3 Min

อ่อนไหวทางอารมณ์อย่างรุนแรง เมื่อต้องเจอกับการปฏิเสธ คุณอาจกำลังอยู่ใน ‘ภาวะ RSD’

3 Min
1677 Views
10 Nov 2022

คุณเป็นหรือเปล่า? รู้สึกปวดใจหนักมากเวลาโดนเพื่อนปฏิเสธนัด หรือเสียใจแทบรับไม่ไหวเวลาคนรักไม่รับโทรศัพท์ จนความเจ็บปวดทางอารมณ์เหล่านั้นทำให้คุณกลัวที่จะสนิทหรือผูกพันลึกซึ้งกับใคร หรือเวลาทำงานถ้าพลาดนิดหน่อยจนโดนติ คุณก็เก็บมาคิดโทษตัวเองอย่างหนักจนไม่เป็นอันทำอะไร

ถ้าคุณกำลังเผชิญกับสิ่งเหล่านั้น เป็นไปได้ว่าคุณอาจกำลังตกอยู่ในภาวะ ‘RSD’

RSD ย่อมาจาก Rejection sensitive dysphoria หรือภาวะที่รู้สึกอ่อนไหวทางอารมณ์อย่างรุนแรง และมีความเจ็บปวดทางจิตใจอย่างมากเมื่อต้องเผชิญกับการถูกปฏิเสธ วิจารณ์ หรือกระทั่งการหยอกล้อ ว่ากันว่าภาวะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโรคสมาธิสั้น (Attention-deficit hyperactivity disorder: ADHD)

ด้วยความที่ภาวะ RSD ยังใหม่อยู่ในทางจิตเวชศาสตร์ ภาวะนี้จึงยังไม่ถูกรวมเข้ากับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ และยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบจากโรคสมาธิสั้น?

ภาวะอ่อนไหวทางอารมณ์ต่อการถูกปฏิเสธ (RSD) ปรากฏว่าดูจะเป็นสภาวะทางอารมณ์เดียวกันกับที่พบได้ในผู้ป่วยสมาธิสั้นวิลเลียม ดับเบิลยู. ดอดสัน (William W. Dodson, MD) จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมาธิสั้น กล่าวในนิตยสาร Attention ปี 2016 “การวิจัยยุคแรกเริ่มเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นมักจงใจมองข้ามภาวะอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธ เพราะมันไม่ได้ถูกสังเกตเห็นเสมอไป และมักซุกซ่อนอยู่ในผู้เป็นสมาธิสั้น อีกทั้งเป็นการยากที่จะชั่งตวงวัดอารมณ์ของการถูกปฏิเสธ

มีงานวิจัยในปี 2019 ที่ค้นพบในเด็กอายุระหว่าง 10-15 ปี ซึ่งถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น มีอาการอ่อนไหวสูงต่อการต้องรับฟังความคิดเห็นในเกมจำลองเสมือน ซึ่งอาจอธิบายได้ถึงสาเหตุว่าทำไมผู้เป็นสมาธิสั้นถึงมีความผิดปกติในการเข้าสังคม

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ภาวะอ่อนไหวทางอารมณ์ต่อการถูกปฏิเสธไม่ได้ถูกสรุปว่าเกี่ยวข้องกับโรคสมาธิสั้นเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเชื่อมโยงไปถึงภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล

อาการเป็นอย่างไรกันแน่?

กับผู้ที่มีภาวะอ่อนไหวทางอารมณ์ต่อการถูกปฏิเสธ ดอดสันบอกว่า เมื่อผู้ป่วยถูกปฏิเสธ วิจารณ์ หยอกล้อ หรือกลายเป็นความน่าผิดหวังต่อบุคคลสำคัญในชีวิตของพวกเขา หรือผิดหวังในตัวเองเมื่อไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหรือมาตรฐานที่ตัวเองตั้งไว้ได้ ผู้ป่วยจะเผชิญความอ่อนไหวทางอารมณ์อย่างรุนแรงและความเจ็บปวดจะถูกกระตุ้น ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นจริงหรือผู้ป่วยคิดไปเองก็ตาม

คนที่ตกอยู่ในภาวะดังกล่าว ผลลัพธ์จึงอาจกลายเป็นคนที่ชอบเอาใจคนอื่น และละทิ้งหรือละเลิกเป้าหมายของตัวเองเพราะกลัวความล้มเหลว

วิธีทั่วไปในการปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวดของผู้ที่ตกอยู่ในภาวะ RSD คือการยอมแพ้ที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เว้นแต่จะมั่นใจได้ว่าสิ่งนั้นจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและได้ดั่งใจจริงๆดอดสันกล่าวความคิดของการพยายามแล้วล้มเหลวนั้นเจ็บปวดเกินกว่าที่จะยอมเสี่ยง พวกเขาเลยไม่ยอมไปเดท ไม่กล้าสมัครงาน ไม่กล้าพูดในที่ประชุม หรือแสดงความคิดเห็นและความต้องการของตนให้ใครรู้

สรุปอาการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ตกอยู่ในภาวะ RSD คือ

  • หมกมุ่นหรือคิดถึงประสบการณ์เชิงลบบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ที่ได้รับรู้การปฏิเสธที่เกิดขึ้นจริง
  • อาจรับรู้ถึงการถูกปฏิเสธแม้มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง
  • มองการถูกปฏิเสธเพียงเล็กน้อย เป็นความหายนะ
  • กลัวการถูกปฏิเสธอย่างเรื้อรัง
  • มักเข้าใจการวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ผิดไปเป็นเชิงลบ
  • อาจเป็นพวกยึดติดกับความสมบูรณ์แบบและติดนิสัยเอาใจคนอื่น

ในตอนนี้ RSD ยังไม่ถูกนับว่าเป็นอาการป่วยหรือข้อวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ แต่นักบำบัดอาจระบุได้ว่าคนคนหนึ่งมีภาวะนี้หรือไม่ โดยพิจารณาจากการอธิบายถึงอาการที่เกิดขึ้น และนักบำบัดอาจวินิจฉัยภาวะนี้พ่วงกับภาวะอื่นๆ และงานวิจัยยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ว่า ทำไมภาวะนี้ถึงเชื่อมโยงกับผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่า แต่สาเหตุอาจเนื่องมาจากปัญหาการประมวลผลและควบคุมอารมณ์ด้วย

หากคุณสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคสมาธิสั้น หรือคิดว่าตัวเองมีภาวะ RSD ร่วมด้วย เราขอแนะนำให้คุณรับความช่วยเหลือ พูดคุยกับจิตแพทย์ นักบำบัด เพื่อเข้ารับการรักษาและหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

อ้างอิง