21% ของสัตว์เลื้อยคลานมีความเสี่ยงสูญพันธุ์ สาเหตุอาจเป็นเพราะพวกมันไม่ใช่สัตว์น่ารัก
เมื่อไม่นานมานี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งอธิบายว่า มนุษย์เรามักสนใจและต้องการปกป้องสัตว์ที่หน้าตาน่ารักมากกว่าสัตว์ที่หน้าตาน่าเกลียด เป็นต้นว่าถ้าให้เลือกระหว่างหมีแพนด้ากับหมูป่า ผู้คนส่วนใหญ่เลือกจะปกป้องหมีมากกว่าหมู
หรือกล่าวได้ว่าเป็นความลำเอียงทาง beauty standard ซึ่งหากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเข้าใจในความหมายก็อาจจะน้อยเนื้อต่ำใจก็ได้
แต่ก่อนเราจะไปเจาะลึกถึงความรู้สึกของสัตว์ (ที่ยังทำไม่ได้ในตอนนี้) ในแง่ของคนที่ทำงานกับสัตว์ไม่น่ารักก็เริ่มมีอาการตัดพ้อ (แทนสัตว์) ให้เห็นแล้วเหมือนกัน
ดังเช่นนักวิทยาศาสตร์จากกลุ่ม ‘NatureServe’ องค์กรธรรมชาติระดับนานาชาติ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นงานวิจัยเรื่องสถานะและการสูญพันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลาน ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีใครสนใจสนับสนุนทุนวิจัยสัตว์กลุ่มนี้เลย
ตะโขงอินเดีย สถานะปัจจุบันเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ l wikipedia
ในเนื้อหางานวิจัยได้กล่าวถึงภัยคุกคามที่สัตว์เลื้อยคลานกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นกิ้งก่าขนาดเล็กไปจนจระเข้ใหญ่ยักษ์แห่งแม่น้ำไนล์ โดย 1 ใน 5 สปีชีส์ หรือ 21 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์สัตว์เลื้อยคลานทั่วโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์
บรรดาจระเข้ไม่ว่าจะเป็นพวกน้ำเค็มหรือน้ำจืดมีแนวโน้มว่าจะหายไปครึ่งหนึ่ง ขณะที่พวกเต่าบกเกือบ 2 ใน 3 กำลังถูกคุกคามจากการล่า
การทำลายบ้านที่อยู่อาศัยจากการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูก การพัฒนาเมือง และการตัดไม้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้สัตว์เลื้อยคลานต้องอยู่อย่างยากลำบาก ต้องอดมื้อกินมื้อ ไม่มีที่ให้ได้นอนหลับตาได้สนิท
ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เริ่มคุกคามต่อสัตว์เลื้อยคลานโดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามเกาะ จากพายุที่รุนแรงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาตะวันตก มาดากัสการ์ตอนเหนือ แอนดีสตอนเหนือ และแคริบเบียน
หากเราสูญเสียสัตว์เลื้อยคลานทุกสายพันธุ์ (ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่ ณ ตอนนี้) นั่นหมายความว่าวิวัฒนาการที่ดำเนินมากว่า 15.6 พันล้านปีจะถูกลบออกจากสารบบโลก ตามเนื้อหาในบทสรุปงานวิจัย
นอกจากปัจจัยนานาที่ว่ามา นักวิจัยยังกล่าวด้วยว่าสายพันธุ์เหล่านี้มักไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนสักเท่าไหร่ เนื่องจากพวกมันไม่น่ารักอย่างบรรดาสัตว์ที่มีขนปุกปุยแลดูน่ากอด
ซึ่งงานวิจัยที่สาธยายไปต้องใช้เวลาศึกษานานถึง 15 ปี กว่าจะเขียนรายงานผลลัพธ์ได้จนสำเร็จ สาเหตุที่ต้องใช้เวลานาน ไม่ใช่เพราะต้องการความละเอียดรอบคอบ แต่เพราะแทบไม่มีใครสนใจให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยสัตว์กลุ่มนี้ จึงทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ต้องทำๆ หยุดๆ ลากยาวมานานกว่าทศวรรษ
ทีมวิจัยพยายามอธิบายว่า แม้สัตว์เลื้อยคลานส่วนใหญ่จะไม่ได้น่ารักในสายตาผู้คน แต่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ
สัตว์อย่างจระเข้ที่ถูกสร้างให้เป็นผู้ร้ายในโลกจินตนาการ ถือเป็นสิ่งมีชีวิตอีกชนิดที่ช่วยบ่งชี้คุณภาพความอุดมสมบูรณ์นิเวศของป่า แม่น้ำ เป็นตัวควบคุมและคัดพันธุกรรมสัตว์ป่าที่อ่อนแอออกจากระบบนิเวศ พวกมันเป็นนักล่าที่มีการเปลี่ยนอาหารไปเรื่อยๆ ตามขนาดตัว ไล่มาตั้งแต่ ปลา กบ นก รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ช่วยกำจัดซากทำให้แหล่งน้ำมีความสะอาด กองดินที่พวกมันขุดเพื่อวางไข่กลายเป็นเนินและเกาะขนาดย่อมๆ ในฤดูแล้งหลุมที่จระเข้ขุดขึ้น กลายเป็นแหล่งกักเก็บนํ้าที่ช่วยให้พืชและสัตว์หลายชนิดอยู่รอด
งูมีหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู ช่วยลดการกระจายพาหะของโรค สัตว์เลื้อยคลานอย่างพวกกิ้งก่า อิกัวนา ก็ช่วยกำจัดแมลง
ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการสร้างสมดุลของชีวิต ไม่ต่างจากการทำหน้าที่ในธรรมชาติของเสือโคร่ง นกเงือก หรือหมีขั้วโลก ที่เราต่างให้ความสนใจ
แต่น่าเสียดายที่เรามักมองไม่เห็นถึงความสำคัญของสัตว์กลุ่มนี้ เท่ากับประโยชน์ที่พวกมันทำ
อ้างอิง:
- BBC, One in five reptiles is threatened with extinction, https://shorturl.asia/zxldZ
- Psychology Today, Why People Care More About Beautiful Animals Than Ugly Ones, https://shorturl.asia/nakmY