เมื่ออาร์กติกเริ่มอุ่นขึ้น กวางเรนเดียร์ก็ค่อยๆ อดตาย

3 Min
661 Views
12 Jan 2022

reindeer l Adobe Stock

‘กวางเรนเดียร์’ ได้กลายเป็นสัตว์อีกชนิดที่ถูกวิกฤตโลกร้อนหมายหัวเล่นงาน หลังจากหลายปีที่ผ่านมาอุณหภูมิแถบอาร์กติกเริ่มอุ่นขึ้น

ทราบกันดีว่าตอนนี้ภูมิภาคแถบอาร์กติกกำลังเผชิญกับวิกฤตโลกร้อนที่รุนแรง ทั้งจากอุณหภูมิที่ยืนยันแล้วว่าร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส ฤดูฝนที่จู่ๆ ก็ตกลงมามากเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ฟากฝั่งแผ่นดินที่เรียก ‘ทุนดรา’ ก็เริ่มพบการหดหายไปของหิมะ

การหดหายไปของหิมะนี่เองที่ทำให้กวางเรนเดียร์ต้องเผชิญชะตากรรมอันยากลำบากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

การหายไปของหิมะที่ว่านี้มันคือการแทนที่ด้วยน้ำแข็ง กล่าวคือแม้โดยรวมพื้นที่จะอุ่นขึ้นจนหิมะหายไปไว แต่อุณหภูมิตรงพื้นดินก็ยังเย็นอยู่ หิมะที่ละลายเป็นน้ำจึงจับตัวเป็นก้อนน้ำแข็งขึ้นมาแทน

ปัญหาอยู่ตรงในฤดูหนาวจะมีพืชชนิดหนึ่งที่เติบโตขึ้นท่ามกลางหิมะ นั่นคือ ‘มอสเรนเดียร์’ หรือ ‘ไลเคน’ ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนากับกวาง และช่วยให้เรนเดียร์มีชีวิตรอดได้ในฤดูหนาวที่อาหารได้ยาก

แต่พอพื้นมีน้ำแข็งเข้ามาแทนที่ อาหารที่เคยหากินได้ง่ายก็กลายเป็นเรื่องยาก ชะตากรรมของกวางไม่ต่างอะไรกับการยืนอยู่หน้าตู้แช่อาหารที่ถูกล็อกแม่กุญแจเอาไว้

และนั่นนำมาสู่โศกนาฏกรรมนับครั้งไม่ถ้วนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ในฤดูหนาวปี 2006 กวางเรนเดียร์ในคาบสมุทรยามาลของรัสเซียจำนวน 20,000 ตัว ตายเพราะไม่มีอาหารกิน

ขณะที่ระหว่างปี 2013-2014 มีกวางเรนเดียร์ตายมากถึง 61,000 ตัว ด้วยสาเหตุเดียวกัน หรือในปี 2019 พบศพกวางเรนเดียร์ตายกว่า 200 ตัวในสวาลบาร์ดของนอร์เวย์

มอสเรนเดียร์ l Adobe Stock

อันที่จริง การเกิดน้ำแข็งบนผิวดินไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือเป็นสิ่งใหม่ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดเป็นปกติในภูมิภาคนี้ เพียงแต่ระยะหลัเหตุการณ์ที่ว่ามันเกิดบ่อยขึ้น และกินพื้นที่กว้างมากขึ้น

กวางที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติจะพยายามเอาตัวรอดด้วยการอพยพย้ายถิ่นไปหาห้องอาหารแห่งใหม่ ที่ยังไม่รู้แน่ว่าบนเส้นทางจะพบกับสิ่งที่ต้องการหรือไม่

แต่ก็ยังดีกว่าพวกกวางเรนเดียร์ที่อยู่ในความดูแลของคน ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องการออกไปหาอาหารของคนเลี้ยงที่ถูกบล็อกไว้ด้วยช่วงเวลาฟ้าสางที่หดสั้นลงในฤดูหนาว

และก็เหมือนสัตว์อื่นๆ ที่หากินในธรรมชาติ ที่ถิ่นฐานทางธรรมชาติลดน้อยลงจากการเปลี่ยนแปลงที่ดินเพื่อพัฒนาสิ่งก่อสร้าง อาณาเขตในการหาอาหารของกวางก็ลดน้อยลง ตัวอย่างเช่น การศึกษาหนึ่งในนอร์เวย์พบว่าในศตวรรษที่แล้ว ที่อยู่อาศัยของกวางเรนเดียร์หดตัวลง 70 เปอร์เซ็นต์ เช่น ทุ่งเลี้ยงสัตว์ที่ถูกน้ำท่วมเพื่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ

เมื่อมีข้อจำกัดเรื่องสภาพอากาศบวกรวม ชีวิตของพวกมันก็ต้องดิ้นรนบนความลำบากมากขึ้น

ปริมาณอาหารที่ได้รับน้อยลง และคงน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบข้อเท็จจริงอีกประการว่า จากกวางเรนเดียร์ที่เกิดในปี 1994 เคยมีน้ำหนักถึง 55 กิโลกรัม เมื่อเข้าสู่ระยะโตเต็มวัย แต่ในช่วงหลังปี 2010 เป็นต้นมา เรนเดียร์ที่โตเต็มวัยกลับมีน้ำหนักแค่ 48 กิโลกรัม ซึ่งเป็นผลมาจากที่แม่กวางหาอาหารได้น้อย ลูกกวางที่เกิดใหม่ส่วนใหญ่จึงมีน้ำหนักน้อยตาม

ซากกวางเรนเดียร์หนึ่งใน 200 ตัว ของนอร์เวย์ ที่ตายไปในปี 2019 เพราะขาดอาหาร l Elin Vinje Jenssen/Norsk Polarinstitutt

และเมื่อกวางตายเยอะ ลดน้อยหายไป ผลกระทบย่อมส่งมาถึงคนเราด้วยเช่นกัน

สำหรับกลุ่มที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์ ก็หมายถึงราคาและคุณภาพสินค้าที่ลดน้อยถอยลง น้ำนมที่ได้น้อยลง หรือคนในอะแลสกา ที่วันนี้จำเป็นต้องหันมาพึ่งการล่ากวางมากกว่าเมื่อก่อน (เพราะอาหารหลักอย่างแซลมอนก็ลดลง) ก็ต้องพลอยลำบากตามไปด้วย

ยังไม่นับว่า กวางพวกนี้เป็นทั้งนักคัดสรรสายพันธุ์พืชช่วยให้พืชโตช้าได้งอกงามจากการที่มันช่วยกินพืชโตไว ซึ่งพืชหลายชนิดที่โตขึ้นก็เป็นอาหารของคนเหมือนกัน

สุดท้าย คงไม่สรุปอะไรมากไปกว่า ประโยคที่เขียนเปิดไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง ‘กวางเรนเดียร์’ ได้กลายเป็นสัตว์อีกชนิดที่ถูกวิกฤตโลกร้อนหมายหัวเล่นงานเข้าเสียแล้ว

อ้างอิง