ปูพรมแดงไปทำไม? ประวัติศาสตร์ชี้ว่าเพื่อต้อนรับ ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ และแสดงออกซึ่งความหรูหรา-มงคล

2 Min
1308 Views
10 Oct 2022

งานประเภทปูพรมแดงหรือ red-carpet event ในความรับรู้ของคนทั่วๆ ไปในยุคศตวรรษที่ 21 น่าจะเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงเทศกาลหรือพิธีการต่างๆที่จัดแบบยิ่งใหญ่และต้องมีคนดังๆมาร่วมงานโดยส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงงานประกาศรางวัลภาพยนตร์และละครของคนบันเทิงในฝั่งตะวันตก

สื่อเก่าแก่อย่าง BBC และ CNN เคยรายงานว่าพรมแดงถูกจับคู่กับงานประกาศรางวัลออสการ์ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 แต่ที่จริงแล้วประวัติความเป็นมาของพรมแดงอาจสืบสาวกลับไปได้ถึงกว่า 2,500 ปีที่แล้ว โดยอ้างถึงบทละครโบราณเกี่ยวกับกษัตริย์อะกาเมนนอน (Agamemnon) ในตำนานเทพปกรณัมกรีกซึ่งได้รับการปูพรมแดงต้อนรับกลับบ้านหลังยกทัพกลับจากตีเมืองทรอย

ส่วนสาเหตุที่พรมแดงเป็นของหรูหราและกลายเป็นธรรมเนียมในการประดับตกแต่งของเหล่ากษัตริย์และคนในรั้วในวังทางฝั่งตะวันตก The New York History รายงานอ้างอิงการบันทึกของนักประวัติศาสตร์ที่สันนิษฐานว่าสมัยโบราณนั้นการย้อมสีแดงทำได้ยากเย็นที่สุด โดยมีหลักฐานย้อนไปถึงศตวรรษที่ 16 ซึ่งบ่งชี้ว่าจักรวรรดิแอซเท็ก (Aztec Empire) มีการสกัดสีแดงจากแมลงโคชินีล (cochineal) ที่อาศัยอยู่ตามต้นกระบองเพชร

กว่าจะจับแมลงและนำมาผ่านกระบวนการต่างๆ ให้กลายเป็นสีแดงเพื่อนำไปใช้กับเส้นใยผ้าหรือวัสดุอื่นๆ เรียกได้ว่าต้องสิ้นเปลืองทั้งเงิน แรงงาน และเวลา สีแดงจึงเป็นสีที่บ่งชี้ถึงความร่ำรวยมีฐานะของผู้ครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าแพรพรรณหรือวัสดุต่างๆ ซึ่งคนในยุคโบราณที่จะมีฐานะและอำนาจถึงขั้นนั้นได้ก็ต้องเป็นระดับผู้ปกครองหรือไม่ก็เชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย

เมื่ออาณาจักรสเปนแผ่ขยายอิทธิพลด้วยการล่าอาณานิคมและการค้า อารยธรรมสีแดงจึงถูกถ่ายทอดไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของโลกไปด้วย เพราะมีการบันทึกว่าเส้นใยและแพรพรรณสีแดงซึ่งย้อมจากแมลงโคชินีลถูกส่งไปขายทั้งในอาณาจักรฝรั่งเศส เวนิส เนเธอแลนด์ จีน เปอร์เซีย และออตโตมัน เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดและบ่งบอกถึงความหรูหรามีระดับของผู้ครอบครองสินค้าเหล่านั้น และในบางวัฒนธรรมก็ถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งสิริมงคลและชีวิตชีวาด้วย

จนกระทั่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดรุ่งเรืองเฟื่องฟูและกลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่สหรัฐอเมริกาส่งออกไปทั่วโลก การจัดพิธีประกาศรางวัลออสการ์จึงได้นำพรมแดงมาปูในงานเพื่อต้อนรับเหล่าดารานักแสดงที่ถูกเปรียบเปรยเป็นราชาราชินีแห่งโลกมายา

แต่การปูพรมแดงที่ฮอลลีวูดครั้งแรกจริงๆ นั้นมีการบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นในปี 1922 ตอนที่จัดฉายภาพยนตร์ Robin Hood รอบปฐมทัศน์ และหนังเรื่องนี้มีดักลาส แฟร์แบงค์ส (Douglas Fairbanks) เป็นผู้แสดงนำ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการปูพรมแดงต้อนรับในงานฉายหนังของคลาร์ก เกเบิล (Clark Gable) และเกรซ เคลลี (Grace Kelly) โดยคนหลังนี้ก็ได้กลายเป็นเจ้าหญิงจริงๆ เพราะแต่งงานกับเจ้าชายแห่งโมนาโก

นอกเหนือจากฮอลลีวูดแล้ว การปูพรมแดงยุคหลังๆ ยังรวมไปถึงการต้อนรับบุคคลสำคัญในงานพิธีการที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศอีกเป็นจำนวนมาก เช่น การปูพรมแดงจากบันไดเครื่องบินทอดยาวมาบนรันเวย์เพื่อให้คนตั้งแถวรอรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนประเทศ

แต่ก็มีหลายครั้งเหมือนกันที่พรมแดงเป็นพื้นที่แสดงออกในประเด็นทางสังคมที่บุคคลสำคัญๆ หรือคนในแวดวงภาพยนตร์ต้องการประท้วงหรือเรียกร้องให้คนหันมาสนใจ โดยเฉพาะในปี 2018 ที่เกิดการรณรงค์ต่อต้านการละเมิดทางเพศในวงการบันเทิงและสถานที่ทำงานต่างๆ ก็มีนักแสดงหลายคนที่ชูป้ายหรือติดเข็มกลัดที่มีคำว่า #MeToo ยืนบนพรมแดงให้สื่อถ่ายภาพไปทำข่าวกันอย่างคับคั่ง

พื้นที่พรมแดงจึงเป็นทั้งการประกาศความหรูหรามีระดับ และการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของคนที่ยืนอยู่บนนั้นได้ด้วยเช่นกัน

อ้างอิง