RED FACT คลายความเรด ทำไมทุกคนต้องไปดู REDLIFE ภาพยนตร์โดย เอกลักญ กรรณศรณ์

5 Min
770 Views
02 Nov 2023

เรื่องราวมากมายใน ‘RedLife’ ล้วนมาจากความจริงที่หลายคนเลือกที่จะเมินหน้าหนี แต่สำหรับ ‘ลักญ-เอกลักญ กรรณศรณ์’ กลับเป็นความท้าทายและความต้องการที่จะสะท้อนภาพนี้ให้เห็นในรูปแบบของภาพยนตร์ แต่ภายใต้ภาพหนังสุดเข้มข้น เรื่องราวหลังกล้องก็เข้มข้นไม่น้อยหน้ากัน 

และผู้ที่เหมาะสมจะมาถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังนี้ เป็นใครไปไม่ได้ นอกจากตัวผู้กำกับเอง ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวความเดือดตั้งแต่ก้าวแรกของการสร้าง จนสำเร็จเสร็จสิ้นในโรงใหญ่ มาคลายข้อสงสัยว่า ทำไมต้องไปดู RedLife ที่วันนี้กำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์

RED ที่ 1 ‘ความจริงมัน RED จนต้องทำเป็นหนัง’

ในวันหนึ่งที่ออกมาถ่ายหนังสารคดี ลักญ-เอกลักญ กรรณศรณ์ Founder และ Managing Director BrandThink ณ สลัมแนวตั้งแห่งหนึ่งใจกลางเมือง เขาได้พบศูนย์รวมความหลากหลายของชนชั้น และได้พบเห็น ‘ความจริงสุด Red จากชุมชนแห่งนี้’    

“มีพื้นที่หนึ่งในย่านกลางเมือง เป็นย่านที่มีการผสมผสานของคนหลากหลายชนชั้น ทั้งหญิงขายบริการ แหล่งอาชญากรรม ในขณะเดียวกันก็รายล้อมไปด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ บาร์ และร้านอาหารเก๋ๆ และด้วยมันเป็นพื้นที่ที่มีความ contrast ในตัวเองสูง ตอนที่ผมลงไปทำสารคดีเรื่องหนึ่งในย่านนี้ ได้ทำความรู้จักและคุ้นเคย พร้อมพบเห็นแง่มุมต่างๆ ของคนหลายสาขาอาชีพ พบว่าเรื่องราวต่างๆ ของคนในพื้นที่นี้ค่อนข้างเซอร์ไพรส์เราเหมือนกัน มันช่วยเปิดมุมมองเราอย่างมาก และทำให้เราอยากถ่ายทอดเรื่องราวของหลากหลายผู้คนในสลัมแนวตั้งแห่งนี้”

RED ที่ 2 ‘ใช้เวลาในการปั้นบทถึง 4 ปี เต็มๆ’

แม้จะคร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์โฆษณามาอย่างยาวนาน แต่การทำหนังเรื่องแรก ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับเอกลักญ ที่ผสมผสานทั้งความอยากเรียนรู้และความประหม่าในตัว ทางเดียวที่จะข่มความประหม่านี้ได้ ก็คือความตั้งใจ โดยเริ่มต้นจากการเขียนบทเป็นอย่างแรก

“เราว่าสิ่งสำคัญที่สุดของหนังสิ่งหนึ่งก็คือ บทภาพยนตร์ พอได้ลงไปทำงานจริงๆ กับหนังเรื่องนี้ ทีมใช้เวลากับการเขียนบทอยู่ถึงเกือบ 4 ปี เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของเรา เราว่าเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะคลอดออกมาเป็นหนังที่เราแฮปปี้ 100 เปอร์เซ็นต์ การทำหนังเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้การฝึกปรือจากการลงมือทำจริงๆ จากประสบการณ์ เราคงต้องเรียนรู้อะไรอีกหลายๆ อย่างทีเดียว เราทำเรื่องนี้จากการทดลอง จากความรู้ที่เรามีในขณะนี้ ทำให้มันดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะออกมาเพอร์เฟกต์ คิดว่ายังไงมันก็อาจจะมีจุดที่คนดูไม่ได้รู้สึกในแบบที่เราคาดหวังไว้ก็เป็นได้ โชคดีที่เราได้ พี่อัม (อมราพร แผ่นดินทอง) รวมถึงพี่อุทิศ (อุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์ จาก ‘ลับแลแก่งคอย’) มาช่วยดูบท หรือการได้พี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) มาช่วย critique งาน”

RED ที่ 3 ‘การคัดเลือกนักแสดงแบบสุด Real’

เพราะนักแสดงมักคู่กับเรื่องสวยๆ งามๆ แต่ RedLife คือการลบภาพความงามนั้นให้หมด เพื่อให้เหลือแต่เนื้อแท้และความจริง การคัดเลือกนักแสดงจึงต้องยากขึ้นเป็นทวีคูณ

“ถามว่าการคัดเลือกนักแสดงมาจากอะไร มันมาจากการเก็บเกี่ยวสิ่งที่เราได้เห็นจากการทำสารคดีก่อน แต่ว่าพอมันเกิดขึ้นในหัวในตัวอักษร มันก็พัฒนาไปตามนั้น พอในหัวประกอบกับจินตนาการของคนที่เราสร้างขึ้นมาว่าเรากำลังมองหาคนแบบไหน ก็ถือว่าเป็นงานแคสต์ที่ยากมากๆ เราเลยเลือกที่จะมี Casting Director ที่เก่งมากถึงสองคน ก็ยังใช้เวลาในการคัดเลือกนักแสดงเกือบปี เราน่าจะเห็นนักแสดงมาแล้วเกือบพันคน

“จุดที่ยากคือ การที่เรามี check point หลายอย่าง พอเราต้องการความจริงที่ไม่ได้เป็น pure realistic แต่นักแสดงต้องแสดงความจริงนั้นออกมาในโมเมนต์ที่ใช่ ในมิติที่ใช่ และเราต้องการนักแสดงจริงๆ ถ้าคนคนนั้นจะเป็นดารา เป็นเซเลบริตี้ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ เราถือว่านั่นเป็นโบนัส” 

RED ที่ 4 ‘การก้าวข้ามสิ่งยากๆ คือความท้าทาย’

แม้จะมีประสบการณ์ในการถ่ายทำหนังโฆษณามายาวนาน แต่การลงมือกำกับหนังเรื่องแรกของเอกลักญ ประสบการณ์อาจไม่ได้ช่วยในการถ่ายทำเท่าไรนัก แต่กลับเป็นสิ่งท้าทายให้เขาต้องก้าวข้าม 

“ถ้าถามว่าส่วนไหนในกระบวนการทำหนังเป็นส่วนที่ยากที่สุด เราว่าการเตรียมงานก่อนถ่ายเป็นส่วนที่ยากที่สุด เอาตรงๆ เราเองเป็นคนขี้เกียจ มีเพียงข้อเดียวที่ทำให้เราสามารถทำงานทั้งหมดที่ผ่านมาในชีวิตได้ คือการที่อยากทำอะไรให้สำเร็จ ก็เลยมองมันเป็นบันไดทีละขั้น”

“การที่เราทำโฆษณามา 16 ปี ทำมา 500-600 เรื่อง เราก็แอบคาดหวังว่าเราจะได้นำชุดความรู้ หรือประสบการณ์หลายๆ อย่างจากตรงนั้นเอามาใช้กับการทำหนังเรื่องนี้ได้ แต่ปรากฏว่ามันเหลือกลับมาแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเรามันเป็นสิ่งใหม่ในวัย 40 กว่าที่เรากำลังเรียนรู้ เลยทำให้เรามีความรู้สึกไม่มั่นใจ แต่ในขณะเดียวกันเราก็แฮปปี้ลึกๆ คือบางคนในวัยนี้อาจจะกำลังรู้สึกถดถอย แต่เรากลับรู้สึกว่ากำลังก้าวไปข้างหน้าในบางมิติ และเป็นมิติที่เราก็อยากจะไปด้วย และคิดว่าอาจจะเป็นจังหวะชีวิตที่ดีก็ได้ อย่างตอนที่เราทำโฆษณาเยอะๆ ในวัย 30 กว่า มุมมองในการมองโลก มองชีวิตก็ต่างออกไป เราว่าในวัย 40 กว่านี้ เรากำลังมองชีวิตต่างออกไป เราเลยไม่เสียใจที่เริ่มทำหนังช้าขนาดนี้ เพราะว่ามันคงจะ deliver เมสเสจเแตกต่างอะไรบางอย่าง”

RED ที่ 5 ‘การถ่ายทำสุดหินทุกขั้นตอน’

การเลือกเล่าผ่านโลเคชัน ‘จริง’ และการถ่ายทำเพื่อให้สมจริงที่สุด การถ่ายทำ RedLife จึงเต็มไปด้วยความหินและความยากลำบากที่สุด เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุดให้ได้ชมกัน

“ในด้านเทคนิคการถ่ายทำ หนังเรื่องนี้เราพยายามที่จะกลับไปใช้กระบวนการที่ authentic ให้ได้มากที่สุด พยายามที่จะใช้อะไรที่มันเรียบง่าย effortless ในการที่จะสร้างความรู้สึกให้กับคนดู ส่วนในด้านภาพ ก็ไม่ได้มีเทคนิคอะไรพิเศษเลย เราใช้อุปกรณ์ปกติเลย เราไม่ได้มีอุปกรณ์เยอะนัก อาจจะเป็นเพราะ โลเคชันที่มีขนาดเล็ก พื้นที่ก็ไม่ได้เอื้อต่อการใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่อยู่แล้วด้วย เรียกได้ว่าเป็นโปรดักชันที่เรียบง่ายประมาณหนึ่ง

“แต่มันก็จะมีบางซีน เช่นซีนรถชน ซีนแอ็กชัน ซีนชิงช้าสวรรค์ ซีนเหล่านี้ก็มีการพูดคุยในเรื่องทางเทคนิคค่อนข้างละเอียด อย่างซีนขับรถจะเป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยง เพราะเป็นซีนที่ถ่ายรถที่วิ่งอยู่ในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นมากที่สุดจุดหนึ่งในกรุงเทพฯ ไม่นับถึงเรื่องของตรอกซอกซอยที่อาจจะมีชาวบ้านโผล่ออกมาในขณะที่รถกำลังไล่ล่ากัน และก็มีซีนสำคัญอีกซีน คือซีนที่รถพุ่งตกลงไปในคลอง เราได้วางแผนกันค่อนข้างนานว่าจะทำยังไงให้ได้ภาพอย่างที่เราต้องการ และมีความปลอดภัยมากพอให้กับสตันต์แมน หรือว่าคนขับด้วย

“อันที่จริงหนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยอุปสรรค ตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดง การวางแผน การถ่ายทำ งบประมาณ โลเคชันที่ถูกคอนเฟิร์มแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลง ที่บอกว่าถ่ายได้ก็ถ่ายไม่ได้ ต้องไปหาใหม่กะทันหัน ต้องคิดสตอรีบอร์ดใหม่ ต้องคิดเนื้อเรื่องใหม่ และด้วยความที่เป็นหนังเรื่องแรก เราต้องใช้ความกล้าในการที่จะลองทำสิ่งใหม่ ทุกอย่างใหม่หมด ดังนั้นชุดของการตัดสินใจจะเป็นเรื่องที่เราไม่ได้มีประสบการณ์มาก่อน ไม่ได้มีความมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่ามันจะถูกหรือจะผิด เราใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจสูงอยู่เหมือนกันในการทำหนังเรื่องนี้” 

RED ที่ 6 ‘ประเด็นในหนังแรงจัด ต้องดูในโรงเท่านั้น’

เรื่องราวความเหลื่อมล้ำ เรื่องราวของสาวขายบริการ ไปจนถึงกลุ่มโจร ล้วนแล้วแต่อุดมไปด้วยความรุนแรงจนเกินจะรับไหว แต่ในความแรงของเรื่องราว กลับแฝงด้วยความจริงที่ทั้งเศร้าและชวนช็อก 

“ถ้าถามว่าหนังเรื่องนี้มีจุดเด่นอะไร เราว่าน่าจะเป็นมุมมองส่วนตัวนั่นแหละ เราชอบเสพอะไรที่พูดถึงเรื่องของสังคม พูดเรื่องประเด็นชีวิต เรื่องของชนชั้น เรื่องของหญิงขายบริการ แก๊งโจรในเมืองใหญ่ แล้วก็มีการเล่าเรื่องของความรัก เราว่ามันเป็นคู่ ตรงข้ามที่น่าสนใจดี ซึ่ง genre หนังประเภทนี้ อาจจะยังไม่ได้มีเยอะมากนักในหนังไทย เราเลยเห็นว่าน่าจะมีโอกาสที่เราจะสามารถนำเสนอในสิ่งที่เราชอบใน genre นี้ได้

“ความเหลื่อมล้ำ เราว่าสิ่งนี้มันเป็นปัญหาสากล ทุกประเทศมีปัญหาในเรื่องช่องว่างทั้งเรื่องของเจเนอเรชันหรือด้านเศรษฐกิจ คราวนี้จะถามว่าคนจะเข้าใจเรื่องนี้ไหม คงไม่ใช่เรื่องของเชื้อชาติ เราว่าขึ้นอยู่ที่ว่าคนคนนั้นจะเปิดประตูเปิดหน้าต่างให้กับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เราเชื่อว่าคนอีกหลายๆ คนที่เขาพร้อมที่จะเปิดรับ ในขณะเดียวกันก็คงมีอีกหลายคนบนโลกใบนี้ที่ปิดประตูแน่นสนิท จนต่อให้เราพยายามที่จะตะโกนเรียกเขาออกมามากแค่ไหน เขาก็อาจจะไม่เปิดก็ได้”

“ส่วนคนดูเรื่องนี้แล้วจะได้อะไร ก็คิดว่าคงมีหลายแบบ บางคนอาจจะรู้สึกว่าหนังอะไรเนี่ย ทำไมช่างเจ็บปวดเหลือเกิน น่าผิดหวังเหลือเกิน เราว่าน่าจะมีคนกลุ่มนี้อยู่แล้วแน่ๆ แต่เราก็คาดหวังให้มีอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่า ความหม่นหมองนี้ได้ไป เปิดเซนส์บางอย่างของเขาในเรื่องของความหวัง ความเข้าใจหรือสัจธรรมบางเรื่อง แล้วก็จะมีอีกกลุ่มที่เราคาดหวังสูงสุด ก็คือกลุ่มที่ตั้งคำถามกับความรักที่เขามีอยู่ ชีวิตที่เขามีอยู่ในปัจจุบัน”

พบกับความสัมพันธ์สุดเรด ใน #RedLife #เรดไลฟ์ วันนี้ในโรงภาพยนตร์

ตัวอย่างภาพยนตร์เวอร์ชัน ‘ถูกทิ้ง’