Real Size Beauty เมื่อความงามในโลกนี้มีรูปร่างแตกต่าง คอนเซ็ปต์จาก แอนชิลี MUT 2021
[อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่นี้พอ]
Real Size Beauty คอนเซ็ปต์ความงามที่ไม่มีรูปร่างตายตัวของ แอนชิลี สก็อต เคมมิส จากชัยชนะใน Miss Universe Thailand 2021 ที่ต้องการสื่อสารว่าทุกคนมีสรีระและความงามของตัวเอง และการผลักคนนอกมาตรฐานออกเป็นการผลักผู้คนสู่ความกดดันและปัญหาเรื้อรังได้
เพราะรูปร่างไม่มีความงามที่ตายตัว และไม่จำเป็นต้องผอมเพรียวเสมอไป
หลังจากแอนชิลี สก็อต เคมมิส ชนะการประกวด Miss Universe Thailand 2021 เรียกได้ว่าเป็นกระเสฮือฮาของสังคมไม่น้อย เพราะเธอมีรูปร่างที่แตกต่างจากผู้เข้าประกวดคนอื่นๆ และผู้ชนะเวทีนี้ที่มักจะผอมเพรียวแบบ ‘มาตรฐานนางงาม’ มาโดยตลอด
ก่อนที่จะเดินสายประกวดสายนางงามแอนชิลี เป็นนางแบบ Curve Size หรือนางแบบที่มีความอวบมากกว่านางแบบทั่วไปมาก่อน และเธอกล่าวว่าภูมิใจกับรูปร่างของตัวเองเสมอ แต่ตลอดช่วยชีวิตแอนชิลีระบุว่าเคยถูกบูลลี่จากคนรอบข้างด้วยคำพูดว่า “สวยแต่อ้วน” และเคยถูกบังคับให้ลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมเพื่อไปแคสต์งานต่างๆ และเธอคิดว่าความคิดแบบนี้ไม่ควรถูกส่งต่อไปอีก
ในการประกวดครั้งนี้จึงทำให้แอนชิลีเสนอแง่มุมเรื่อง ‘Real Size Beauty’ ที่เชื่อว่าไม่ว่าจะมีรูปร่างแบบไหน น้ำหนักเท่าไร จะผอม อวบ หรืออ้วน ก็มีความสวยงามในแบบของตัวเอง เพราะทุกคนมีรูปร่างที่แตกต่างและต้องการให้ทุกคนรักร่างกายของตัวเองไม่ว่าจะเป็นแบบไหน
ในประสบการณ์ชีวิตของเรามักจะพบเป็นการเชื่อมโยงความ ‘สวย’ ไว้กับรูปร่างที่ ‘ผอม’ เสมอ โดยเฉพาะบนหน้าจอสื่อที่นักแสดงส่วนใหญ่ที่ได้รับบทนำมักมีรูปร่างที่ผอมเพรียว หน้าท้องแบนราบ ไม่มีไขมันที่แขนขา จนเป็นมาตรฐานความดีงามของรูปร่างที่กลายเป็น ‘หุ่นในฝัน’ ของใครหลายคน
เพราะในโลกนี้สร้างสรีระร่างกายที่หลากหลาย ความเป็นจริงคือไม่ใช่ทุกคนจะสามารถมีรูปร่างที่เหมือนกันได้ ทำให้เมื่อคนซึ่งมีรูปร่างไม่ตรงกับมาตรฐานความผอมเพรียวถูกกดทับและกดดันจากรอบข้างเพื่อให้สวยแบบในรูปร่างมาตรฐานที่กำหนดไว้
ความกดดันเหล่านี้สร้างปัญหาเรื้อรังให้กับผู้คนมากมาย และมันเกิดขึ้นกับผู้คนในสายนางงามบนเวทีเดียวกันมานับครั้งไม่ถ้วน อแมนด้า ออบดัม เจ้าของมงกุฎ Miss Universe Thailand เมื่อปีก่อน ได้เปิดเผยว่าเธอเคยเป็นโรคคลั่งผอม (Anorexia Nervosa) และโรคล้วงคอ (Bulimia) มีจุดเริ่มต้นมาจากคำพูดของคนรอบข้าง จนทำให้หวาดกลัวความอ้วนและปฏิเสธการกินอาหาร รักตัวเองน้อยลง และไม่เคารพร่างกายของตัวเอง แม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้แต่การเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะหายไปได้ 100% และคำพูดของคนรอบข้างยังอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจอยู่
เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ในโลกตะวันตกเอง การสร้างมาตรฐานความผอมเพรียวผ่านสื่อเกิดขึ้นมายาวนานหลายสิบปี มีนักแสดงจำนวนมากที่ถูกล้อเลียนเรื่องรูปร่าง ถูกสั่งให้ลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร เนื่องจากไม่มีรูปร่าง ‘อย่างที่ควรจะเป็น’
นักแสดงดัง Lilly Collins เคยออกมาต่อต้านการที่สื่อสร้างมาตรฐานให้คนทั่วไปรู้สึกว่า “ต้องผอม” เพราะ เธอเล่าว่าเผชิญหน้ากับคำสั่งลดน้ำหนักมานับครั้งไม่ถ้วน และในขณะที่ผู้คนภายนอกมองว่ามัน “ดูดีมากๆ ” ความจริงรูปร่างนี้แลกมากับลดน้ำหนักอย่างบ้าคลั่ง และเธอมองว่ามันไม่ควรดำเนินต่อไป ไม่ควรมีรูปร่างมดรูปร่างหนึ่งที่เป็นมาตรฐานของความดูดีเพราะทุกคนมีรูปต่างที่แตกต่างกัน
การอับอายในร่างกายของตัวเองสามารถผลักให้ผู้คนเสียความมั่นใจ ไม่กล้าทำอะไรบางอย่าง ไม่กล้าเริ่มความสัมพันธ์กับใครสังคม ไปจนถึงผลักให้คนที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความงามต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อลบความอับอายเหล่านั้นออก จากการศึกษาเมื่อปี 2017 ของสถาบัน NEDA สหรัฐอเมริกา ระบุว่าเด็กวัยรุ่นหญิงกว่า 94% และวัยรุ่นชาย 64% รู้สึกมีปมด้อยเรื่องรูปร่างหน้าตาของตัวเอง
จากการศึกษาของโรงพยาบาลจิตเวชเด็ก Bradley ร่วมกับโรงพยาบาล Butler และสถาบันการแพทย์ Brown ในสหรัฐอเมริกาพบว่าวัยรุ่นที่รู้สึกอับอายกับรูปร่างหน้าตาของตัวเองมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และมีพฤติกรรมฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีปมเรื่องรูปลักษณ์ ในโรควิตกกังวลเกี่ยวกับร่างกาย (BDD) โรคเกี่ยวกับการกิน (ED)
Real Size Beauty คือคอนเซ็ปต์ที่ว่าด้วยความงามที่ไม่มีรูปร่างเป็นมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่ง เพราะผู้คนในโลกมีความหลากหลาย มีสรีระที่แตกต่างกัน และทุกคนมีความสวยในแบบของตัวเอง
อ้างอิง:
- ข่าวสด. ส่องประวัติ ‘แอนชิลี’ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 จากนักกีฬา สู่นางงามเรียลไซซ์. https://bit.ly/3CeMX4y
- มติชน. เปิดชีวิต ‘อแมนด้า’ แง่มุมที่ไม่เคยรู้ เล่าทั้งน้ำตา เคยถูกบูลลี่รูปร่าง จนเป็นโรคคลั่งผอม. https://bit.ly/2ZjxWk4
- Shape. Lily Collins Explains Why We Need to Stop Our Culture’s Obsession with Being “Skinny”. https://bit.ly/2Zg5JtR
- Science Daily. Negative Body Image Related To Depression, Anxiety And Suicidality. https://bit.ly/3faR7C3