าย และรักใครได้ตามใจกันนะ?

ภาพยนตร์มิวสิคัล Cyrano สตรีมทาง Prime Video

อ้างอิง:
Cyrano de Bergerac https://www.britannica.com/topic/Cyrano-de-Bergerac-play-by-Rostand

Critical Essays Cyrano de Bergerac as History https://www.cliffsnotes.com/literature/c/cyrano-de-bergerac/critical-essays/cyrano-de-bergerac-as-history

Cyrano Is (Loosely) Based on a True Story – Here’s What’s True and What’s Fiction https://www.yahoo.com/lifestyle/cyrano-loosely-based-true-story-160313481.html

Cyrano (Musical) 시라노 (뮤지컬) https://namu.wiki/w/%EC%8B%9C%EB%9D%BC%EB%85%B8(%EB%AE%A4%EC%A7%80%EC%BB%AC)

코가 괴상해서 슬픈 시라노, 그런데 그 코는 어떻게 만들지? https://m.hankookilbo.com/News/Read/201907311552340191

James McAvoy on ‘Cyrano de Bergerac’ https://youtu.be/5ovYLmMjfak

Why James McAvoy’s “Cyrano” Doesn’t Have An Oversized Nose https://youtu.be/7q0nDc8Nvho

#BrandThinkCinema