เมื่อซีรีส์แนว ‘Occult’ ทำเรตติ้งทะลุเพดานในเกาหลี สำรวจไสยเวทและคติชนคนทรงเจ้าต่อเนื่องจากซีรีส์ Revenant

‘Revenant’ หรือ 악귀 ซีรีส์ Multigenre จากเกาหลี ที่รวมเอาสไตล์สืบสวนสอบสวนเข้ากับไสยเวทและคติชนพื้นบ้าน ที่ตลอดทั้งซีซัน สามารถทำเรตติ้งแตะเลขสองหลัก

3 Min
483 Views
21 Aug 2023

ออกอากาศและสตรีมครบทุกตอนไปแล้ว สำหรับ ‘Revenant’ หรือ 악귀 ซีรีส์ Multigenre จากเกาหลี ที่รวมเอาสไตล์สืบสวนสอบสวนเข้ากับไสยเวทและคติชนพื้นบ้าน ที่ตลอดทั้งซีซัน จากตอนแรกถึงตอนที่ 12 สามารถทำเรตติ้งแตะเลขสองหลักในเขตกรุงโซลได้แบบแรงไม่ตก ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายเลย ส่วนหนึ่งเพราะวัฒนธรรมการเสพคอนเทนต์ของคนเกาหลียุคนี้ ที่ยึดติดกับตารางออกอากาศทางทีวีน้อยลง หรือว่ากันตรงๆ ก็คือคนไม่ดูทีวีแล้วนั่นล่ะ

แต่ Revenant ก็ยังสามารถดึงดูดแฟนซีรีส์มาชมการออกอากาศครั้งแรกได้แบบเรตติ้งทะลุเพดาน สมกับที่เป็นงานเขียนของนักเขียนบทมือทอง คิมอึนฮี เจ้าของผลงานอย่าง ‘Signal’ (시그널) และ ‘Kingdom’ (킹덤) รวมถึงเป็นการคัมแบ็กอย่างยิ่งใหญ่ของ คิมแทรี นักแสดงที่แจ้งเกิดจากภาพยนตร์ ‘The Handmaiden’ (아가씨) โดยสิ่งที่สะดุดใจเราในฐานะคนดูก็คือบทสัมภาษณ์ของนักแสดงนำ ที่บอกว่าจุดขายของเรื่องนี้คือความ ‘Occult’ ผสมตำนานพื้นบ้านเกาหลี โดยที่ภาษาเกาหลีก็ทับศัพท์ว่า ‘오컬트’ ไปเลย

แล้ว Occult ที่หมายถึง ลึกลับ เหนือธรรมชาติ และ Occultism ที่หมายถึง ไสยเวทและเรื่องราวเกี่ยวกับผีสาง ในวัฒนธรรมเกาหลีนั้น มี ‘ตัวละคร’ หรือถูกบอกเล่าผ่านอะไรได้บ้างล่ะ? สำหรับคนที่รับชม Revenant มาแล้ว คงจะจำได้ว่าตัวละครสำคัญ ต้นตอของเรื่องราวทุกอย่าง คือ ร่างทรง ชเวมันวอล ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราอยากหยิบมาเล่าให้ชาว BrandThink Cinema ได้อ่านกันวันนี้ เรื่อง ‘ลัทธิทรงเจ้าเข้าผีของเกาหลี’ นี่ล่ะ

ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่า Revenant เล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่ถูกผีสิง กับอาจารย์คติชนวิทยาที่มองเห็นผี และคิดว่าผีที่สิงหญิงสาวอยู่คือผีที่ตนตามหามานาน โดยระหว่างการตามหาความจริงบางอย่างของทั้งคู่นั้น ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไหวพริบดีคนหนึ่งตามสอดส่องอยู่ตลอด แล้วทั้งสามก็ต้องมาสืบสาวเรื่องราว และปะติดปะต่อทุกอย่างเข้าด้วยกันโดยเร็วที่สุด เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น จะมีคนตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ลัทธิทรงเจ้าเข้าผีถือเป็นศาสนาความเชื่อหนึ่งในเกาหลี ที่มีมาก่อนการเข้าถึงพุทธศาสนา ลัทธิขงจื๊อ หรือศาสนาคริสต์ และถูกประยุกต์ใช้มาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยความสะดวกสบายของการ ‘ใช้งาน’ ความคิดความเชื่อนี้ ก็คือเราไม่ต้องประกาศตัวว่านับถือหรือเป็นลูกศิษย์ลูกหาของร่างทรงคนนั้นๆ เลยด้วยซ้ำ เมื่อต้องการความช่วยเหลือ สามารถไปติดต่อขอความช่วยเหลือได้เลย

ร่างทรง หรือ ‘มูดัง’ (무당) ในเกาหลีเป็นใครกันแน่? ส่วนใหญ่แล้วผู้รับหน้าที่ร่างทรงมักเป็นผู้หญิง ไม่จำกัดว่าต้องอายุเท่าไหร่ ปัจจุบันมีร่างทรงที่ขึ้นทะเบียนในเกาหลีราว 300,000 คน ส่วนใหญ่กล่าวได้ว่าพวกเขาไม่ได้ ‘อยาก’ เป็นร่างทรงแต่แรก แต่เกิดจากการ ‘ถูกเข้า’ หรือก็คือเหตุผลเหนือธรรมชาตินั่นเอง ว่ากันว่าพวกเขาจะล้มป่วยหรือประสบโชคไม่ดีบางประการ และการจะแก้ปัญหาเหล่านั้นก็มีเพียงการอุทิศตัวเป็นร่างทรงเท่านั้น

นอกจากจะเป็นชื่อภาพยนตร์ไทยเรื่องดังแล้ว คอนเซ็ปต์ของร่างทรงดูจะไกลตัวคนไทยในยุคนี้สมัยนี้อยู่พอสมควร แล้วคนเกาหลีคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไกลตัวหรือไม่ ใครกันนะที่เป็น ‘ลูกค้า’ ของร่างทรงทั้งหลาย? ตามรายงานของ The Korea Society ระบุว่า หน้าที่ของร่างทรงในสังคมเกาหลีคือการช่วยให้ผู้ขอความช่วยเหลือรู้สึกสงบและสบายใจ ไม่ต่างจากตำแหน่งนักบวชในศาสนาอื่นๆ

ร่างทรงจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางการสื่อสารระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ขอความช่วยเหลือก็ต้องการแค่ดูดวงเท่านั้น แต่หากต้องการทำพิธีกรรมอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยการสื่อสารกับวิญญาณของร่างทรงที่เรียกว่า ‘กุด’ (굿) ไม่ได้มุ่งเน้นการไล่ผี แต่ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อสะสางเรื่องราวของผู้ล่วงลับ ปัดเป่าโชคไม่ดี หรือรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจของบุคคล ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีกรรมอาจมีตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ ภายในครอบครัว หรือกลุ่มใหญ่ ระดับทั้งหมู่บ้าน

อย่างที่เห็นได้จากในซีรีส์ ว่าตัวละครในเรื่องมีทั้งที่ทำพิธีกรรมแบบปิดภายในครอบครัวกันเอง และที่ร่วมทำร่วมรู้เห็นกันทั้งหมู่บ้าน ตามรายงานที่เราหยิบยกมาบอกเล่าเลย แต่ว่าพิธีกรรมที่ต้องเลือกเด็กหญิงลูกคนที่สองของบ้านมา ……… (ไม่อยากสปอยล์) นั้น จะเคยมีอยู่จริงหรือไม่ อันนี้เราไม่ขอยืนยัน เอาเป็นว่าใครที่ยังไม่เคยรับชม สามารถรับชมได้แล้วทั้งซีซัน ความยาว 12 ตอน สตรีมทาง Disney+ Hotstar

อ้างอิง:

https://www.koreasociety.org/images/pdf/KoreanStudies/Curriculum_Materials/LessonbyTime/4_Modern/Korean_Shamanism_Today.pdf
https://shamanism.sgarrigues.net/?fbclid=IwAR1x3-27VPXObM4XEM2arc5LqApB-0qbPjL9yRASquZVtBCJxltzS7BYyDM

#BrandThinkCinema