2 Min

การกลับไปหาแฟนเก่า อาจเป็นหนึ่งปัจจัยทำลายสุขภาพ

2 Min
807 Views
08 Sep 2020

คนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เคยอกหัก
คนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เคยทอดทิ้งคนที่เรารัก

เพราะฉะนั้น ความรักครั้งเก่านับเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับพวกเรามาเสมอ เมื่อไม่มีใครหนีความรักพ้น ก็คงไม่มีใครอยู่โดยไม่เคยคิดถึงความรักครั้งเก่าเหมือนกัน

ความรักครั้งเก่า หรือประสบการณ์ความสัมพันธ์ของแต่ละบุคคลนั้นก็คงแตกต่างกันไป บ้างก็เลิกกันไปโดยไม่ได้คุยกันอีก บ้างก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน แต่ในบางครั้ง ความสัมพันธ์แบบรักๆ เลิกๆ ก็มีให้เห็นอยู่ร่ำไป

ถึงแม้มันจะไม่ดีต่อสุขภาพจิตเท่าไร แต่ก็มีหลากคนหลายคู่ที่ยังเลือกกลับไปอยู่ด้วยกันทั้งๆ ที่เลิกกันไปหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่ทราบกันหรือไม่ว่า เหล่าสภาวะรักๆ เลิกๆ หรือการย้อนไปมาหาแฟนเก่านั้นอาจทำลายสุขภาพมากกว่าที่คุณคิด

สภาวะที่ใครบางคนนั้นกลับไปหาแฟนเก่าหลังจากการแตกแยกนั้นเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลโดยตรง

Kale Monk ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการพัฒนามนุษย์ ระบุว่าการอกหักหรือการเดินออกมาจากความสัมพันธ์มักจะสร้างความทุกข์ให้ก็จริง แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมดา แล้วความทุกข์เหล่านั้นก็มักไม่ได้ส่งผลในระยะยาวเสียเท่าไร แต่สภาวะครึ่งๆ กลางๆ กระอักกระอ่วนของความสัมพันธ์มากกว่า ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายในระยะยาว

ทีมนักวิจัยได้ทำการสำรวจคนทั้งหมด 545 คนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงถึงระดับความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า โดยเป็นการสำรวจในประเด็นของการเลิกราและการกลับมาคืนดี

ผู้คนประมาณ 1 ใน 3 ของการสำรวจระบุว่า พวกเขาอยู่ในสภาวะที่รักๆ เลิกๆ และนักวิจัยก็พบว่ากลุ่มคนเหล่านั้นดูเหมือนจะมีความทุกข์มากกว่าปกติ Kale Monk เชื่อว่ายิ่งคุณรักๆ เลิกๆ บ่อยเท่าใด คุณก็ยิ่งจะมีความวิตกกังวลและความทุกข์มากขึ้นไปเท่านั้น

แต่ก็ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ หรือในทางกลับกัน คนที่ความทุกข์ความเศร้าเป็นทุนเดิมต่างหาก ที่ทำให้ความสัมพันธ์นั้นไม่คงทนและแตกหักได้ง่าย ที่สำคัญเขายังเชื่อว่าไอ้การรักๆ เลิกๆ เนี่ยดูเหมือนจะมีผลต่อสภาพจิตใจมากกว่าสภาวะอื่นๆ อีกด้วย

นักวิจัยยังพบว่า ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการรักๆ เลิกๆ กับแฟนเก่า แต่การเริ่มต้นใหม่กับใครบ่อยเกินไป เลิกกับใครบ่อยเกินไป หรือเคยมีปัญหาด้านความรุนแรงจากความสัมพันธ์มักจะมีอัตราความทุกข์มากกว่าคนทั่วไปอยู่เหมือนกัน

เขาเน้นย้ำว่าหากใครตกอยู่วัฏจักรของความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงหรือการล่วงละเมิด ก็ควรเดินออกจากความสัมพันธ์เหล่านั้นให้เร็วที่สุด อาจจะรวมถึงการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเลยด้วยซ้ำ ย้อนกลับไปที่ประเด็นรักๆ เลิกๆ ตัวนักวิจัยเองก็เชื่อว่า การกลับมาคบใหม่ หรือการเลิก ควรผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน เพราะมันอาจจะเป็นเรื่องจริงที่ การเลิกกันไปจะทำให้ใครบางคนได้คิดอะไรได้ จะทำให้ใครบางคนเข้าใจว่าอีกคนนั้นมีค่ามากแค่ไหน แต่การรักๆ เลิกๆ ที่บ่อยเกินไปอาจกลายเป็นความสัมพันธ์ที่รังแต่จะสร้างมลภาวะในสุขภาพจิตก็ได้

เขาแนะนำว่า หากจะกลับมาคบกัน ก็ควรพูดคุยกันให้เข้าใจถึงสาเหตุที่เลิกกัน ถ้ากลับกันมาคบกันมันจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ มันจะเปลี่ยนไปได้ไหมที่เหตุการณ์แบบนั้นอีกครั้ง

ถ้ามันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ส่งผลดีอะไร การเลิกอาจจะเป็นเรื่องที่ยากและทุกข์ใจ แต่เชื่อว่าถ้าหากคุณยังฝืนอยู่ต่อไปจิตใจคุณก็ทุกข์และร่างกายคุณก็จะพังตามไปเช่นกัน

แล้วคุณล่ะ เคยตกอยู่ในสภาวะแบบนี้ไหม แล้วจัดการมันอย่างไรบ้าง

อ้างอิง :